รอยเตอร์ - แมวบ้าน 2 ตัวในนิวยอร์กกลายเป็นสัตว์เลี้ยงกลุ่มแรกในสหรัฐฯ ที่มีผลตรวจว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ แต่ยังไม่พบหลักฐานยืนยันว่าสัตว์เลี้ยงสามารถแพร่เชื้อสู่คน
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า แมว 2 ตัวซึ่งมาจากต่างพื้นที่ในรัฐนิวยอร์กมีอาการป่วยด้านระบบทางเดินหายใจอย่างอ่อนๆ และคาดว่าจะหายเป็นปกติในไม่ช้า โดยแพทย์สันนิษฐานว่ามันอาจจะติดเชื้อไวรัสมาจากคนในบ้าน หรือไม่ก็คนในชุมชน
“สัตว์ทั่วไปและสัตว์เลี้ยงสามารถติดเชื้อได้ แต่ยังไม่พบหลักฐานว่าไวรัสสามารถแพร่จากสัตว์มาสู่คน” ดร.แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อของสหรัฐฯ ระบุในงานแถลงข่าวเมื่อวันพุธ (22 เม.ย.)
ข้อมูลจากสมาคมสัตวแพทย์อเมริกันระบุว่า ก่อนหน้านี้เคยมีแมวตัวหนึ่งในฮ่องกงติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ส่วนที่เบลเยียมก็พบแมวติดโควิด-19 แต่มันป่วยอยู่เพียงแค่ 9 วันก็หาย
เมื่อต้นเดือนนี้ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society - WCS) ซึ่งเป็นผู้ดูแลสวนสัตว์บร็องซ์ในนครนิวยอร์ก ก็แถลงยืนยันว่า พบเสือ 5 ตัว และสิงโตอีก 3 ตัวในสวนสัตว์แห่งนี้ติดโควิด-19 โดยเสือตัวหนึ่งไม่มีอาการป่วยเลย
WCS แถลงวานนี้ (22) ว่า “เสือและสิงโตทั้ง 8 ตัวยังคงสบายดี มีพฤติกรรมปกติ กินเก่ง และอาการไอก็ลดลงมากแล้ว”
นครนิวยอร์กซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดในสหรัฐฯ มีมาตรการคุมเข้มต่างๆ เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา แต่ทางการย้ำกับบรรดาเจ้าของว่าอย่าได้กลัวสัตว์เลี้ยงของตัวเอง
“เราไม่พบหลักฐานบ่งชี้ว่าสัตว์เลี้ยงมีส่วนแพร่เชื้อไวรัสสู่คนในสหรัฐอเมริกา” CDC ระบุ “ดังนั้น จึงไม่มีเหตุอันควรที่จะต้องใช้มาตรการต่างๆ ที่อาจบั่นทอนสวัสดิภาพของพวกมัน และยังต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจว่าสัตว์ชนิดต่างๆ รวมถึงสัตว์เลี้ยง จะได้รับผลกระทบหรือไม่อย่างไร”
CDC ยังแนะนำเจ้าของสัตว์เลี้ยงว่าไม่ควรปล่อยให้พวกมันออกไปสัมผัสใกล้ชิดคนหรือสัตว์อื่นๆ นอกบ้าน โดยให้กักแมวไว้ในอาคาร ส่วนการพาสุนัขไปเดินเล่นก็จะต้องมีสายจูง และให้พวกมันอยู่ห่างจากสัตว์หรือคนรอบข้างอย่างน้อย 6 ฟุต
งานวิจัยที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนนี้ระบุว่า แมวสามารถติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ได้ ในขณะที่สุนัขไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงต่อโรคนี้ ซึ่งทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) เตรียมศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการแพร่เชื้อโควิด-19 ระหว่างมนุษย์กับสัตว์เลี้ยง