กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์สนั่นโลกอีกหน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ประกาศระงับเงินอุดหนุนองค์การอนามัยโลก (WHO) พร้อมกล่าวหาหน่วยงานในสังกัดสหประชาชาติแห่งนี้ว่าปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ในจีน จนมีส่วนทำให้เชื้อแพร่กระจายอย่างควบคุมไม่อยู่ ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่าโรคระบาดใหญ่คราวนี้จะทำให้โลกต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปี
คำประกาศสุดช็อกจากผู้นำสหรัฐฯ มีขึ้นในขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกพุ่งทะลุหลัก 2 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตแล้วไม่ต่ำกว่า 150,000 คน
สหรัฐฯ พบผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รายแรกในวันที่ 29 ก.พ. ก่อนที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะพุ่งแตะระดับ 10,000 ศพ ในอีก 38 วันให้หลัง และกลายเป็นกว่า 30,000 ศพในเวลาอีกเพียง 9 วัน ขณะที่ผู้ป่วยสะสมในเวลานี้พุ่งทะยานกว่า 630,000 คน
ในขณะที่หลายชาติกำลังคิดหาวิธีเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยไม่ทำให้ไวรัสกลับมาระบาดซ้ำสอง ทรัมป์ก็ออกมาสั่นคลอนความร่วมมือนานาชาติด้วยการกล่าวโทษองค์การอนามัยโลกว่าเป็นต้นเหตุทำให้สถานการณ์โควิด-19 เลวร้ายกว่าที่ควรจะเป็น
ทรัมป์ซึ่งถูกวิจารณ์ว่ารับมือโควิด-19 ล่าช้าจนทำให้สถานการณ์ในสหรัฐฯ ขยายตัวรุนแรง ใช้โอกาสในการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อวันอังคาร (14 เม.ย.) โจมตีการทำงานขององค์การอนามัยโลก แถมออกคำสั่งให้สหรัฐฯ ระงับเงินอุดหนุนและทบทวนบทบาทขององค์กรแห่งนี้ซึ่งเขาอ้างว่า “บริหารจัดการผิดพลาดร้ายแรง และปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนา”
ทรัมป์อ้างว่า หน่วยสาธารณสุขทั่วโลกคงจะควบคุมการระบาดได้ดีกว่านี้ “และมีผู้เสียชีวิตน้อยมากๆ” หาก WHO ประเมินสถานการณ์ในจีนอย่างถูกต้องแม่นยำตั้งแต่ตอนที่เชื้อเริ่มอุบัติขึ้นที่เมืองอู่ฮั่นเมื่อปลายปีที่แล้ว
อันที่จริงตัวทรัมป์เองก็เคยมองข้ามความเสี่ยงจากไวรัสชนิดนี้ จนสุดท้ายอเมริกากลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงกว่าชาติใดๆ ในโลก
เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ออกมาแสดงความเสียใจต่อท่าทีของสหรัฐฯ และเตรียมแสวงหาการสนับสนุนจากรัฐสมาชิกอื่นๆ เพื่อเติมเต็มความช่วยเหลือที่หายไป ขณะที่ อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น เตือนว่านี่ไม่ใช่เวลาที่ประเทศใดๆ จะมาขู่ตัดความช่วยเหลือ WHO หรือหน่วยงานด้านมนุษยธรรมที่ต่อสู้กับโควิด-19
ด้านมหาเศรษฐี บิล เกตส์ ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟท์ ก็ออกมาเตือนเช่นกันว่าการตัดเงินอุดหนุนองค์การอนามัยโลกในเวลาเช่นนี้ “เป็นเรื่องอันตราย”
จีนซึ่งถูก ทรัมป์ ชี้นิ้วกล่าวโทษมานานหลายสัปดาห์ วิจารณ์ผู้นำสหรัฐฯ ว่ากำลังบ่อนทำลายความร่วมมือนานาชาติในห้วงเวลาอันวิกฤต
“สถานการณ์โรคระบาดกำลังอยู่ในช่วงเลวร้าย นี่คือเวลาอันวิกฤต การตัดสินใจของสหรัฐฯ จะบั่นทอนศักยภาพของ WHO และกัดเซาะความร่วมมือนานาชาติในการต่อสู้โรคระบาด” จ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุ
องค์การอนามัยโลกก่อตั้งขึ้นในปี 1948 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานสุขภาพของประชากรทั่วโลก และขณะนี้ก็เป็นหน่วยงานหลักที่ต่อสู้การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยให้คำแนะนำด้านการควบคุมโรคแก่ประเทศต่างๆ และช่วยประสานงานด้านการวิจัยยาและวัคซีนเพื่อยุติการระบาดของไวรัสชนิดนี้
หน่วยงานสาธารณสุขยูเอ็นจะมีการจัดสรรงบประมาณคราวละ 2 ปี โดยมีสหรัฐฯ เป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดด้วยวงเงินอุดหนุนมากกว่า 800 ล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2018-2019 ตามมาด้วยมูลนิธิของ บิล เกตส์ และรัฐบาลอังกฤษ
เงินอุดหนุนที่ WHO ได้รับจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ‘เงินสมทบ’ (assessed contributions) จากรัฐสมาชิก ซึ่งจะนำไปใช้เป็นทุนสำหรับภารกิจหลักๆ ขององค์กร และเงินบริจาคโดยสมัครใจ (voluntary contributions) ซึ่งจะใช้สำหรับโครงการที่เฉพาะเจาะจง เช่น การรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคโปลิโอ และภารกิจต่อต้านโรคเอดส์และเชื้อมาลาเรีย เป็นต้น
ทรัมป์ อ้างว่าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดได้ “ผ่านพ้นไปแล้ว” และเตรียมออกคำแนะนำสำหรับเดินเครื่องเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี (16) ขณะที่ น.พ.แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติของสหรัฐฯ เตือนว่า เป้าหมายการผ่อนคลายล็อคดาวน์และรีสตาร์ทเศรษฐกิจของ ทรัมป์ ภายในวันที่ 1 พ.ค. อาจเป็นการ “มองโลกแง่ดีเกินไป”
นครนิวยอร์กซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไวรัสระบาดหนักสุดในสหรัฐฯ มีตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสมพุ่งสูงกว่า 10,000 คนในวันอังคาร (14) หลังจากทางการได้ปรับวิธีนับจำนวนผู้เสียชีวิตให้ครอบคลุมถึงผู้ที่ตายจากโรคปอด แต่ไม่เคยผ่านการตรวจคัดกรองไวรัสมาก่อน
สถานการณ์ในอังกฤษยังอยู่ในขั้นเลวร้ายด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 99,000 คนในเช้าวันที่ 16 เม.ย. ส่วนอิตาลีและสเปนซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของโควิด-19 ในยุโรปมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และไฟเขียวให้ธุรกิจบางประเภทเปิดทำการ หลังยอดผู้ติดเชื้อใหม่ชะลอตัวลง
เดนมาร์ก เริ่มอนุญาตให้เปิดสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนประถมในบางภูมิภาค แต่ยังคงไว้ซึ่งมาตรการปิดพรมแดน บาร์ และร้านอาหารต่างๆ ส่วนนายกรัฐมนตรี ซานนา มาริน แห่งฟินแลนด์ ยกเลิกคำสั่งห้ามเดินทางในเขตเฮลซิงกิ แต่ยังคงขอร้องให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น
นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ประกาศในวันพุธ (15) ว่าจะอนุญาตให้ร้านค้าต่างๆ เปิดกิจการได้อีกครั้งในสัปดาห์หน้า ทว่าสถาบันการศึกษายังต้องปิดการเรียนการสอนต่อไปจนถึงวันที่ 4 พ.ค.
แม้จำนวนผู้ป่วยโควิดในเยอรมนีจะพุ่งสูงกว่า 130,000 คน เป็นรองเพียงสหรัฐฯ สเปน และอิตาลี แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าจำนวนผู้เสียชีวิตยังค่อนข้างต่ำคืออยู่ที่ราวๆ 3,600 คนเท่านั้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากการที่เยอรมนีมีสัดส่วนเตียงโรงพยาบาลต่อหัวประชากรสูงกว่าหลายๆ ประเทศ
ข้อมูลจากเว็บไซต์ HealthSystemTracker ระบุว่า เยอรมนีมีเตียงโรงพยาบาลเฉลี่ย 8.1 เตียงต่อประชากร 1,000 คน และเตียงไอซียู 6.1 เตียงต่อประชากร 1,000 คน ในขณะที่อิตาลีมีเตียงโรงพยาบาล 3.2 เตียง และเตียงไอซียู 2.6 เตียงต่อประชากร 1,000 คน ส่วนสหรัฐฯ มีเตียงโรงพยาบาล 2.4 เตียงและเตียงไอซียู 2.4 เตียงต่อประชากร 1,000 คน
“โรงพยาบาลในเยอรมนีมีศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยสูงกว่าประเทศอื่นๆ” เจนนิเฟอร์ เคตส์ รองประธานมูลนิธิ Kaiser Family Foundation ระบุ พร้อมเสริมว่านี่คือปัจจัยสำคัญที่ช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วย และปกป้องระบบสาธารณสุขไม่ให้ทำงานเกินกำลัง
ทางฝั่งเอเชีย อินเดียได้ขยายมาตรการล็อคดาวน์ปิดเมืองต่อไปจนถึงวันที่ 3 พ.ค. หลังยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นกว่า 12,300 คน โดยนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ยอมรับว่ารัฐบาลจำเป็นต้องยอมรับผลกระทบทางเศรษฐกิจเพื่อแลกกับชีวิตประชาชน ขณะที่จีนซึ่งควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศได้อยู่หมัดก็เริ่มยกระดับคัดกรองคนเข้าเมือง รวมถึงเสริมทรัพยากรและบุคลากรทางแพทย์ไปยังพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะฝั่ง ‘รัสเซีย’ ซึ่งกำลังพบผู้ป่วยนำเข้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่(โควิด-19) ในอาเซียนเริ่มไม่สู้ดีนัก โดยฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ล้วนมีตัวเลขผู้ป่วยสะสมเกิน 5,000 คน ขณะที่สิงคโปร์พบผู้ติดเชื้อรายวัน 447 คนในวันพุธ (15) ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาด
สิงคโปร์ออกกฎให้ประชาชนต้องสวมหน้ากากเมื่อออกจากบ้าน โดยผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 300 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราวๆ 6,900 บาท โดยมาตรการดังกล่าวมีขึ้นหลังยอดผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มพุ่งสูงจนน่าตกใจ บ่งบอกว่ายังมีผู้ติดเชื้อที่ตรวจไม่เจออีกเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันรัฐบาลก็อนุญาตให้ครูอาจารย์กลับมาใช้แอปพลิเคชั่น Zoom ในการสอนหนังสือทางไกลอีกครั้ง หลังจากสั่งระงับไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากมีผู้ฉวยโอกาสโพสต์ภาพและแสดงความเห็นเชิงลามกอนาจารระหว่างการสอน
ส่วนที่ญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ กำลังถูกกดดันให้จ่ายเงินเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นแถลงเตือนในวันพุธ (15) ว่ายอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจแตะระดับ 400,000 คน หากยังไม่ลดการสัมผัสใกล้ชิด และไม่มีมาตรการเชิงป้องกันเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด
ระบบสาธารณสุขของญี่ปุ่นกำลังตกอยู่ในภาวะตึงเครียดอย่างหนัก โดยมีรายงานว่าใน 9 จากทั้งหมด 47 จังหวัดของญี่ปุ่น เตียงฉุกเฉินตามโรงพยาบาลที่จัดสรรไว้สำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ใกล้เต็มหมดแล้ว
ทั้งนี้ คณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐฯ ระบุว่า มาตรการล็อคดาวน์เพียงครั้งเดียวไม่สามารถยุติการแพร่ระจายของไวรัสโคโรนาได้ และคาดว่ารัฐบาลทั่วโลกอาจต้องบังคับใช้มาตรการ social-distancing เป็นระยะๆ ต่อไปจนถึงปี 2022 เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล
ขณะเดียวกัน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) เมื่อวันอังคาร (14) ซึ่งเตือนว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี และจะทำให้ผลผลิตของโลกหดตัวลง 3% ในปีนี้ หรือประมาณ 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีเพียงจีนและอินเดียเท่านั้นที่อาจจะรอดพ้นจากภาวะถดถอย แต่ก็จะมีอัตราเติบโตเพียง 1% กว่าๆ ส่วนเศรษฐกิจอเมริกาปีนี้มีแนวโน้มติดลบ 5.9% แต่คาดว่าจะฟื้นตัว 4.7% ในปีหน้า