xs
xsm
sm
md
lg

ไซโคลน “อำพัน” ถล่มเอเชียใต้ ตาย 24 ห่วงสุขอนามัยที่ตึงมือจาก “โควิด” อยู่แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เครื่องบินลำหนึ่งจอดอยู่ท่ามกลางกองปรักหักพังของโรงเก็บที่พังครืนลงมา ณ ท่าอากาศยานนานาชาติเนตาจี สุภาส จันทรา โบส ของเมืองโกลกาตา (กัลกัตตา) ในวันพฤหัสบดี (21 พ.ค.) ทั้งนี้ เกิดน้ำท่วมท้นสนามบินแห่งนี้ รวมทั้งบ้านเรือนและถนนหนทาง เมื่อพายุไซโคลน “อำพัน” พัดถล่มใส่อินเดียและบังกลาเทศ
เอเจนซีส์ - พายุไซโคลน “อำพัน” ถล่มชายฝั่งที่มีประชาชนหนาแน่นของอินเดีย และ บังกลาเทศ ส่งผลให้บ้านเรือนมากมายได้รับความเสียหาย ระบบสาธารณูปโภค และการสื่อสารถูกตัดขาดในหลายพื้นที่ และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 24 คน ขณะที่ในสหรัฐฯ ผู้ว่าการรัฐมิชิแกน เตือนประชาชนพร้อมรับมือน้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์ หลังเขื่อนแตกไป 2 เขื่อนก่อนหน้านี้

แม้ไซโคลนอำพันอ่อนกำลังลงหลังขึ้นฝั่งเมื่อค่ำวันพุธ (20) ท่ามกลางการอพยพประชาชนครั้งใหญ่จำนวนเรือนล้าน แต่เจ้าหน้าที่เตือนว่า ภารกิจในการบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟูบูรณะอาจยากยิ่งขึ้น เนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนาที่ทำให้ระบบสุขอนามัยต้องรับภาระล้นมืออยู่แล้ว

รายงานที่ออกมาเมื่อวันพฤหัสบดี (21) ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ราบลุ่มของบังกลาเทศ 10 คน ส่วนที่อินเดียมี 12 คนในรัฐเบงกอลตะวันตก และ 2 คนในรัฐโอดิชาในอ่าวเบงกอล โดยสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ ผนังอาคาร หรือต้นไม้ล้มทับ และจมน้ำ

ไซโคลนอำพันที่มีความรุนแรงเทียบเท่าเฮอริเคนระดับ 3 พัดเข้าถล่มชายฝั่งด้วยความเร็วลมสูงสุด 190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อวันพุธ และแม้อ่อนกำลังลงขณะเคลื่อนเข้าสู่บังกลาเทศ แต่บริเวณที่มีประชาชนหนาแน่นในเบงกอลใต้ต้องเผชิญคลื่นพายุซัดฝั่งที่ซัดน้ำทะเลขึ้นฝั่งไกลถึง 25 กิโลเมตร และทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายเมืองรวมถึงโกลกาตา (กัลกัตตา) เมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตก ซึ่งมีรายงานระบุว่า อาคารเก่าแก่อายุหลายร้อยปีของเมืองนี้หลายแห่งได้รับความเสียหายอย่างหนัก

หลายพื้นที่ในโกลกาตาไม่มีไฟฟ้าใช้ และไม่สามารถใช้โทรศัพท์ได้ตั้งแต่ช่วงค่ำวันพุธ

หน่วยงานอุตุนิยมวิทยาของอินเดียคาดการณ์ว่า จะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของรัฐเบงกอลตะวันตกในสัปดาห์หน้า รวมทั้งคาดว่า ไซโคลนจะส่งผลต่อกระแสลมประจำถิ่น และทำให้เกิดคลื่นร้อนในหลายพื้นที่ของประเทศ

มามาตา บาเนอร์จี มุขมนตรีรัฐเบงกอลตะวันตก แถลงเมื่อคืนวันพุธ ว่า ไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ในทันที และเสริมว่า หมู่เกาะทั้งหมดถูกตัดขาดจากแผ่นดินใหญ่ ซึ่งรวมถึงชุมชนที่อาศัยอยู่ในสุนทรพนา ซึ่งเป็นหนึ่งในป่าชายเลนใหญ่ที่สุดในโลก

บาเนอร์จีสำทับว่า เบงกอลตะวันตกกำลังเผชิญ 3 วิกฤตสำคัญ ได้แก่ ไวรัสโคโรนา การที่ประชาชนหลายพันคนเพิ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา และไซโคลน


สำหรับที่บังกลาเทศ กระทรวงพลังงาน เผยว่า ประชาชนอย่างน้อย 1 ล้านคน ไม่มีไฟฟ้าใช้ นอกจากนั้น ยังมีรายงานว่า หมู่บ้านหลายร้อยแห่งจมน้ำจากคลื่นพายุซัดฝั่ง และพนังป้องกันน้ำท่วมกว่าสิบแห่งแตก

ขณะเดียวกัน ในอีกฟากหนึ่งของโลก นั่นคือ ที่รัฐมิชิแกนของอเมริกา ประชาชนกว่า 10,000 คน อพยพออกจากบ้านเมื่อวันพุธหลังฝนตกหนักและทำให้เขื่อนสองแห่งแตก

เกรตเชน วิตเมอร์ ผู้ว่าการรัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเทศมณฑลมิดแลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งเขื่อนที่แตกที่อยู่ในเมืองอีเดนวิลล์ และเมืองแซนฟอร์ด

สำนักงานบริการสภาพอากาศแห่งชาติของอเมริกา เตือนว่า อาจมีน้ำท่วมฉับพลัน และร่วมกับวิตเมอร์เรียกร้องให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงอพยพไปยังที่สูงทันที

ด้านวิตเมอร์เตือนว่า ย่านกลางเมืองของมิดแลนด์ที่มีประชาชนราว 42,000 คน อาจเผชิญน้ำท่วมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 3 เมตร

ทางการมิดแลนด์ระบุผ่านเว็บไซต์ ว่า มีประชาชนอพยพออกมาแล้ว 11,000 คน และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต นอกจากนั้น ยังเผยว่า แม่น้ำทิททาบาวาสซีที่ไหลผ่านมิดแลนด์ขึ้นสูงถึงระดับ 35 ฟุต ซึ่งถือว่า สูงกว่าระดับน้ำท่วม และสูงกว่าระดับที่บันทึกได้ก่อนหน้านี้ในปี 1986 ราว 30 เซนติเมตร รวมทั้งคาดว่า ระดับน้ำในแม่น้ำสายนี้จะสูงขึ้นอีก 90 เซนติเมตร

ผู้ว่าการรัฐมิชิแกนสำทับว่า รัฐกำลังเผชิญวิกฤตโรคระบาดใหญ่ในช่วง 100 ปี และน้ำท่วมครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 500 ปี พร้อมเรียกร้องให้ประชนที่อพยพไปยังศูนย์หลบภัยสวมหน้ากากและเว้นระยะห่างทางสังคมหากทำได้


กำลังโหลดความคิดเห็น