xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : สหรัฐฯ วุ่น!! ‘ทรัมป์’ หนุนม็อบประท้วงต้านล็อกดาวน์ ด้าน ‘สิงคโปร์’ การ์ดตกติดเชื้อทะลุหมื่น เวียดนามเจ๋งคุม ‘โควิด’ อยู่หมัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลก ยังคงน่ากังวลด้วยตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงกว่า 180,000 ราย และชาติที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา ทว่า ดูเหมือนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะยังมองเรื่องเศรษฐกิจสำคัญยิ่งกว่าอะไรทั้งนั้น และพยายามยุยงฐานเสียงให้ออกมาประท้วงต่อต้านคำสั่งล็อกดาวน์เพื่อเปิดเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะที่สิงคโปร์ ซึ่งเคยเป็นต้นแบบในการต่อสู้โควิด-19 เดินเกมพลาดจนกลายเป็นชาติที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุดในอาเซียน สวนทางเวียดนามซึ่งคุมไวรัสได้อยู่หมัด

จากฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ เมื่อช่วงสายของวันที่ 23 เม.ย. จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2.6 ล้านราย เสียชีวิตมากกว่า 183,000 ราย โดยสหรัฐฯ ยังครองแชมป์เบอร์หนึ่งด้วยจำนวนผู้ป่วยสะสม 841,556 ราย ตามมาด้วย สเปน (208,389) อิตาลี (187,327) และฝรั่งเศส (157,135)

แม้ตัวเลขสถิติต่างๆ จะยังบ่งชี้ถึงสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ แต่ ทรัมป์ กลับอ้างว่า การแพร่ระบาดในอเมริกา “ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว” และยืนกรานว่า กลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง สวนทางกับความคิดเห็นของบรรดาผู้ว่าการในหลายรัฐที่ต้องการขยายเวลาล็อกดาวน์ออกไป จนกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่จะลดลงมาถึงระดับที่มั่นใจว่าควบคุมอยู่

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ย้ำว่า คำสั่งปิดเมืองและการรณรงค์ให้ประชาชนอยู่บ้าน คือ กลไกสำคัญที่จะช่วยชะลอการแพร่ระบาดได้ดีที่สุด แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทำให้ยอดคนตกคนงานในอเมริกาเพิ่มขึ้นถึง 22 ล้านคน ในเวลาเพียงแค่ 1 เดือน สูงสุดในยุคหลังภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) เมื่อทศวรรษ 1930

ชาวอเมริกันในหลายรัฐ เช่น มิชิแกน, โอไฮโอ, นอร์ทแคโรไลนา, มินนิโซตา, ยูทาห์, เวอร์จิเนีย และ เคนทักกี ตัดสินใจฝ่าฝืนมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social-distancing) ออกมาชุมนุมประท้วงคำสั่งล็อกดาวน์ ขณะที่ ทรัมป์ ก็ส่งสัญญาณเชียร์พวกผู้ประท้วงเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ด้วยการทวีตข้อความว่า “ปลดปล่อยมินนิโซตา, ปลดปล่อยมิชิแกน และปลดปล่อยเวอร์จิเนีย” ซึ่งล้วนแต่เป็นรัฐที่ผู้ว่าการมาจากพรรคเดโมแครตทั้งสิ้น

– ชาวอเมริกันในเมืองแฮร์ริสเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ออกมาชุมนุมต่อต้านการขยายคำสั่งเก็บตัวอยู่ในบ้านเพื่อชะลอการระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 20 เม.ย.
พวกผู้ประท้วงมองว่า การกำหนดมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอันเข้มงวดนานหลายสัปดาห์ รวมถึงการห้ามประชาชนรวมตัวและปิดภาคธุรกิจต่างๆ จนส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะงักงัน และกระทบต่อวิถีชีวิตอเมริกันชน เข้าข่ายเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา

เมื่อวันที่ 19 เม.ย. สมาชิกพรรครีพับลิกันได้นำผู้ประท้วงหลายพันคนมาชุมนุมบริเวณหน้าศาลาว่าการรัฐวอชิงตัน ในเมืองโอลิมเปีย เพื่อเรียกร้องให้ เจย์ อินส์ลี ผู้ว่าการรัฐจากพรรคเดโมแครต ยกเลิกคำสั่งให้หยุดอยู่กับบ้าน โดยผู้ชุมนุมบางส่วนชูป้ายข้อความสะท้อนคำขวัญย้อนไปในยุคปฏิวัติอเมริกา “ปลดปล่อยฉัน ไม่อย่างนั้นก็ปล่อยให้ฉันติดโควิด-19” บ้างก็หอบลูกจูงหลานมาเข้าร่วมประท้วงโดยไม่มีการสวมหน้ากากอนามัยหรือเว้นระยะห่างทางสังคมแต่อย่างใด

“คนเหล่านี้เป็นผู้ที่รักชาติ” ทรัมป์ แถลงเมื่อวันอาทิตย์ (19) “พวกเขาต้องการกลับไปทำมาหากินได้เหมือนเดิม”

รัฐนิวยอร์กซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของโควิด-19 ในอเมริกา ยอดผู้ป่วยในโรงพยาบาลลดลงจาก 18,000 คน เหลือเพียงราวๆ 16,000 คนในสัปดาห์นี้ ส่วนจำนวนผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจก็ลดลงเช่นกัน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตลดลงจากวันละกว่า 700 คนมาอยู่ที่ 500 คนเศษ

“หากตัวเลขยังคงอยู่ในระดับนี้และมีแนวโน้มชะลอตัวลงเรื่อยๆ ก็หมายความว่า เราได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดมาแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงขาลง” แอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก แถลงต่อสื่อมวลชน แต่ก็ยังคงย้ำให้ประชาชนรักษาระยะห่างทางสังคมต่อไปอย่างเคร่งครัด

ทรัมป์ ได้แถลงแผนการ 3 ขั้น ซึ่งจะเปิดทางให้รัฐต่างๆ ทยอยผ่อนคลายคำสั่งปิดเมือง และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด และยังมีคำสั่งห้ามผู้อพยพเดินทางเข้าสหรัฐฯ ชั่วคราว โดยจะงดออกกรีนการ์ดเป็นเวลา 60 วัน ยกเว้นพวกแรงงานชั่วคราวในภาคเกษตรกรรม ทั้งนี้ เพื่อรับประกันว่าชาวอเมริกันที่ตกงาน “จะได้เป็นคิวแรกๆ ที่มีงานทำ” เมื่อเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

“มันไม่ถูกต้องและไม่ยุติธรรมสำหรับชาวอเมริกันเลย ถ้าพวกเขาจะถูกแทนที่ด้วยพวกแรงงานต่างด้าว” ทรัมป์ กล่าว

อาสาสมัครชาวอิเหนาแต่งกายเป็นบรรดาซูเปอร์ฮีโร่ออกมาถือป้ายรณรงค์ให้คนเก็บตัวอยู่กับบ้าน เพื่อชะลอการระบาดของโควิด-19 ที่เมืองมากัสซาร์ จังหวัดสุลาเวสีใต้
ผลสำรวจความคิดเห็นระดับชาติผ่านช่องทางออนไลน์โดยรอยเตอร์/อิปซอส ระหว่างวันที่ 15-21 เม.ย. พบว่า ชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ 72% เลือกที่จะเก็บตัวอยู่กับบ้าน (shelter in place) “จนกว่าแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะยืนยันว่าสถานการณ์ปลอดภัย” โดยมีผู้สนับสนุนเดโมแครต 88%, รีพับลิกัน 55% และกลุ่มการเมืองอิสระ 7 ใน 10 คนที่คิดเช่นนี้

ล่าสุด มีผู้ว่าการหลายรัฐที่ตัดสินใจผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ตัวอย่างเช่น ไบรอัน เคมพ์ ผู้ว่าการรัฐจอร์เจีย ประกาศให้ธุรกิจบางประเภทเริ่มเปิดทำการได้ในวันที่ 24 เม.ย. ส่วน เฮนรี แมคมาสเตอร์ ผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนา ก็ไฟเขียวให้เปิดร้านค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย. โดยยังคงมาตรการเว้นระยะห่างอย่างเข้มงวด ขณะที่ เจเร็ด โพลิส ผู้ว่าการรัฐโคโลราโด จะอนุญาตให้ธุรกิจบางอย่างเปิดทำการในสัปดาห์หน้า

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า “รัฐมิสซูรี” กลายเป็นรัฐแรกของสหรัฐฯ ที่ยื่นฟ้องร้องรัฐบาลจีนในเรื่องการบริหารจัดการโรคโควิด-19 โดยกล่าวหาว่า แนวทางตอบสนองของจีนต่อการแพร่ระบาดในเมืองอู่ฮั่นก่อความเสียหายร้ายแรงแก่เศรษฐกิจของมิสซูรี ขณะที่ เกิ่ง ส่วง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกมาแถลงตอบโต้ในวันพุธ (22) ว่า ข้อกล่าวหานี้ “ไม่มีอะไรอื่น นอกจากความไร้สาระ”

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด เตือนว่า การขยายตรวจเชื้อโควิด-19 ให้ครอบคลุมคือเงื่อนไขสำคัญที่จะนำมาสู่การเปิดเมืองอย่างปลอดภัย โดยในกรณีของสหรัฐฯ ซึ่งมีประชากรเกือบ 330 ล้านคน จะต้องตรวจคัดกรองพลเมืองให้ได้ถึง 3 ล้านคนต่อสัปดาห์ เพื่อจะได้ทราบข้อมูลการระบาดที่แม่นยำที่สุด แต่จากสถิติของ Covid Tracking Project พบว่าสหรัฐฯ ยังทำได้แค่ราวๆ 1 ใน 3 ของตัวเลขดังกล่าว

โรเบิร์ต เรดฟิลด์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ออกมาเตือนความเสี่ยงที่เชื้อโควิด-19 จะกลับมาระบาดซ้ำ และสถานการณ์อาจรุนแรงยิ่งกว่านี้หากไปประจวบเหมาะกับช่วงเริ่มต้นฤดูกาลไข้หวัดใหญ่

“มีความเป็นไปได้ที่ไวรัสจะโจมตีเราอีกครั้งในฤดูหนาวถัดไป และสถานการณ์จะยิ่งยากลำบากกว่าที่เราเพิ่งผ่านมา” ผอ.ซีดีซี ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์

โปสเตอร์เตือนภัยโรคระบาดโควิด-19 บนถนนสายหนึ่งในกรุงฮานอยของเวียดนาม
สำหรับภูมิภาคยุโรป หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายคำสั่งล็อกดาวน์ เนื่องจากการระบาดค่อยๆ ชะลอตัวจนเข้าสู่ระดับที่ควบคุมได้ แต่คำสั่งงดจัดกิจกรรมใหญ่ๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักก็เป็นเครื่องเตือนใจว่าโรคระบาดคราวนี้ยังไม่ได้หายไปไหน

เยอรมนีซึ่งเวลานี้มีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 150,000 คน อนุญาตให้ร้านค้าขนาดเล็กกลับมาเปิดได้อีกครั้ง แต่ยังคงงดจัดเทศกาล Oktoberfest หรือเทศกาลสำหรับคอเบียร์ในแคว้นบาวาเรีย ซึ่งถือเป็นการงดจัดงานครั้งแรกในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

คำสั่งห้ามการรวมตัวของคนหมู่มาก ยังส่งผลให้ “เบอร์ลิน มาราธอน” ซึ่งมีกำหนดจัดในช่วงเดือน ก.ย. ต้องถูกยกเลิกไปด้วยเช่นกัน

รัฐบาลสเปนอนุญาตให้เด็กๆ ออกมาทำกิจกรรมบางอย่างนอกบ้านได้ แต่ยังคงประกาศงดจัดเทศกาลวิ่งวัวกระทิงประจำปีในเมืองแพมโพลนา

ในฝั่งเอเชีย สิงคโปร์พบผู้ติดเชื้อใหม่เกินว่า 1,000 รายต่อเนื่อง 3 วัน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 10,141 ราย ในวันพุธ (22 เม.ย.) สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทว่า จำนวนผู้เสียชีวิตยังต่ำเพียงแค่ 11 ราย โดยกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ ระบุว่า ผู้ป่วยใหม่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อาศัยอยู่รวมกันตามหอพัก ซึ่งเวลานี้เจ้าหน้าที่ได้มีคำสั่งล็อกดาวน์แล้ว และกำลังเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อเพื่อจำกัดการระบาด

ขณะเดียวกัน ทางการเมืองนางาซากิของญี่ปุ่น ยืนยันพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวมอย่างน้อย 48 รายบนเรือสำราญ คอสตา แอตแลนติกา (Costa Atlantica) สัญชาติอิตาลี ซึ่งเข้ามาจอดซ่อมบำรุงตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. โดยเรือลำนี้มีลูกเรือทั้งหมด 623 คน และไม่มีผู้โดยสาร

ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย สั่งห้ามประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอนในช่วงปลาย พ.ค. เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของโรคทางเดินหายใจโควิด-19 โดยขณะนี้อินโดนีเซียมีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมกว่า 7,400 ราย มากเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์

คำสั่งคุมเข้มของผู้นำอิเหนามีขึ้นหลังมีงานวิจัยซึ่งเตือนว่า หากรัฐบาลปล่อยให้พลเมืองกลับบ้านในช่วงวันตรุษอีดิลฟิฏรี จะทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมบนเกาะชวาเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านคน ภายในเดือน ก.ค. แต่หากระงับการเดินทางไว้ได้ คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงมาอยู่ที่ 750,000 คน

เวียดนามเตรียมผ่อนคลายมาตรการจำกัดความเคลื่อนไหวของพลเมือง หลังยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศยังคงต่ำกว่า 300 คน และไม่มีผู้เสียชีวิตเลยตั้งแต่พบผู้ป่วยเคสแรกในเดือน ม.ค. โดยนายกรัฐมนตรี เหงียน ซวน ฟุก ของเวียดนามประกาศในสัปดาห์นี้ว่าไม่มีจังหวัดไหนเลยในเวียดนามที่เสี่ยงเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

จากข้อมูลในวันที่ 22 เม.ย. เวียดนามไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่องมาเกือบสัปดาห์ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 268 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีถึง 223 คนที่หายป่วยกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว

ในขณะที่ประชากรกว่าครึ่งโลกตกอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์รูปแบบต่างๆ และเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 100 ปี เดวิด บีสลีย์ ผู้อำนวยการโครงการอาหารโลก (WFP) ในสังกัดสหประชาชาติ ออกมาเตือนในสัปดาห์นี้ว่า โลกไม่ได้กำลังเผชิญแค่โรคระบาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังอาจหมายถึง “หายนะ” ของมวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศยากจนที่สุด และคาดว่าจำนวนคนขาดสารอาหารขั้นรุนแรงจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 265 ล้านคนในปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น