xs
xsm
sm
md
lg

บราซิลสาหัสยอดตายวันเดียวเกิน 1,000 ละตินอเมริกาเข้าสู่สถานการณ์เลวร้ายสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - บราซิลทำสถิติผู้เสียชีวิตรายวันสูงสุดเมื่อวันอังคาร (19 พ.ค.) ขณะที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในละตินอเมริกาเข้าสู่ช่วงเลวร้ายที่สุด ที่อันตรายไม่แพ้กัน คือ อินเดียและบังกลาเทศ ที่ต้องเร่งอพยพประชาชนหนีพายุโซโคลนที่มีแนวโน้มรุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรนาไปพร้อมกัน

ไวรัสโคโรนาที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว มียอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกในเวลานี้ทะลุ 5 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 320,000 คนนั้น กำลังทำลายเศรษฐกิจโลกย่อยยับ มิหนำซ้ำยังคาดว่า สถานการณ์เลวร้ายที่สุดกำลังจะบังเกิดกับประเทศที่ยากจนที่สุด

สัญญาณเตือนภัยดังขึ้นในวันอังคาร เมื่อบราซิลรายงานยอดผู้เสียชีวิตรายวันจากโควิด-19 เกิน 1,000 คนเป็นครั้งแรก ถึงกระนั้น ประธานาธิบดี จาอีร์ โบลโซนาโร ยังคงต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์โดยโจมตีว่า ไม่จำเป็นสำหรับการรับมือ “ไข้หวัดเล็กๆ น้อยๆ” ขณะที่ประชาชนบางคนระบุว่า สถานการณ์เลวร้ายลงทุกทีเพราะรัฐบาลไร้ความสามารถ แถมประชาชนจำนวนมากยังเพิกเฉยต่อกฎควบคุมการระบาด

ปัจจุบัน บราซิลมียอดผู้ติดเชื้อสูงสุดอันดับ 6 ของโลก รองจากอเมริกาและรัสเซีย และคาดว่า ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงต้นเดือนหน้า

ไวรัสโคโรนาทำให้บางพื้นที่ในละตินอเมริกายังไม่สามารถปลดล็อกได้ โดยคอร์โดบา เมืองใหญ่อันดับ 2 ของอาร์เจนตินาต้องระงับแผนผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก

เดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลก เตือนเมื่อวันอังคารว่า ประชากร 60 ล้านคน อาจถูกโรคระบาดผลักเข้าสู่สถานะความยากจนสุดขีด

ชิลีเป็นประเทศหนึ่งที่ต้องแบกรับความกดดันทางเศรษฐกิจหนักขึ้น นอกจากพบผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลยังต้องส่งทหารควบคุมสถานการณ์ในกรุงซานติเอโก หลังเกิดเหตุปะทะระหว่างตำรวจปราบจลาจลกับผู้ประท้วงที่โกรธแค้นจากปัญหาอาหารขาดแคลนและตกงาน

ที่เอเชียใต้ เจ้าหน้าที่กำลังเร่งเคลื่อนย้ายประชาชนหนีพายุโซโคลนที่มีแนวโน้มรุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษในบริเวณอ่าวเบงกอลทางตะวันออกของอินเดีย และบังกลาเทศที่มีประชาชนอาศัยอยู่หลายล้านคน ควบคู่กับการป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรนา

ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลก (ฮู) ตกลงเปิดการสอบสวนอิสระเกี่ยวกับการจัดการโรคระบาดหลังถูกอเมริกาโจมตีอย่างหนัก

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ยกเลิกการให้เงินสนับสนุนฮูเป็นการถาวร โดยกล่าวหาว่า องค์กรในสังกัดสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แห่งนี้ทำตัวเป็นหุ่นเชิดช่วยจีนปกปิดสถานการณ์การระบาดในช่วงแรก

ด้านปักกิ่งปฏิเสธข้อกล่าวหาและตอกกลับว่า วอชิงตันพยายามปัดความรับผิดชอบและต่อรองเกี่ยวกับภาระหน้าที่ระหว่างประเทศของตัวเองในฮู

รัสเซียประณามคำขู่ของทรัมป์เช่นเดียวกัน ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) สนับสนุนฮูโดยระบุว่า ไม่ใช่เวลาจะมากล่าวหากัน

ความขัดแย้งดังกล่าวบ่อนทำลายความพยายามในการประสานความร่วมมือเพื่อต่อสู้กับโรคระบาด แต่ทรัมป์ยังพยายามที่จะสืบสาวที่มาของไวรัส รวมทั้งพุ่งเป้าโจมตีจีนและฮู ขณะที่ตัวเองกำลังถูกกดดันอย่างหนักภายในประเทศให้หาทางออกจากวิกฤต

อเมริกาเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุดในโลกคือ กว่า 1.5 ล้านคน และเกือบ 92,000 คนตามลำดับ ประชาชนจำนวนมากเบื่อหน่ายกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ทำลายเศรษฐกิจของประเทศยับเยิน อีกทั้งทำให้คนตกงานหลายสิบล้าน

ทรัมป์กระตือรือร้นที่จะยุติมาตรการจำกัดต่างๆ เนื่องจากใกล้ถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลัง เตือนว่า เศรษฐกิจอเมริกาเสี่ยงเสียหายถาวรหากยังคงบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ต่อไป

นับจากที่โรคระบาดนี้อุบัติขึ้นในจีนเมื่อปลายปีที่แล้ว การดำเนินชีวิตและธุรกิจทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง เมืองที่เคยอึกทึกวุ่นวายกลับเงียบสงบและทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน

เมื่อวันอังคาร ริชาร์ด เบตส์ หัวหน้าทีมนักวิจัยผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของศูนย์เม็ต ออฟฟิศ แฮดลีย์ ของอังกฤษรายงานว่า การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลมีแนวโน้มลดลงถึง 7% ในปีนี้ เนื่องจากโรคระบาด และถือเป็นการลดลงมากที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 กระนั้น ตัวเลขนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนั้น ขณะที่เอเชียเริ่มประเมินความเสียหายจากโรคระบาด บางประเทศตระหนักถึงประโยชน์ที่ไม่คาดคิด แม้เศรษฐกิจได้รับความเสียหายหนักกว่าก็ตาม ตัวอย่างเช่น เวียดนามที่มีสถิติอาชญากรรมลดลงในช่วงล็อกดาวน์ ส่วนฮ่องกงพบว่า ฤดูไข้หวัดใหญ่ประจำปีสิ้นสุดก่อนกำหนด และไทยมีความปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้นจากสถิติอุบัติเหตุที่ลดลงอย่างมากอันเนื่องมาจากมาตรการป้องกันการระบาด เช่น การงดขายเหล้าก่อนหน้านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น