ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรสายพันธุ์ใหม่ ‘โควิด-19’ ทั่วโลกพุ่งเกิน 3 ล้านคนในสัปดาห์นี้ โดยสหรัฐฯ ยังครองอันดับ 1 ด้วยจำนวนผู้ป่วยสะสมทะลุหลัก 1 ล้านคน ยอดดับพุ่งแซงสถิติคนตายในสงครามเวียดนาม ขณะที่แพทย์-พยาบาลอเมริกันฮึดสู้ขวางผู้ชุมนุมต้านล็อคดาวน์ กร้าวไม่มีสิทธิ์เอาชีวิตคนอื่นไปเสี่ยง
จากฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์เมื่อช่วงสายของวันที่ 30 เม.ย. ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 3.2 ล้านราย เสียชีวิตแล้ว 227,535 ราย เฉพาะสหรัฐอเมริกาชาติเดียวมีผู้ติดเชื้อกว่า 1,038,000 ราย ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นกว่า 61,000 ราย แซงหน้าจำนวนชาวอเมริกัน 58,220 รายที่เสียชีวิตระหว่างสงครามเวียดนามซึ่งสิ้นสุดในปี 1975
โควิด-19 ยังคร่าชีวิตประชากรสหรัฐฯ มากกว่าไข้หวัดตามฤดูกาลในช่วง 7 จาก 9 ปีหลังสุด แต่ตัวเลขการเสียชีวิตยังห่างไกลการระบาดของไข้หวัดสเปนในปี 1918 ซึ่งทำให้อเมริกันชนเสียชีวิตไปมากถึง 675,000 คน
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ทวีตข้อความในวันพุธ (29) ว่า ยอดผู้ติดเชื้อสะสมที่พุ่งเกิน 1 ล้านคนเป็นเพราะการตรวจเชื้อในสหรัฐฯ มีประสิทธิภาพดีกว่าประเทศอื่น
“สาเหตุเดียวที่ทำให้สหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อ 1 ล้านคน ก็เนื่องจากการตรวจคัดกรองของเราดีกว่าประเทศไหนๆ ในโลก” ทรัมป์ กล่าว “ประเทศอื่นล่าช้ากว่าเรามากในเรื่องของการตรวจเชื้อ ดังนั้นจึงพบผู้ป่วยน้อยกว่า”
คำพูดของ ทรัมป์ ดูเหมือนจะสวนทางกับคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขที่ระบุว่า ปัญหาขาดแคลนเจ้าหน้าที่และเครื่องไม้เครื่องมือคือสาเหตุที่ทำให้การตรวจเชื้อในอเมริกายังค่อนข้างจำกัด
นพ. แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับ CNN เมื่อวันอังคาร (28) ว่า “หนึ่งในปัญหาหลักของเราก็คือ ทำอย่างไรผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจจึงจะสามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองได้” พร้อมย้ำว่าชาวอเมริกันทุกคนที่มีความจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อควรจะได้รับการตรวจภายในสิ้นเดือน พ.ค. ถึงต้นเดือน มิ.ย.
โควิด-19 สร้างความสูญเสียร้ายแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยรัฐบาลวอชิงตันเผยแพร่ข้อมูลเมื่อวันพุธ (29) ว่า เศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่องยาวนานนับศตวรรษต้องมีอันสิ้นสุดลงอย่างกะทันหันในไตรมาสแรกของปีนี้ หลังผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หดตัวถึง 4.8% จากผลกระทบของมาตรการล็อคดาวน์
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยอมรับว่า ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นการหดตัวครั้งรุนแรงที่สุดของ GDP ในรอบ 12 ปี หลังจากโรคระบาดใหญ่ (pandemic) บีบให้ภาคธุรกิจต้องปิดทำการ ขณะที่การจับจ่ายและการลงทุนก็หยุดชะงัก
ตัวเลขนี้ถือเป็นการพลิกผันอย่างรุนแรงหลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. ปี 2019 เคยเติบโตถึง 2.1% และในตอนนั้นพวกนักวิเคราะห์ยังกังวลว่านโยบายการค้าของประธานาธิบดี ทรัมป์ จะเป็นตัวฉุดรั้งการขยายตัวในปี 2020
ในช่วง 5 สัปดาห์ที่ผ่านมามีชาวอเมริกันลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยากรณีว่างงานสูงถึง 26.5 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 6 ของแรงงานทั้งหมดในสหรัฐฯ ขณะที่รัฐบาล ทรัมป์ ประเมินว่าอัตราการว่างงานในเดือน เม.ย. จะพุ่งสูงกว่า 16%
มาตรการล็อคดาวน์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตอเมริกันชนยังกลายเป็นชนวนความขัดแย้งทางสังคม เมื่อแพทย์และพยาบาลบางส่วนตัดสินใจลงถนนเพื่อขัดขวางพวกที่พยายามออกมาชุมนุมต่อต้านการปิดเมือง โดยบุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้พยายามเตือนสติพวกที่ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำเว้นระยะห่างทางสังคม (social-distancing) ว่าพฤติกรรมของพวกเขากำลังทำให้ชีวิตแพทย์และพยาบาลที่อยู่แถวหน้าในการต่อสู้กับโควิด-19 ตกอยู่ในความเสี่ยง
ดร.เอริค บรันห์ ศัลยแพทย์วัยเกษียณจากรัฐเวอร์จิเนียและภรรยาของเขาซึ่งออกมาคัดค้านพวกผู้ชุมนุม ระบุว่า “ผมกับภรรยาบอกคนหลายคนว่าเราเองก็ต้องการให้เปิดเศรษฐกิจ แต่เราคิดว่าตอนนี้ยังไม่ปลอดภัย และถ้าทำเร็วเกินไปสถานการณ์จะยิ่งแย่ลงกว่านี้”
บรันห์ พยายามเตือนผู้ประท้วงว่า ศัตรูของพวกเขาไม่ใช่รัฐหรือผู้ว่าการรัฐ หากแต่เป็นเชื้อโควิด-19 ทว่าสิ่งที่พวกเขาได้กลับมาก็คือการด่าทอ และคำครหาว่าเผยแพร่ “เฟคนิวส์”
ผลสำรวจความคิดเห็นของรอยเตอร์/อิปซอสในสัปดาห์นี้พบว่า ชาวอเมริกัน ‘เกินครึ่ง’ หมดความเชื่อถือในคำพูดของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เกี่ยวกับมาตรการรับมือโควิด-19 หลังจากที่ผู้นำสหรัฐฯ เสนอไอเดียให้ลองฉีด ‘สารฟอกขาว’ หรือ ‘น้ำยาฆ่าเชื้อ’ เข้าสู่ร่างกายเพื่อกำจัดไวรัส
ในการแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทรัมป์ ได้เอ่ยถึงประโยชน์ของการ “ทำความสะอาดภายใน” ร่างกายผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือแสงอัลตราไวโอเล็ต พร้อมสั่งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขลองไปศึกษาเรื่องนี้ดู
ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์สหรัฐฯ ออกมาประณามคำแนะนำของประธานาธิบดีทันที เช่นเดียวกับบริษัทผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่เตือนชาวอเมริกันว่าอย่าได้นำสารอันตรายเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายโดยเด็ดขาด จนสุดท้าย ทรัมป์ เองต้องออกมาแถลงแก้เกี้ยวว่าที่พูดไปทั้งหมดก็เพื่อ “ประชดนักข่าว”
โพลรอยเตอร์/อิปซอสซึ่งจัดทำระหว่างวันที่ 27-28 เม.ย. พบว่ามีชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ไม่ถึงครึ่ง หรือราวๆ 47% ที่พร้อมจะทำตามคำแนะนำของ ทรัมป์ เกี่ยวกับวิธีจัดการไวรัสโคโรนา ลดลงถึง 15% จากการสำรวจความคิดเห็นเมื่อปลายเดือน มี.ค. ยิ่งไปกว่านั้นชาวอเมริกันยังมีความเห็นเกือบจะเป็นเอกฉันท์ 98% ว่า พวกเขาไม่มีทางเอาสารฟอกขาวหรือน้ำยาฆ่าเชื้อมาฉีดเข้าร่างกายเพื่อทำลายเชื้อโควิด
ฝรั่งเศสประกาศเมื่อวันอังคาร (28) ว่าจะอนุญาตให้ร้านค้า ตลาด และสถานศึกษาบางแห่งเปิดทำการได้ในเดือน พ.ค. โดยประชาชนยังจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยระหว่างใช้บริการขนส่งสาธารณะ และให้คงคำสั่งทำงานจากที่บ้านต่อไปอีกหลายสัปดาห์
เอดูอาร์ด ฟิลิปเป นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส เตือนว่า แม้จะทยอยผ่อนคลายล็อคดาวน์อย่างช้าๆ ก็ยัง “มีความเสี่ยง” อยู่ดี
รัฐบาลสเปนจะทยอยผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอนในช่วง 2 เดือนข้างหน้า ขณะที่พลเมืองอิตาลีได้รับอนุญาตให้ออกกำลังกายกลางแจ้ง และเดินทางไปเยี่ยมญาติมิตรได้ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องสวมหน้ากากอนามัย และงดการกอดหรือจับมือกัน
ด้านนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ ยอมรับว่ายังเร็วเกินไปสำหรับเมืองผู้ดีที่จะเปิดสถานศึกษาและร้านรวงต่างๆ ตามอย่างเพื่อนบ้านในยุโรป โดยจากสถิติเมื่อเช้าวันที่ 30 เม.ย. ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในอังกฤษพุ่งสูงกว่า 166,400 ราย ขณะที่ผู้เสียชีวิตพุ่งแตะ 26,000 ราย รั้งอันดับที่ 2 ของโลกรองจากอิตาลี
รัสเซียซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อสะสมเฉียด 100,000 คนประกาศขยายเวลาล็อคดาวน์ต่อไปอีก 2 สัปดาห์ โดยประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ย้ำเตือนพลเมืองว่า ‘วันคืนที่เลวร้ายที่สุด’ ของโรคระบาดยังมาไม่ถึง แต่ถึงกระนั้นก็มีแผนที่จะเริ่มผ่อนปรนข้อจำกัดต่างๆ ตั้งแต่กลางเดือน พ.ค. เป็นต้นไป
สถานการณ์ในจีนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโรคระบาดโควิด-19 ยังคงดีวันดีขึ้น โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตหยุดนิ่งอยู่ที่ประมาณ 4,600 เศษติดต่อกันมานานกว่า 10 วัน ขณะที่ผู้ป่วยสะสมก็ทรงตัวอยู่ที่ราวๆ 84,000 คน แม้ยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มในกลุ่มคนเดินทางจากต่างประเทศ ส่วนเกาหลีใต้ในวันที่ 30 เม.ย. พบผู้ติดเชื้อใหม่ที่เป็นเคสนำเข้าเพียง 4 ราย และไม่มีผู้ป่วยใหม่ในประเทศแม้แต่รายเดียว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่แดนโสมขาวผ่านจุดพีคของการระบาดเมื่อปลายเดือน ก.พ.
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคเร็วเกินไปอาจทำให้ไวรัสกลับมาแพร่ระบาดซ้ำ ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าแม้ผู้ป่วยที่หายดีแล้วก็ยังมีโอกาสที่จะกลับมาติดเชื้อใหม่ได้
คณะผู้จัดการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียวยอมรับในสัปดาห์นี้ว่า มหกรรมกีฬาซึ่งถูกเลื่อนไปจัดกลางปีหน้าอาจถูก “ยกเลิก” ในที่สุด หากเวลานั้นโลกยังควบคุมการระบาดของโควิด-19 ไม่ได้
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีกระทรวงการรวมชาติของเกาหลีใต้ได้ออกมาดับกระแสข่าวลือเรื่องผู้นำเกาหลีเหนือล้มป่วยอาการโคม่า โดยระบุว่าที่ คิม จองอึน ไม่ได้ออกสื่อในช่วงนี้น่าจะเพราะกลัวติดเชื้อโควิด-19
ผู้สังเกตการณ์เริ่มตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับสุขภาพของผู้นำโสมแดง หลังจากที่ คิม ไม่ได้ปรากฏตัวในงานฉลองวันเกิดอดีตประธานาธิบดี คิม อิลซุง ผู้ก่อตั้งรัฐคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือเมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา ทั้งที่วันดังกล่าวถือเป็นวันสำคัญที่สุดในปฏิทินการเมืองเกาหลีเหนือเลยก็ว่าได้
เว็บไซต์ Daily NK ซึ่งเป็นสื่อของผู้ลี้ภัยโสมแดงออกมาตีแผ่เป็นเจ้าแรกว่า คิม กำลังพักฟื้นจากการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจเมื่อวันที่ 12 เม.ย. และหลังจากนั้นสื่อ CNN ของสหรัฐฯ ก็อ้างว่าวอชิงตันกำลังติดตามข่าวกรองที่ว่า คิม “อาการเข้าขั้นวิกฤต” หลังผ่าตัดใหญ่
นักวิจัยกลุ่ม 38 North ในสหรัฐฯ เปิดเผยภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ซึ่งแสดงให้เห็นขบวนรถไฟพิเศษของผู้นำ คิม จอดอยู่ที่สถานีในเมืองวอนซาน (Wonsan) เมืองตากอากาศชายทะเลตะวันออกของเกาหลีเหนือ ซึ่งแม้ภาพนี้จะไม่สามารถยืนยันอาการป่วยของคิม แต่ก็ทำให้ข่าวที่ว่าผู้นำโสมแดงหลบไปพักผ่อนที่เมืองดังกล่าวมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
คิม ยอนชุล รัฐมนตรีกระทรวงรวมชาติของเกาหลีใต้ซึ่งรับผิดชอบด้านประสานงานกับเกาหลีเหนือ ระบุเมื่อวันอังคาร (28) ว่า มีเหตุผลน่าเชื่อถือว่าการระบาดของไวรัสทำให้ คิม จองอึน ตัดสินใจไม่เข้าร่วมพิธีฉลองวันเกิดปู่ของเขา
"เป็นความจริงที่เขาไม่เคยพลาดงานรำลึกวันคล้ายวันเกิดของ คิม อิลซุง ตั้งแต่ก้าวสู่อำนาจ แต่งานประจำปีอื่นๆ รวมถึงงานเฉลิมฉลองและรื่นเริงก็ถูกยกเลิกเช่นกัน ซึ่งผมไม่คิดว่ามันจะเป็นเรื่องผิดปกติอะไรในสถานการณ์เช่นนี้” คิม ยอนชุล แถลงต่อรัฐสภาเกาหลีใต้
จนถึงตอนนี้เกาหลีเหนือยังคงยืนยันว่าไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แม้แต่รายเดียว