หมอใหญ่ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดของสหรัฐฯ ออกมาเตือนในสัปดาห์นี้ว่าการยุติล็อกดาวน์เร็วเกินไปอาจทำให้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ‘โควิด-19’ กลับมาระบาดหนักยิ่งกว่าเก่า และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ร้ายแรง ขณะที่รัสเซียมีผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ส่วนเอเชียเริ่มปรากฏสัญญาณอันตรายเมื่อเกาหลีใต้และจีนกลับมามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากการที่รัฐผ่อนปรนข้อจำกัดต่างๆ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ
จากฐานข้อมูลมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์เมื่อเช้าวันที่ 14 พ.ค. ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 4.34 ล้านคน โดยสหรัฐอเมริกายังเป็นเบอร์หนึ่งด้วยตัวเลขสะสมเกือบ 1.4 ล้านคน ในขณะที่แดนหมีขาวขยับแซงขึ้นมาเป็นที่ 2 ของโลกด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 242,000 คน ตามมาด้วยอังกฤษ (230,986), สเปน (228,691), อิตาลี (222,104) และบราซิล (190,137)
ขณะที่หลายประเทศเริ่มทยอยผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ แบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อฟื้นเศรษฐกิจที่หยุดชะงักจากพิษโควิด-19 ควบคู่ไปกับการป้องกันไม่ให้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับการระบาดระลอก 2 ของไวรัสโคโรนาก็ได้รับการตอกย้ำ หลังมีการพบผู้ติดเชื้อใหม่ในเมืองอู่ฮั่นและที่มณฑลจี๋หลินทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ส่วนที่เกาหลีใต้ก็มีเคสผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 1 เดือน
อู่ฮั่นซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการระบาดของไวรัสโคโรนาเมื่อปลายปีที่แล้ว มีแผนปูพรมตรวจประชาชนทั้ง 11 ล้านคน หลังพบผู้ติดเชื้อใหม่เป็นครั้งแรกในรอบหลายสัปดาห์ โดนเจ้าหน้าที่ระบุว่าผู้ป่วยใหม่ทั้งหมดอยู่ในอาคารที่พักอาศัยแห่งเดียวกัน และส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย
ทางด้านเมืองจี๋หลิน (Jilin) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของมณฑลในชื่อเดียวกันได้ประกาศปิดพรมแดนและเส้นทางคมนาคมต่างๆ บางส่วนในวันพุธ (13) หลังพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนที่เขตซูหลาน (Shulan) ซึ่งเชื่อมโยงกับพนักงานซักรีดหญิงรายหนึ่ง โดยรองนายกเทศมนตรีเมืองจี๋หลินยอมรับว่า สถานการณ์ “เข้าขั้นร้ายแรงและซับซ้อน” และมีโอกาสที่เชื้อไวรัส “จะแพร่กระจายเป็นวงกว้าง”
เกาหลีใต้ได้สั่งปิดผับและบาร์หลายพันแห่งทั้งในพื้นที่กรุงโซล, จังหวัดกยองงี และเมืองอินชอน หลังพบการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนจากผับในย่านอิแทวอน (Itaewon) แหล่งบันเทิงยามค่ำคืนชื่อดังของกรุงโซล ระหว่างที่ภาครัฐตัดสินใจผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์
แดนโสมขาวถูกยกให้เป็นหนึ่งใน ‘ต้นแบบ’ ของโลกในด้านการควบคุมโควิด-19 โดยพบผู้ติดเชื้อรายวันต่ำกว่า 15 คนมาตั้งแต่กลางเดือน เม.ย. และมีบางวันที่ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศลดลงเป็นศูนย์ ทว่าตัวเลขเริ่มขยับขึ้นเป็น 18 และ 34 รายในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และในวันจันทร์ (11) พบผู้ติดเชื้อใหม่ถึง 35 รายซึ่งเป็นสถิติสูงที่สุดในรอบเดือน
ต้นตอการระบาดแบบกลุ่มคราวนี้เกิดจากหนุ่มวัย 29 ปีที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ตระเวนเที่ยวคลับและบาร์หลายแห่งในย่านอิแทวอนเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ซึ่งในขณะนั้นคาดว่ามีประชาชนกว่า 1,500 คนที่กินดื่มอยู่ในพื้นที่เดียวกับผู้ติดเชื้อรายนี้
ชายคนดังกล่าวมีผลตรวจไวรัสเป็นบวกในวันที่ 6 พ.ค. ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
จากข้อมูลในวันที่ 13 พ.ค. เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เชื่อมโยงกับผับย่านอิแทวอนแล้วไม่ต่ำกว่า 119 ราย ในจำนวนนี้มีอยู่ 11 รายที่เป็นวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 19 ปี
คิม กังลิป รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ ยืนยันว่ารัฐบาลยังไม่มีแผนฟื้นคำสั่งเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มงวด ตราบใดที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันยังคงไม่เกิน 50 ราย และเจ้าหน้าที่ยังสามารถติดตามการแพร่เชื้อได้ถึง 95%
ในส่วนของสหรัฐฯ สถานการณ์การระบาดที่รัฐนิวยอร์กเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และยอดผู้เสียชีวิตรายวันทั่วประเทศก็ค่อยๆ ลดลงในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะยังอยู่ในระดับที่น่ากังวล
ทำเนียบขาวได้ออกกฎใหม่ในวันจันทร์ (11) ให้เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยขณะเข้าไปยังปีกตะวันตก (West Wing) ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลว่า ทรัมป์ หรือ รองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ อาจจะตกเป็นเหยื่อไวรัสมรณะ หลังมีเจ้าหน้าที่ทำเนียบ 2 คนได้รับการยืนยันว่าติดโควิด-19
ทรัมป์ ซึ่งอายุ 73 ปี จัดเป็นผู้สูงวัยที่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหากติดเชื้อโควิด-19 ทว่าตัวเขาเองกลับต่อต้านการสวมหน้ากากอนามัย และไม่เคยใส่มันขณะอยู่ในที่สาธารณะ
ทำเนียบขาวพยายามลดความเสี่ยงด้วยการตรวจเข้มบุคคลที่จะเข้าใกล้ชิดผู้นำสหรัฐฯ และรองประธานาธิบดี และว่ากันว่าทั้ง ทรัมป์ และ เพนซ์ ต่างเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบวันต่อวัน
สัปดาห์ที่แล้ว ทรัมป์ ได้ออกมาสร้างความลำบากใจแก่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขอีกครั้งด้วยการพูดว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจ “หายไปเอง” ได้ แม้จะยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
“มีไวรัสหรือไข้หวัดบางชนิดที่เกิดขึ้นมา ซึ่งทำให้แพทย์ต้องคิดค้นวัคซีน และในขณะที่พวกเขายังผลิตวัคซีนไม่สำเร็จ แต่ไวรัสพวกนั้นหายไปแล้ว ไม่ปรากฏขึ้นอีกเลย พวกมันก็ตายได้เหมือนกับทุกๆ สิ่งนั่นแหละ” ทรัมป์ กล่าวเมื่อวันที่ 8 พ.ค. “พวกเขา (หมอ) บอกว่ามันจะหายไปในที่สุด ซึ่งไม่ได้หมายถึงปีนี้ ไม่ได้แปลว่ามันจะหายไปช่วงก่อนหรือหลังฤดูใบไม้ร่วง แต่ท้ายที่สุดมันก็ต้องหมดไป คำถามก็คือเราต้องการวัคซีนหรือไม่ บางทีมันก็หายไปได้เอง แต่ถ้าเรามีวัคซีนก็จะช่วยได้มาก”
มุมมองของ ทรัมป์ สวนทางกับคำยืนยันของ นพ. แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ ซึ่งยืนยันว่าการระบาดของโควิด-19 จะยังไม่สิ้นสุดจนกว่าโลกจะคิดค้นวัคซีนได้สำเร็จ
ล่าสุด นพ. เฟาซี ซึ่งเป็นผู้นำทีมเฉพาะกิจรับมือไวรัสโคโรนาของทำเนียบขาวยังบอกกับคณะกรรมาธิการวุฒิสภาเมื่อวันอังคาร (12) ว่า การรีบร้อนยุติล็อกดาวน์เพื่อเปิดเศรษฐกิจตามไอเดียของ ทรัมป์ จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ร้ายแรง
เฟาซี ย้ำว่า การมีผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงต่อเนื่อง 14 วันเป็นก้าวแรกที่สำคัญ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางได้จัดทำคำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางที่จะให้กิจกรรมต่างๆ กลับมาเคลื่อนไหวได้อย่างปลอดภัย ซึ่งหากชุมชน, รัฐ หรือภูมิภาคใดไม่ทำตามกรอบคำแนะนำนี้ ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดซ้ำ “ชนิดที่ไม่สามารถควบคุมได้”
ขณะเดียวกัน อดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ซึ่งเฟดตัวออกจากแวดวงการเมืองสหรัฐฯ ไปพักใหญ่ก็เปิดฉากวิจารณ์การรับมือโควิด-19 ของ ทรัมป์ ว่าเป็น “ความวิบัติหายนะที่สุดแสนจะวุ่นวาย” (absolute chaotic disaster) ระหว่างพูดคุยทางออนไลน์กับอดีตคณะบริหารของเขาเองเมื่อคืนวันศุกร์ที่ 8 พ.ค.
โอบามา ชี้ว่ารัฐบาล ทรัมป์ มีแต่ความ “เห็นแก่ตัว, เอาผลประโยชน์พวกพ้องเป็นที่ตั้ง, สร้างความแตกแยก และมองคนอื่นเป็นศัตรู” อยู่ตลอดเวลา พร้อมกันนั้นก็เรียกร้องให้อดีตทีมงานของตนช่วยกันสนับสนุน โจ ไบเดน ผู้สมัครเต็งหนึ่งของเดโมแครตที่จะลงชิงบัลลังก์ทำเนียบขาวแข่งกับกับ ทรัมป์ ในช่วงต้นเดือน พ.ย. นี้
คำวิจารณ์ของอดีตผู้นำสหรัฐฯ มีขึ้น หลังมีการเผยแพร่ผลสำรวจของ Yahoo News/YouGov ซึ่งระบุว่าชาวอเมริกันเกือบๆ ครึ่งเชื่อว่า โอบามา น่าจะรับมือโควิด-19 ได้ดีกว่า ทรัมป์
ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียตัดสินใจเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ในขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมพุ่งทะลุ 242,000 คน ขึ้นแท่นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และพบผู้ติดเชื้อใหม่วันละกว่า 10,000 คนมาหนึ่งสัปดาห์เต็ม ทว่าในส่วนของผู้เสียชีวิตนั้นยังอยู่ที่ราวๆ 2,200 คน ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับศูนย์กลางการระบาดแห่งอื่นๆ ในยุโรป
ด้านบราซิลมียอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 190,137 รายในวันพฤหัสบดี (14) ขยับขึ้นที่ 6 ของโลกแซงหน้าฝรั่งฌศส และมียอดผู้เสียชีวิตรวมอยู่ที่ 13,240 คน ถึงกระนั้นประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู ยังคงดึงดันปฏิเสธมาตรการล็อกดาวน์ และบีบบังคับให้รัฐต่างๆ ยอมเปิดสถานออกกำลังกายและพวกร้านเสริมสวยอีกครั้ง
ส่วนที่อินเดีย นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 270,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเริ่มฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับเครือข่ายรถไฟขนาดใหญ่ที่กลับมาเปิดให้บริการ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วประเทศพุ่งสูงถึง 78,055 คน เสียชีวิต 2,551 คน
ในส่วนของภูมิภาคอาเซียน สิงคโปร์ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุด 25,346 คนตามข้อมูลในวันพุธ (13) รองลงมาได้แก่ อินโดนีเซีย (15,438), ฟิลิปปินส์ (11,618), มาเลเซีย (6,779), ไทย (3,017), เวียดนาม (288), พม่า (180), บรูไน (141), กัมพูชา (122) และลาว (19)
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยตอนนี้จัดว่ามีแนวโน้มที่ดี โดยพบผู้ติดเชื้อใหม่ต่ำกว่า 10 คนต่อเนื่องหลายวัน และในวันที่ 13 พ.ค. ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ลดลงเป็นศูนย์ และไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม การที่ภาครัฐเริ่มผ่อนปรนข้อจำกัดเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการดำเนินชีวิตประจำวันก็ส่งผลให้มีผู้ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น และบางคนขาดความระมัดระวังตนเอง ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลว่าเชื้ออาจกลับมาระบาดหนักเป็นครั้งที่สอง
ขณะเดียวกันมีความพยายามศึกษาเปรียบเทียบสถานการณ์โควิด-19 กับการระบาดทั่วโลกของ ‘ไข้หวัดใหญ่สเปน’ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส H5N1 Influenza A ในช่วงระหว่างฤดูใบไม้ผลิปี 1918 จนถึงต้นฤดูร้อนของปี 2019 โดยเริ่มพบผู้ป่วยรายแรกๆ ในเดือน มี.ค. ปี 1918 ที่ค่ายทหารฟันสตันส์ (Funstons) เมืองแคนซัส สหรัฐอเมริกา ก่อนที่เชื้อจะแพร่กระจายไปยังยุโรปพร้อมๆ กับการเดินทางไปถึงของทหารอเมริกัน ซึ่งการเคลื่อนกำลังพลจำนวนมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 กลายเป็นเป็นตัวเร่งให้เกิดการระบาดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่สเปนทำให้มีผู้ติดเชื้อมากถึง 500 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลกในเวลานั้น และคาดว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่าง 17-50 ล้านคน หรืออาจมากถึง 100 ล้านคน ซึ่งทำให้ไข้หวัดใหญ่สเปนถูกจัดเป็นหนึ่งในโรคระบาดร้ายแรงที่มีผู้เสียชีวิตมากสุดในประวัติศาสตร์
การระบาดได้เกิดขึ้นทั้งหมด 3 ระลอก โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในการระบาดระลอกที่ 2 เนื่องจากประชาชนเบื่อหน่ายมาตรการการกักตัวและออกจากบ้านมาใช้ชีวิตกันตามปกติ