เอเอฟพี - เกิดอุบัติเหตุแก๊สรั่วที่โรงงานสารเคมีแห่งหนึ่งริมชายฝั่งภาคตะวันออกของอินเดีย วันนี้ (7 พ.ค.) เบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 5 คน และมีชาวบ้านบาดเจ็บถูกนำส่งโรงพยาบาลอีกไม่ต่ำกว่า 1,000 คน
ตำรวจอินเดียเปิดเผยว่า แก๊สได้รั่วไหลออกมาจากถังเก็บขนาด 5,000 ตัน จำนวน 2 ถัง ซึ่งไม่มีพนักงานดูแล เนื่องจากรัฐบาลอินเดียได้ประกาศคำสั่งล็อคดาวน์ตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.
“เรายืนยันได้ในขณะนี้ว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย และจะยืนยันตัวเลขเพิ่มเติมในภายหลัง มีผู้บาดเจ็บไม่ได้สติอยู่โรงพยาบาลอย่างน้อย 70 คน และโดยรวมมีประชาชนในพื้นที่ราว 200-500 คนที่ถูกนำส่งโรงพยาบาล” สวารูป รานี เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงในเมืองวิสาขปัตนัม (Visakhapatnam) ระบุ
ล่าสุด มีรายงานจากเจ้าหน้าที่ออกมาว่ายอดผู้บาดเจ็บที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลในขณะนี้พุ่งสูงกว่า 1,000 คน
โรงงานเคมีแห่งนี้เป็นของบริษัท แอลจี พอลีเมอร์ส (LG Polymers) ตั้งอยู่ที่ชานเมืองวิสาขปัตนัมซึ่งเป็นเมืองท่าอุตสาหกรรมของรัฐอานธรประเทศ
เมืองแห่งนี้มีประชากรอยู่อาศัยทั้งในตัวเมืองและพื้นที่โดยรอบประมาณ 5 ล้านคน
รานี บอกกับเอเอฟพีว่า “ถังแก๊สถูกปล่อยทิ้งเอาไว้เฉยๆ โดยไม่มีคนดูแลในช่วงล็อคดาวน์ เป็นเหตุให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีและความร้อนสะสม แก๊สจึงรั่วไหลออกมา”
“เราได้รับแจ้งเหตุฉุกเฉินจากคนในพื้นที่เมื่อเวลาประมาณ 03.30 น. เช้าวันนี้ พวกเขาบอกว่าได้กลิ่นแก๊สเหม็นคลุ้งไปหมด”
“เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบที่จุดเกิดเหตุทันที และได้กลิ่นแก๊สในอากาศจนไม่มีใครสามารถทนอยู่ได้นานเกิน 2-3 นาที หน่วยกู้ภัยเริ่มมาถึงในเวลาประมาณ 04.00 น.”
ก่อนหน้านี้ เคยเกิดเหตุการณ์แก๊สรั่วที่โรงงานผลิตยาฆ่าแมลงของบริษัท ยูเนียน คาร์ไบด์ ที่เมืองโภปาล (Bhopal) เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ปี 1984 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 3,500 คน ในระยะเวลาเพียง 2-3 วัน ขณะที่อีกหลายพันคนล้มตายลงในช่วงปีถัดๆ มา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุบัติเหตุทางอุตสาหกรรมครั้งเลวร้ายที่สุดอินเดียเคยเผชิญ
สถิติของรัฐบาลอินเดียระบุว่า มีประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้โรงงาน ยูเนียน คาร์ไบด์ ป่วยเรื้อรังอีกอย่างน้อย 100,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ, โรคไต, ฮอร์โมนผิดปกติ, โรคทางจิตเวช และมะเร็งอีกหลายชนิด
คนอินเดียรุ่นหลังๆ ที่เกิดมายังมีอาการป่วยเนื่องจากบริโภคน้ำใต้ดินที่ปนเปื้อนสารพิษ และยังดื่มนมจากมารดาที่มีสารพิษปนเปื้อนตั้งแต่เกิด
ทุกวันนี้ยังคงมีเด็กอินเดียที่เกิดมารูปนิ้วมือและนิ้วเท้าติดกัน (webbed hands and feet), ภูมิคุ้มกันต่ำ, ร่างกายแคระแกร็น รวมถึงความพิการแต่กำเนิดอื่นๆ อันเกิดจากแก๊สพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมารดา