เอเอฟพี/รอยเตอร์/เอเจนซีส์ – มีผู้เสียชีวิตไปแล้วไม่ต่ำกว่า 22 คนหลังไซโคลนอัมพันพัดเข้าอินเดียและบังกลาเทศเมื่อวานนี้(20 พ.ค) สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง บ้านเรือนเสียหายจำนวนมาก เมืองโกลกาตา รัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดียได้รับผลกระทบหนักสุดถึงขั้นสนามบินจมน้ำ ส่วนเขตค็อกซ์ บาซาร์ที่ตั้งค่ายผู้อพยพโรฮิงญาในบังกลาเทศเกิดฝนตกหนักและลมพัดแรงจัดแต่ไม่เสียหายหนัก
เอเอฟพีรายงานวันนี้(21 พ.ค)ว่า มีประชาชนหลายล้านคนต้องอยู่โดยไม่มีไฟฟ้าใช้เกิดขึ้นหลังพายุไซโคลนอัมพัน( Cyclone Amphan) ที่ตั้งตามภาษาไทยหมายถึงท้องฟ้า มาพร้อมกับกำลังลม 150 ก.ม/ช.ม พัดเข้าอินเดียและบังกลาเทศ และเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง
เมืองโกลกาตา (Kolkata) ซึ่งเป็นเมืองเอกของรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดียได้รับผลกระทบหนักที่สุด
CNN สื่อสหรัฐฯรายงานว่าสนามบินโกลกาตาเกิดน้ำท่วม สิ่งปลูกสร้างด้านในได้รับความเสียหายรวมไปถึงเครื่องบินลำหนึ่งที่จอดอยู่ด้านใน
ทั้งนี้พบว่าสนามบินแห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในสนามบินที่ยุ่งเหยิงมากที่สุดของประเทศโดยมีผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคนผ่านเข้าออกตั้งแต่เมษายน ปี 2018 ถึงมีนาคม ปี 2019
มุขมนตรีรัฐเบงกอลตะวันตก มามาตา บาเนอร์จี (Mamata Banerjee)กล่าวเมื่อวานนี้(20)ว่า พายุไซโคลนอัมพันทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 12 คนในรัฐรวมไปถึงเด็กผู้หญิงเล็กๆคนหนึ่งที่โฮวราห์(Howrah)หลังผนังบ้านเกิดถล่มทับลงมาภายในบ้านของตัวเอง
เอเอฟพีรายงานว่า ประชาชนในโกลกาตาตื่นเช้ามาพร้อมกับสภาพที่ถนนสายต่างๆภายในเมืองเกิดน้ำท่วม รวมไปถึงรถราที่มีระดับน้ำสูงราวครึ่งกระจกหน้าต่าง
นอกจากนี้มีกระท่อมสร้างด้วยโคลนหลายพันหลังพังราบ ต้นไม้ถูกถอนราก และที่ทำการเกษตรได้รับความเสียหาย
ด้าน เอส.เอ็น ปราดาน(S.N. Pradhan) ผู้อำนวยศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติอินเดียNDRF กล่าวว่า ความเสียหายหนักสุดจากฤทธิพายุเกิดขึ้นที่ 2 เขตภายในรัฐเบงกอลตะวันตก
ด้านบังกลาเทศซึ่งเป็นทางผ่านพายุลูกนี้เช่นกัน เจ้าหน้าที่บังกลาเทศกล่าวว่า ไซโคลนอัมพันทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 10 คน รวมถึงเด็กชายวัย 5 ปีและผู้สูงอายุวัย 75 ปีโดยคนทั้งคู่ตายจากต้นไม้ล้ม และอาสาสมัครกู้ภัยพายุไซโคลนขององค์การกาชาดเสี้ยวแดงบังกลาเทศ 1 รายวัย 57 ปีเกิดจมน้ำเสียชีวิตระหว่างพยายามช่วยเหลือให้ผู้อื่นปลอดภัย
CNN ระบุว่าไซโคลนอัมพันยังทำให้เกิดสตอร์มเสิร์จสูงร่วม 4.5 เมตร ขณะที่เอเอฟพีรายงานว่า อันวาร์ โฮสเซน โฮว์ลาเดอร์(Anwar Hossain Howlader) เจ้าหน้าที่ประจำเขตชายฝั่ง กุลนา(Khulna)ของบังกลาเทศ กล่าวว่าเกิดกำแพงคลื่นน้ำสูง 3 เมตรได้ทำลายสันเขื่อนที่ปกป้องหมู่บ้านทำให้บ้านเรือนในหลายหมู่บ้านต้องจมน้ำ
พบว่าสตอร์มเสิร์จได้ทำลายสันเขื่อนปกป้องตลิ่งไปราว 2 ก.ม ทำให้บ้านเรือน 600 หลังจมน้ำและสร้างความเสียหายให้กับฟาร์มกุ้งและฟาร์มปูของบังกลาเทศ
รอยเตอร์รายงานก่อนหน้าว่า เจ้าหน้าที่ในบังกลาเทศได้ทำการอพยพชาวมุสลิมโรฮิงญาจำนวน 306 คนที่อาศัยอยู่บนเกาะ บาซาน ชาร์ (Bhasan Char island)ที่น้ำท่วมถึงและคาดก่อนหน้าว่าเกาะแห่งนี้จะเป็นหนึ่งในทางผ่านไปอยู่ในศูนย์พักพิงที่ปลอดภัย
ขณะที่เขตค็อกซ์ บาซาร์ (Cox's Bazar) ซึ่งเป็นที่ตั้งค่ายผู้อพยพโรฮิงญาแหล่งใหญ่พบว่าพายุไซโคลนได้ทำให้เกิดฝนตกหนักและลมพัดแรงจัด โดย CNN รายงานว่าไม่พบความเสียหายใหญ่เกิดขึ้นที่ค่ายผู้อพยพโรฮิงญา
ที่บังกลาเทศมีการตั้งศูนย์พักพิงหนีภัยไซโคลนรวม 12,078 แห่งและมีประชาชนกว่า 2 ล้านคนถูกอพยพ และปศุสัตว์อีก 40,000 ตัว