รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ในวันศุกร์ (13 มี.ค.) ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติรับมือกับวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เปิดประตูสำหรับจัดสรรเงินช่วยจากรัฐบาลกลางราว 50,000 ล้านดอลลาร์ สู้กับไวรัสมรณะที่เขายอมรับว่ามันอาจส่งผลกระทบต่ออเมริกาสาหัสที่สุดเท่าที่เคยประสบมา
ทรัมป์ ทำการแถลงที่ลานสวนดอกกุหลาบภายในทำเนียบขาว ในความพยายามแสดงให้พลเมืองอเมริกาเห็นว่าเขากำลังจัดการกับวิกฤตด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่หลวงในเชิงรุก หลังก่อนหน้านี้พยายามปัดกระแสความกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามของโควิด-19 มาตลอดหลายสัปดาห์
“มันอาจเลวร้ายลง ดังนั้นในช่วง 8 สัปดาห์ข้างหน้าจึงสำคัญมาก” เขากล่าว “เพื่อปลดปล่อยศักยภาพของรัฐบาลกลางอย่างเต็มกำลังในความพยายามนี้ วันนี้ผมขอประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติ ความเคลื่อนไหวของผมจะช่วยเปิดทางสำหรับเข้าถึงเงินช่วยเหลือสูงสุด 50,000 ล้านดอลลาร์ เงินจำนวนมากที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับรัฐต่างๆและดินแดนทั้งหลาย หรือในระดับท้องถิ่น ในการต่อสู้กับโรคร้ายนี้ด้วยกัน”
“อาจเป็นพรสวรรค์หรือโชคชะตา หรืออะไรก็ตามที่คุณอยากเรียก หากทุกคนร่วมไม้ร่วมมือกันและต่างคนต่างเสียสละ ความมุ่งมั่นของคนในชาติ เราจะเอาชนะภัยคุกคามของไวรัสนี้ไปได้” ทรัมป์กล่าว
ตัวของทรัมป์เองได้สัมผัสใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบราซิลรายหนึ่งเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว (7 มี.ค.) ก่อนที่บุคคลดังกล่าวมีผลตรวจโควิด-19 ออกมาเป็นบวก โดยแม้ทำเนียบขาวยืนกรานเมื่อวันพฤหัสบดี (12 มี.ค.) ว่าทรัมป์ไม่แสดงอาการป่วยใดๆ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจโรคไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่
แต่ในถ้อยแถลงล่าสุด ทรัมป์เผยว่าเขาอาจจะเข้ารับการตรวจโรคเร็วๆ นี้ แต่ก็ย้ำเช่นกันว่าเขาไม่ได้แสดงอาการของคนติดเชื้อโควิด-19 ใดๆ
ที่ผ่านมา ทรัมป์ มักให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบเลวร้ายจากไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่ประสบหายนะจากกิจกรรมผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ในถ้อยแถลงในวันศุกร์ (13 มี.ค.) ทรัมป์ มุ่งเน้นไปที่ความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ของประชาชนเป็นสำคัญ
เขาเรียกร้องให้ทุกรัฐจัดตั้งศูนย์ฉุกเฉินเพื่อช่วยต่อสู้กับโคโรนาไวรัส “เราจะรื้อถอนหรือกำจัดทุกๆ อุปสรรคที่จำเป็น เพื่อดูแลประชาชนของเรา และองค์กรที่พวกเขาสังกัด ไม่มีทรัพยากรไหนที่จะสงวนไว้ เราจะทุ่มเททุกสรรพกำลังไม่ว่าอะไรก็ตาม”
ก่อนหน้านี้เกิดแรงกดดันถาโถมเข้าใส่ทรัมป์หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ให้เขาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโรคติดเชื้อภายใต้กฎหมายปี 1988 ซึ่งจะเปิดทางให้ สำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง (Federal Emergency Management Agency) จัดสรรงบภัยพิบัติแก่รัฐและรัฐบาลท้องถิ่น รวมถึงประจำการทีมสนับสนุน โดยอำนาจนี้ไม่ค่อยถูกใช้นัก โดยหนหลังสุดเป็นอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติรับมือกับไวรัสเวสต์ไนล์ในปี 2000
ทรัมป์บอกว่า รัฐบาลกลางกำลังร่วมมือกับภาคเอกเชนในการเร่งผลิตชุดตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อให้สามารถนำมาใช้กับประชาชนอเมริกาได้กว้างขวางขึ้น
เขาบอกว่าจะมีชุดตรวจไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ราวๆ 5 ล้านชุด แต่สงสัยว่ามันอาจไม่เพียงพอและเรียกร้องพลเมืองอเมริกันเสาะหาชุดตรวจโรคโควิด-19 เฉพาะกรณีที่รู้สึกว่ามีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น
นอกจากนี้แล้ว ทรัมป์เผยด้วยว่า รัฐบาลกลางจะละเว้นการเก็บดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการศึกษาและสั่งให้กระทรวงพลังงานฉวยโอกาสที่ราคาน้ำมันทรุดตัวอยู่ในระดับต่ำ เข้าซื้อเพื่อเติมเต็มคลังปิโตรเลียมสำรองทางยุทธศาสตร์ของประเทศ
ในวันพุธ (11 มี.ค.) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการจำกัดเข้มงวดต่างชาติที่เดินทางจากยุโรปเข้าสหรัฐฯ ตั้งแต่เที่ยงคืนวันศุกร์ (13 มี.ค.) ยกเว้นนักเดินทางจากสหราชอาณาจักรและชาติยุโรปที่ไม่ได้ร่วมระบบ “เชงเกน” ตลอดจนการขนส่งสินค้าจากยุโรป เพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโคโรนาที่องค์การอนามัยโลก ประกาศอย่างเป็นทางการครั้งแรกก่อนหน้านั้นในวันเดียวกันว่า เข้าสู่สถานการณ์เป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic)
อย่างไรก็ตาม ในถ้อยแถลงวันศุกร์ (13 มี.ค) ทรัมป์แย้มว่าเขากำลังพิจารณาเพิ่มเติมสหราชอาณาจักรในคำสั่งแบนนักเดินทางจากจากยุโรป ในขณะที่อังกฤษเตือนว่าอาจมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ในประเทศสูงสุด 10,000 คน
มาตรการต่างๆ ที่กำหนดออกมา มีขึ้นท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในยุโรป ด้วย เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ยอมรับว่า ตอนนี้ยุโรปกลายเป็น “ศูนย์กลาง” การแพร่ระบาดของโรคระบาดใหญ่ “โควิด-19” แล้ว
“ตอนนี้ยุโรปกลายเป็นศูนย์กลางของโรคระบาดใหญ่” เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าวระหว่างแถลงว่า พร้อมระบุว่าปัจจุบันทวีปยุโรปรายงานพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมากกว่าที่อื่นๆ ของโลกรวมกัน ยกเว้นจีน
จากการนับของเอเอฟพี พบว่ายอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลก เพิ่มขึ้นมากกว่า 5,000 ศพแล้ว ในนั้นเกือบ 1,500 รายอยู่ในยุโรป ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั้งหมดขยับขึ้นเกิน 140,000 คนแล้ว
อิตาลี, สเปน เช่นเดียวกับอิหร่าน ซึ่งโผล่ขึ้นมาเป็นจุดล่อแหลมของโลก พบตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขี้นอย่างน่าตกตะลึงในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ขณะที่เคนยา และเอธิโอเปีย ยืนยันพบผู้ติดเชื้อเป็นรายแรกของแต่ละชาติ ซึ่งถือเป็น 2 เคสแรกในแอฟริกาตะวันออก ส่วนสหรัฐฯ นั้นจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 1,875 คน และเสียชีวิต 41 ราย