เอเอฟพี – องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยวานนี้ (13 เม.ย.) ว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งก่อให้เกิดโรค ‘โควิด-19’ มีความรุนแรงยิ่งกว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 เมื่อทศวรรษที่แล้วถึง 10 เท่าตัว และจำเป็นต้องมีการคิดค้นวัคซีนให้สำเร็จเพื่อยุติการแพร่ระบาด
เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการ WHO กล่าวระหว่างการประชุมทางไกลจากนครเจนีวา โดยระบุว่า WHO ได้เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมตลอดเวลาเกี่ยวกับเชื้อไวรัสที่คร่าชีวิตประชากรโลกไปแล้วเกือบ 115,000 คน และทำให้มีผู้ติดเชื้ออีก 1.9 ล้านคน
“เราทราบว่าโควิด-19 แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เราทราบว่ามันเป็นอันตรายถึงชีวิต ร้ายแรงกว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่เมื่อปี 2009 ถึง 10 เท่า” ผอ.อนามัยโลก ระบุ
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1 ซึ่งถูกพบเป็นครั้งแรกในเม็กซิโกและสหรัฐฯ เมื่อเดือน มี.ค. ปี 2009 คร่าชีวิตประชากรไปราวๆ 18,500 คนตามข้อมูลของ WHO ในขณะที่วารสารการแพทย์แลนซิต (Lancet) ประเมินตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วโลกระหว่าง 151,700-575,400 คน โดยรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตในแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
อย่างไรก็ดี เชื้อ H1N1 ซึ่งถูกประกาศเป็นโรคระบาดใหญ่ (pandemic) ในเดือน มิ.ย. ปี 2009 ไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่หวาดกลัวกันแต่แรก และการแพร่ระบาดได้สิ้นสุดลงในราวเดือน ส.ค. ปี 2010
หน่วยงานสาธารณสุขของตะวันตกโดยเฉพาะยุโรปได้เร่งผลิควัคซีนต้านเชื้อ H1N1 ออกมาอย่างรวดเร็ว และ WHO ถูกวิจารณ์ว่าทำตัวเป็น ‘กระต่ายตื่นตูม’ เนื่องจากไข้หวัดใหญ่คร่าชีวิตประชากรโลกราว 250,000-500,000 คนอยู่แล้วในทุกๆ ปี
ผอ.อนามัยโลกแสดงความเสียใจที่บางประเทศมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในระยะเวลาแค่ 3-4 วัน พร้อมย้ำว่าหากรัฐบาลทุกชาติยอมทุ่มทรัพยากรเพื่อ “ตรวจหาผู้ติดเชื้อแต่เนิ่นๆ, ทดสอบ, แยกกักและดูแลรักษาผู้ป่วย ตลอดจนติดตามบุคคลใกล้ชิด” ก็จะสามารถควบคุมการระบาดได้ในที่สุด
แม้ประชากรกว่าครึ่งโลกจะพร้อมใจกันเก็บตัวอยู่บ้านเพื่อลดการแพร่เชื้อ แต่ เทดรอส เตือนว่า “การติดต่อเชื่อมโยงระดับโลก (global connectedness) ทำให้มีโอกาสที่เชื้อไวรัสจะถูกนำเข้าไปแพร่ซ้ำ จนเกิดการระบาดระลอกใหม่”
ผอ.อนามัยโลกยังชี้ด้วยว่า ในขณะที่เชื้อโควิด-19 แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว “แต่การระบาดกลับชะลอตัวลงได้ช้ามาก” ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกประเทศจะต้อง “ทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคอย่างช้าๆ และไม่ควรยกเลิกทั้งหมดทีเดียว”
ทั้งนี้ ไม่ว่าแต่ละประเทศจะมีมาตรการยับยั้งเชื้อโรคอย่างไร แต่ท้ายที่สุด ‘วัคซีน’ ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเท่านั้นจึงจะยุติการระบาดของโควิด-19 ลงได้ ซึ่งก็คาดกันว่าจะต้องรอไปอีก 12-18 เดือนเป็นอย่างน้อย