xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจสอบกันจะจะ!! กรณี ‘ทรัมป์’ ซัด WHO ‘ถูกต้อง’ หรือ ‘เลอะเทอะ’?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์  VS  ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก  เทดรอส อาดานอม เกเยเบรซัส
บีบีซีนิวส์ - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กล่าวหาองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าบริหารจัดการการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาอย่างผิดพลาด รวมทั้งกำลังปกปิดข้อมูลหลังจากที่มันปรากฏขึ้นมาในประเทศจีน

เขายังประกาศด้วยว่า เขาจะยุติการให้เงินทุนแก่ ฮู ในช่วงเวลาที่คณะบริหารของเขาจะศึกษาทบทวนการกระทำต่างๆ ขององค์กรชำนัญพิเศษของสหประชาชาติแห่งนี้

ปีเตอร์ พิออต (Peter Piot) แห่งวิทยาลัยสุขศาสตร์และแพทยศาสตร์เขตร้อนลอนดอน (London School of Hygiene and Tropical Medicine) ให้ความเห็นว่า การดำเนินการเช่นนี้ของทรัมป์ถือว่า “อันตรายและสายตาสั้น”

แต่ว่าทรัมป์มีเหตุผลควรรับฟังหรือไม่ ในการวิจารณ์การตอบโต้รับมือกับไวรัสของ ฮู เช่นนี้?

ทีมงานตรวจสอบความเป็นจริงของบีบีซีนิวส์ (Reality Check team BBC News) ได้ตรวจสอบข้อมูลรวมทั้งสอบถามพวกผู้เชี่ยวชาญ และมีข้อสรุปดังนี้ :

“ฮู” ทำอะไรบ้าง?

องค์การอนามัยโลกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1948 ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ โดยทำหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการสาธารณสุขระดับโลก, ในการประสานงานโครงการจัดทำวัคซีนต่างๆ และในเวลาที่เกิดภาวะฉุกเฉินต่างๆ ทางสาธารณสุข, รวมทั้งให้ความสนับสนุนแก่ประเทศต่างๆ ในด้านการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน

เงินทุนของ ฮู มาจากค่าธรรมเนียมและการบริจาคด้วยความสมัครใจจากบรรดารัฐสมาชิกซึ่งมีรวมทั้งสิ้น 194 ราย ในจำนวนนี้สหรัฐฯเป็นผู้ออกเงินให้รายใหญ่ที่สุด

“ฮู” บกพร่องล้มเหลวไม่กล้าทักท้วงจีนใช่ไหม?

ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวหา ฮู ว่า บกพร่องล้มเหลวไม่กล้าทักท้วงเมื่อจีนยืนยันในช่วงแรกๆ ว่า ไม่มีหลักฐานใดๆ แสดงว่าไวรัสโคโรนานี้สามารถติดต่อถ่ายทอดจากมนุษย์สู่มนุษย์

จีนนั้นแจ้งให้ ฮู ทราบเป็นครั้งแรกถึง “เคสปอดบวมไม่ทราบสาเหตุ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม” ในวันที่ 5 มกราคม ทางองค์การแถลงว่าข้อมูลข่าวสารที่ตนได้รับจากจีนในเวลานั้น แสดงให้เห็นว่า การเจ็บป่วยนี้ “ไม่มีหลักฐานใดๆ ของการติดต่อถ่ายทอดกันจากมนุษย์สู่มนุษย์” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.who.int/csr/don/05-january-2020-pneumonia-of-unkown-cause-china/en/)

และในวันที่ 14 มกราคม ฮู ได้ทวิตว่า การสอบสวนเบื้องต้นของจีนพบว่า การเจ็บป่วยนี้ “ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนของการติดต่อถ่ายทอดกันจากมนุษย์สู่มนุษย์”

อย่างไรก็ตาม วันเดียวกันนั้น คณะกรรมการสาธารณสุขของอู่ฮั่นแถลงว่า ไม่สามารถตัดทิ้งความเป็นไปได้ที่การติดต่อถ่ายทอดกันจากมนุษย์สู่มนุษย์อย่างจำกัดอาจจะเกิดขึ้นได้ ถึงแม้ความเสี่ยงที่จะเกิดการติดต่อถ่ายทอดเช่นนั้นอย่างยืนยาวยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ประมาณช่วงเวลาเดียวกันนั้น ฮู ได้มีคำแถลงอื่นๆ หลายครั้งซึ่งหยิบยกความเป็นไปได้ที่จะมีการติดต่อถ่ายทอดจากมนุษย์สู่มนุษย์กันบ้าง โดยอ้างอิงถึงข้อมูลข่าวสารที่ทราบกันอยู่แล้วว่าเกิดขึ้นในไวรัสโคโรนาชนิดอื่นๆ เป็นต้นว่า ไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส)

แล้วในวันที่ 22 มกราคม ภายหลังจากผู้แทนของฮู ได้ไปเยี่ยมเยียนภาคสนามในจีนเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ทางองค์การได้ออกคำแถลงซึ่งมีความชัดเจนเพิ่มขึ้นมาก ระบุว่าการติดต่อถ่ายทอดจากมนุษย์กับมนุษย์กำลังเกิดขึ้นในอู่ฮั่น ทั้งนี้ควรต้องพูดเพิ่มเติมในที่นี้ด้วยว่า กว่าที่คณะผู้แทนชุดเต็มๆ ของ ฮู ซึ่งประกอบด้วยพวกผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ จะได้เดินทางไปเยือนจีนนั้น เวลาก็ล่วงเลยไปจนถึงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.who.int/news-room/detail/08-04-2020-who-timeline---covid-19)

ณ สิ้นเดือนมกราคม ฮูได้แถลงชมเชยจีนสำหรับความพยายามในการควบคุมไวรัสโคโรนานี้ รวมไปถึง “คำมั่นอันแน่วแน่ที่จะยึดถือความโปร่งใส” ของทางการจีนด้วย

ข้อความชมเชยจีน ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทวิต เมื่อวันที่ 25 มกราคม
“ฮู” เพิกเฉยละลายคำเตือนของพวกผู้เชี่ยวชาญจากไต้หวันจริงหรือไม่ ?

ทรัมป์แถลงว่า มี “ข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือซึ่งตั้งข้อสงสัยในเรื่องที่ว่าจะมีการติดต่อถ่ายทอดจากมนุษย์สู่มนุษย์กันได้ตั้งแต่ในเดือนธันวาคมแล้ว” โดยที่ดูเหมือนเขากำลังอ้างอิงถึงคำเตือนฉบับหนึ่ง ซึ่งไต้หวันอ้างว่าตนได้ส่งไปให้องค์การอนามัยโลก

พวกนักวิทยาศาสตร์ไต้หวันได้ไปเยือนเมืองอู่ฮ่น ไม่นานหลังจากไวรัสนี้ปรากฏขึ้นมาครั้งแรก

อย่างไรก็ดี จากหลักฐานเท่าที่มีการเผยแพร่ออกมาจวบจนถึงเวลานี้ แสดงให้เห็นว่า ในการติดต่อแลกเปลี่ยนของไต้หวันกับทาง “ฮู” นั้น ไม่ได้มีการเอ่ยถึงเรื่องการติดต่อถ่ายทอดจากมนุษย์สู่มนุษย์แต่อย่างใด

ไต้หวันนั้นไม่ได้เป็นสมาชิกของ “ฮู” เนื่องจากดินแดนแห่งนี้ไม่ได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติ

“ฮู” บอกว่ากำลังมีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูลข่าวสารทั้งหมดกับพวกผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขของไต้หวันอยู่แล้ว ทว่าหลังจากมีเจ้าหน้าที่อาวุโสของ “ฮู” ผู้หนึ่ง ปฏิเสธในระหว่างที่กำลังให้สัมภาษณ์สื่อโทรทัศน์รายหนึ่ง ไม่ขอพูดถึงเรื่องการรับมือกับโรคระบาดครั้งนี้ของไต้หวัน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bbc.com/news/world-asia-52088167) องค์การนี้ก็ถูกกล่าวหาว่า กำลังตกอยู่ใต้อิทธิพลของจีนอย่างมากมายเกินสมควร

“การที่ ‘ฮู’ ยกย่องชมเชยจีนอย่างพร่ำเพ้อนั้น เป็นสิ่งที่สมควรได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เชิงสร้างสรรค์” ลอว์เรนซ์ กอสทิน (Lawrence Gostin) ผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุข บอกกับ บีบีซีนิวส์

“‘ฮู’ควรจะมีวิจารณญาณมากกว่านี้ และพิจารณาดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ใกล้ชิดมากขึ้นกว่านี้”

แต่เขาบอกด้วยว่า การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ “ฮู” คือความพยายามที่จะเบี่ยงเบนไม่ให้ถูกประณามกล่าวโทษสำหรับการที่สหรัฐฯเองไม่ได้มีการเตรียมพร้อมรับมือ

“ฮู” ระบุในคำแถลงตอบคำวิจารณ์ของทรัมป์ว่า ทางองค์การจะทบทวนการกระทำต่างๆ ของตน แต่ก็เสริมด้วยว่า คำชี้แนะทุกๆ อย่างของตนมีจุดมุ่งหมายที่จะจำกัดการติดต่อถ่ายทอดเชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์

และถึงแม้ “ฮู” ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการยกย่องสรรเสริญการตอบสนองของจีนในช่วงต้นๆ ที่ไวรัสนี้ระบาด (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.who.int/news-room/detail/30-01-2020-statement-on-the-second-meeting-of-the-international-health-regulations-%282005%29-emergency-committee-regarding-the-outbreak-of-novel-coronavirus-%282019-ncov%29 ) แต่ตัวทรัมป์เองก็ได้ยกย่องชมเชยจีนเช่นเดียวกัน ในทวิตที่เขาโพสต์เมื่อตอนรุ่งสางของวันที่ 25 มกราคม

อย่างไรก็ดี พวกเจ้าหน้าที่จีนในช่วงแรกๆ ก็มีความพยายามกันจริงๆ ที่จะปกปิดการระบาดในอู่ฮั่น และปิดปากผู้ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาแสดงความวิตกกังวล




ทรัมป์บอกว่า “ฮู” ให้คำแนะนำที่ผิดพลาด โดยองค์การนี้บอกว่า“ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องห้ามการเดินทาง” รวมทั้งยัง “ต่อสู้”กับสหรัฐฯซึ่งสั่งห้ามการเดินทางจากจีนและจากประเทศอื่นๆ

เป็นที่ชัดเจนว่า “ฮู”ไม่ได้เคยวิพากษ์วิจารณ์โดยตรงเกี่ยวกับวิธีการซึ่งสหรัฐฯใช้และมันขึ้นอยู่กับรัฐบาลของแต่ละประเทศที่จะใช้มาตรการจำกัดการข้ามพรมแดนหรือการเดินทางอย่างไรหรือไม่

แต่ที่ “ฮู” ทำแน่ๆ ก็คือการออกคำแนะนำเบื้องต้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม เสนอแนะไม่ให้จำกัดการเดินทางระหว่างประเทศแล้วยังย้ำคำแนะนำนี้อีกครั้งในวันเดียวกับที่ทางองค์การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเมื่อปลายเดือนมกราคม

“ฮู” กล่าวในตอนนั้นว่า “การจำกัดการเคลื่อนไหวของประชาชนและของสินค้าในระหว่างภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขนั้นในสถานการณ์ส่วนใหญ่แล้วใช้ไม่ได้ผล”

องค์การอนามัยโลกเชื่อว่าการปิดพรมแดนอาจกลับทำให้ประชาชนพยายามที่จะเดินทางกันอย่างผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น และดังนั้นก็เป็นไปได้ที่จะแพร่กระจายโรคติดต่อเพิ่มขึ้นแทนที่จะหยุดยั้งโรคติดต่อ

แต่คำแนะนำนี้ในท้ายที่สุดแล้วก็ถูกเพิกเฉยละเลยจากประเทศส่วนใหญ่รวมทั้งสหรัฐฯด้วย โดยที่ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา ทรัมป์สั่งห้ามผู้มีสัญชาติต่างประเทศทั้งหมดซึ่งเคยอยู่ในจีนในช่วงระยะเวลา14 วันก่อนหน้านั้น เดินทางเข้าสู่สหรัฐฯ

ทรัมป์บอกว่ามาตรการนี้ช่วยลดการแพร่เชื้อในสหรัฐฯ

และ น.พ.แอนโธนี เฟาซี (Dr Anthony Fauci)ที่ปรึกษาระดับท็อปด้านการแพทย์ของทำเนียบขาว ก็บอกว่า “การที่เราสั่งห้ามผู้ที่เดินทางมาจากจีนและเมื่อเร็วๆ นี้ยังห้ามผู้ที่เดินทางจากยุโรปด้วยนั้น มีผลอย่างมากมายในการป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้ามาหยั่งรากในประเทศของเรา”

อย่างไรก็ตามงานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยวารสาร เจอร์นัลออฟ อีเมอร์เจนซี แมเนจเมนต์ (Journal of Emergency Management)พบว่า การห้ามเดินทางนั้นได้ผลช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัสระลอกก่อนๆ อย่างเช่นอีโบลา และ ซาร์ส ก็เพียงในระยะสั้นเท่านั้น
(เก็บความจากเรื่อง Coronavirus: IsPresident Trump right to criticise the WHO? เขียนโดย Reality Check team BBC News https://www.bbc.com/news/world-us-canada-52294623)
กำลังโหลดความคิดเห็น