ซีเอ็นเอ็น/รอยเตอร์ - กลุ่มผู้สนับสนุนออกมาชุมนุมให้กำลังใจประธานาธิบดีบราซิล และคัดค้านมาตรการเข้มงวดต่างๆ ที่แต่ละรัฐใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แม้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมพุ่งขึ้นไปรั้งอันดับ 4 ของโลก และมีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 16,000 ศพ
ที่เมืองเซาเปาลู พบเห็นกลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดี ชาอีร์ โบลโซนาโร ต่างออกมาชุมนุมประท้วงตามท้องถนน คัดค้านมาตรการเข้มงวดต่างๆ ที่แต่ละรัฐใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และเรียกร้องให้ผู้ว่าการรัฐเซาเปาลูลาออก
ส่วนในกรุงบราซิเลีย วิดีโอที่โพสต์บนบัญชีสื่อสังคมออนไลน์อย่างเป็นทางการของโบลโซนาโร พบเห็นเขาออกมาโบกมือทักทายต้อนรับเหล่าผู้ประสนับสนุน ที่มารวมตัวกันให้กำลังประธานาธิบดีรายนี้และรัฐบาล บริเวณด้านนอกทำเนียบประธานาธิบดี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อแนวทางรับมือวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ประเทศแห่งนี้กำลังกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งใหม่
ภาพในวิดีโอพบเห็นผู้นำฝ่ายขวาจัดผู้นี้และรัฐมนตรีหลายคนของแดนแซมบาฝ่าฝืนมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างเข้าร่วมการชุมนุมในกรุงบราซิเลีย และประกาศกับผู้สนับสนุนว่า มาตรการจำกัดเพื่อควบคุมการระบาดเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ
ในวิดีโอที่โพสต์ลงบนเพจยูทูปของโบลโซนาโร พบเห็นเขาสวมหน้ากากอนามัย และสมาชิกในคณะรัฐมนตรีอย่างน้อย 4 คน เดินไปทักทายฝูงชนในระยะใกล้ ระหว่างนั้น โบลโซนาโร ยังจับไม้จับมือผู้สนับสนุน หรือแม้กระทั่งอุ้มเด็กหลายๆ คน
โบลโซนาโร กล่าวกับสื่อมวลชนระหว่างการชุมนุม ว่า “มันน่าปลื้มใจมาก เป็นเกียรติสำหรับผมและคณะรัฐมนตรีของผม ที่ได้รับแรงสนับสนุนเยี่ยงนี้ เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของบราซิล แม้วิกฤตนี้ส่งผลกระทบต่อทั่วโลก”
การชุมนุมสนับสนุนประธานาธิบดี มีขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจาก บรูโน โควาส นายกเทศมนตรีเซาเปาลู เตือนว่า ระบบสาธารณสุขของเซาเปาลูกำลังอยู่บนขอบเหวแห่งการพักครืน สืบเนื่องจากโรคระบาดใหญ่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
จนถึงตอนนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขบราซิล รายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้วอย่างน้อย 241,080 คน ในนั้นเสียชีวิต 16,118 คน ส่งผลให้ประเทศแห่งนี้กลายเป็นชาติที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แซงหน้าทั้งสเปนและอิตาลี
ความเคลื่อนไหวสนับสนุนประธานาธิบดีมีขึ้น แม้ผลสำรวจความคิดเห็นหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ พบว่า ชาวบราซิล 2 ใน 3 เห็นพ้องว่าจำเป็นต้องใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อสกัดการแพร่ระบาด ซึ่งเหล่าผู้ว่าการรัฐต่างๆ และพวกผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขออกคำแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตาม แต่ทาง โบลโซนาโร ไม่เห็นด้วย โดยอ้างว่ามาตรการล็อกดาวน์ทำให้เศรษฐกิจบราซิลเสียหายโดยไม่จำเป็น