xs
xsm
sm
md
lg

In Clip: อินเดียจับกุมผู้ต้องสงสัยยกโขยงร่วมร้อย “คดีลากพราหมณ์ฮินดูวัย 70 พร้อมพวก” ลงจากรถก่อนใช้ก้อนหินไม้ทุบจนเสียชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์ - มีจำนวนผู้ต้องสงสัยไม่ต่ำกว่า 100 คน ถูกจับกุมตัวในคดีรุมทำร้ายชาย 3 คน จนถึงแก่ความตายในรัฐมหาราษฏระเมื่อวันพฤหัสบดี (16 เม.ย.) ที่ผ่านมา

บีบีซี สื่ออังกฤษรายงานวันนี้ (20 เม.ย.) ว่า เหตุเกิดที่เขตปาลการ์ (Palghar) รัฐมหาราษฏระ เมื่อวันพฤหัสบดี (16 เม.ย.) ที่ผ่านมา แต่ทว่าคลิปเพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อวานนี้ (19)

รายงานกล่าวว่า กลุ่มชาย 3 คน ที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโจรกำลังจะไปเข้าร่วมงานศพที่สุราต (Surat) ของคนรู้จัก และฝูงชนที่มีไม่ต่ำกว่า 200 คน ได้ลากตัวคนเหล่านี้ออกไปจากรถของพวกเขา มีทั้งใช้ไม้และก้อนหินรุมทำร้าย อ้างอิงจากสื่ออินเดีย thelogicalindian

ทั้งนี้ อินเดียถูกสั่งปิดตายมาตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19

ซึ่งพบว่า ผู้เสียชีวิต 2 คน เป็นศาสนจารย์ฮินดู หรือ พราหมณ์ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีอายุ 70 ปี คือ Kalpvrush Giri และคนขับรถอีก 1 คน โดยฝูงชนได้รุมสังหารคนทั้งหมดขณะที่ตำรวจพยายามที่จะช่วยคนเหล่านี้ไว้ โดยมีรายงานว่า คนทั้งสามถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโจรลักเด็ก หรือโจรลักลอบขายอวัยวะมนุษย์

ตำรวจปาลการ์กล่าวผ่านแถลงการณ์ทางทวิตเตอร์ ว่า มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยไว้ทั้งหมด 110 คน โดยจากทั้งหมดมี 9 คน เป็นผู้เยาว์ มีจำนวน 101 คน ยังคงอยู่ในการควบคุมตัวของตำรวจไปจนถึงวันที่ 30 ส่วนอีก 9 คน ถูกส่งตัวเข้าสถานกักกันผู้เยาว์ การสอบสวนคดีกำลังจะดำเนินการรวมไปถึงหาสาเหตุต้นตอของคดี

ด้านมุขมนตรีรัฐมหาราษฏระ อุดดาฟ ทัคเคอเรย์ (Uddhav Thackeray) กล่าวว่า ต้องทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อกลุ่มผู้ที่รับผิดชอบต่อการกระทำเหล่านี้

ขณะที่อดีตมุขมนตรีรัฐมหาราษฏระ เดเวนดรา ฟาดนาวิส (Devendra Fadnavis) ออกมาตำหนิรัฐบาลรัฐมหาราษฏระของทัคเคอร์เรย์ ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ควบคุมกฎหมายและความเรียบร้อยในรัฐ

นอกจากนี้ ยังมีเสียงวิจารณ์ออกมาจากกลุ่มฮินดูจำนวนหนึ่งพร้อมกับตั้งคำถามถึงมาตรการปิดตายของรัฐ

รัฐมนตรีมหาดไทยประจำรัฐมหาราษฏระ อานิล เดชมุคฮ์ (Anil Deshmukh) ออกมาชี้ว่า ทั้งเหยื่อผู้เสียชีวิตและฝูงชนที่รุมทำร้ายนั้น นับถือศาสนาเดียวกัน การแสดงความเห็นเกิดขึ้นหลังจากที่มีการแสดงความเห็นบางส่วนจากโลกออนไลน์ที่อ้างว่า เหตุเกิดมาจากความขัดแย้งทางศาสนา




กำลังโหลดความคิดเห็น