เอเอฟพี - นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ในวันพุธ (15เม.ย.) แถลงก้าวย่างแรกในการยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ที่กำหนดออกมาควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ขณะเดียวกัน มันก็ฉุดเศรษฐกิจของประเทศดิ่งสู่ภาวะถดถอย โดยอนุญาตให้ร้านค้าทั้งหมดกลับมาเปิดกิจการในสัปดาห์หน้า แต่สถาบันการศึกษายังต้องปิดการเรียนการสอนต่อไปจนถึงวันที่ 4 พฤษภาคม
“ร้านค้าต่างๆ ที่มีเนื้อที่ไม่เกิน 800 ตารางเมตร ได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง แต่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าร้านค้าเหล่านี้ต้องมีแผนรักษาไว้ซึ่งสุขอนามัย” แมร์เคิลบอกกับพวกผู้สื่อข่าวในเบอร์ลิน ในขณะที่เยอรมนีมองเห็นความสำเร็จในการชะลอการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ แม้ดูเหมือนจะเป็นความสำเร็จที่เปราะบางก็ตาม
“เราจำเป็นต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง” เธอกล่าวหลังจากประชุมกับผู้นำรัฐต่างๆ ทั้ง 16 รัฐของเยอรมนี เพราะฉะนั้นกฎระเบียบต่างๆ จะยังคงบังคับใช้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการรวมตัวในที่สาธารณะมากกว่า 2 คน ยกเว้นแต่สมาชิกในครอบครัวที่พักอาศัยอยู่ด้วยกัน
สถาบันการศึกษายังต้องปิดการเรียนการสอนต่อไปจนถึงวันที่ 4 พฤษภาคม แต่คำสั่งห้ามประกอบกิจกรรมสาธารณะที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากจะคงไว้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม เพื่อป้องกันการติดเชื้อหมู่
นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลได้ร้องขอให้ประชาชนสวมหน้ากากตอนที่ออกไปชอปปิ้งหรือบนระบบขนสางสาธารณะ แต่ไม่ถึงขั้นบังคับให้สวมใส่เหมือนกับชาติเพื่อนบ้านอย่างออสเตรีย
แมร์เคิลบอกว่าจะมีการทบทวนมาตรการผ่อนปรนนี้ทุก 2 หรือ 3 สัปดาห์ ภายใต้การจับตาอัตราการติดเชื้ออย่างใกล้ชิด
ในวันพุธ (15 เม.ย.) เยอรมนีพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียง 944 คน ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 133,154 คน และแม้จะมากสุดอันดับ 5 ของโลก แต่ในส่วนของตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสมนั้นมีแค่ 3,592 คน น้อยกว่าชาติอื่นๆ อย่างสหรัฐฯ, สเปน, อิตาลี และฝรั่งเศส รวมถึงสหราชอาณาจักรหลายเท่าตัว
เกี่ยวกับคำถามที่ว่าร้านค้าต่างๆ ที่จะกลับมาเปิดทำการนั้นจะต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเข้มข้นแค่ไหน แมร์เคิลตอบว่า “เราจำเป็นต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง เราไม่สามารถกลับมาเปิดกิจกรรมสาธารณะในย่านกลางเมืองต่างๆ โดยสมบูรณ์ เพราะว่าห่วงโซ่ของการแพร่ระบาดอาจโหมกระพือขึ้นมาใหม่”
“ฉันอยากขอบคุณพลเมืองทุกคนที่ยอมเปลี่ยนแนวทางการใช้ชีวิต ยอมสละการติดต่อทางสังคม ยอมจำกัดตนเอง ซึ่งน่ารักมาก ไม่ใช่เพราะพวกเขาต้องการทำในสิ่งที่รัฐบาลอยากให้ทำ แต่เพราะพวกเขาอยากช่วยคนอื่นๆ สิ่งที่แข็งแกร่งและสิ่งสำคัญของประเทศของเราก็คือประสบการณ์”
เยอรมนีก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่เกิดข้อถกเถียงหนักหน่วงว่าควรยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ที่ก่อความเสียหายอย่างรุนแรงแก่เศรษฐกิจหรือไม่ หลังจากเริ่มบังคับใช้มาตรการดังกล่าวมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม
นอกจากเสียงเรียกร้องขอให้ผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์แล้ว รัฐบาลยังต้องเผชิญแรงกดดันหนักหน่วงขึ้นจากภาคธุรกิจที่เรียกร้องให้มีแผนที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเดินเครื่องเศรษฐกิจ
“บริษัทต่างๆ ต้องการรู้โดยเร็วว่ามาตรการต่างๆ ใดบ้างจะถูกนำมาใช้เพื่อนำสู่การเริ่มต้นวิถีชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง” BDI สหพันธุ์อุตสหกรรมทรงอิทธิพล ระบุก่อนหน้าการตัดสินใจในวันพุธ (15 เม.ย.)