xs
xsm
sm
md
lg

ยืนยัน“โควิด-19 ในเสือโคร่ง”ยังไม่พบหลักฐานติดจาก“สัตว์สู่คน” สัตวแพทย์จุฬาฯ แนะตระหนัก อย่าตระหนก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากรายงานข่าวที่มีการพบเชื้อโควิด-19 ในสัตว์หลายชนิดในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สุนัข แมว และล่าสุด เสือโคร่ง จนก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์และปศุสัตว์ ศาสตราจารย์ พ.ญ.ดร. เกวลี ฉัตรดรงค์ รองคณบดีวิจัยและนวัตกรรม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตนายกสมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย ได้ออกมาอธิบายถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า ยังไม่มีหลักฐานยืนยันการติดต่อจาก ‘สัตว์เลี้ยงสู่คน’ ดังนั้น ผู้ที่ใกล้ชิดกับสัตว์ สัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ จึงควร “ตระหนัก” ในการดูแลสัตว์เลี้ยงของตนให้ปลอดภัย แต่ไม่ควร “ตระหนก” กับข่าวที่เกิดขึ้น


“การตรวจพบเชื้อในเสือโคร่ง ซึ่งเป็นสัตว์ตระกูลแมวที่แสดงอาการทางระบบหายใจในสวนสัตว์ที่เมืองนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกานั้น เป็นการติดเชื้อจากพนักงานดูแลสัตว์ ซึ่งให้ผลบวกต่อเชื้อโควิด-19 โดยไม่แสดงอาการ ทำให้ยังคงปฏิบัติงานอยู่ แต่หลังจากผลทดสอบเป็นบวกแล้ว สวนสัตว์ได้ปิดทำการ แล้วสัตว์กลุ่มนี้จึงแสดงอาการทางระบบหายใจในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ถัดมา การตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในเสือโคร่ง จึงอนุมานได้ว่าติดมาจากพนักงานดูแลสัตว์ที่ทำหน้าที่ให้อาหารและทำความสะอาดกรงเลี้ยงในช่วงเวลาก่อนหน้านี้” ดร. เกวลีอธิบายถึงที่มาที่ไปของข่าว


นอกจากนี้ ดร. เกวลี ยังได้อธิบายเพิ่มเติมถึงที่มาของข่าวการเกิดโรคโควิด-19 ในสัตว์เลี้ยง ที่สร้างความตื่นตระหนกในเวลานี้ว่า มาจากงานเขียนที่ถูกเผยแพร่ก่อนได้รับการพิจารณารับรองตามหลักวิชาการ (อ้างอิง 1) และงานวิจัยเรื่องการติดต่อของเชื้อไวรัสก่อโรค SARS ในแมวและตัวเฟอเร็ท ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2003 (อ้างอิง 2) ซึ่งเป็นเพียงการศึกษาในห้องทดลองเท่านั้น


“ทางสมาคมสัตวแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (The American Veterinary Medical Association) ได้ออกมาสรุปว่างานเขียนชิ้นนี้ ทำให้เกิดความสับสนและเกิดความตระหนกเกินไปในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งอาจนำไปสู่การปล่อยสัตว์เลี้ยงทิ้งในที่สาธารณะ จึงให้คำแนะนำว่าหากสัตว์เลี้ยงมีอาการทางระบบทางเดินหายใจร่วมกับระบบทางเดินอาหาร ควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการหาสาเหตุของโรค และยังไม่มีความจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อในสัตว์เลี้ยงทุกตัว”


“สำหรับคนทั่วไปก็ยังคงเลี้ยงสัตว์ได้ แต่ต้อง ‘ตระหนัก’ และเฝ้าระวังอย่างมีสติ การปฏิบัติตามสุขอนามัยที่ดี ได้แก่ การล้างมือบ่อยๆ ก่อนและหลังสัมผัสสัตว์เลี้ยง เป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติอย่างยิ่งในเวลานี้ แต่สำหรับผู้ป่วยและคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงนั้น นอกจากจะต้องกักตัวและหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดคนแล้ว ยังควรต้องอยู่ห่างไกลจากสัตว์เลี้ยงซึ่งเปรียบเสมือนสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลแมว” ดร. เกวลี กล่าว

ที่มาของข้อมูล:
1. SARS-CoV-2 in animals, including pets. American Veterinary Medical Association (AVMA), https://www.avma.org/: updated on April 5, 2020.
2. Martina et al. 2003. SARS virus infection of cats and ferrets. Nature 425, 915.


กำลังโหลดความคิดเห็น