xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’เตรียมทุ่มลงทุน‘โครงสร้างพื้นฐาน’รอบใหม่ ฟื้นเศรษฐกิจหลัง‘โควิด-19’สงบลง

เผยแพร่:   โดย: หวง ว่านอี้


<i>งานก่อสร้างเริ่มขึ้นอีกครั้ง ในโครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ฉางอี้ชาง (Changyichang high-speed rail)  ที่เมืองฉางซา มณฑลหูหนาน เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (ภาพจากสำนักข่าวซินหัว) </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Infrastructure projects to boost China’s economy
By Huang Wanyi
10/03/2020

รัฐบาลส่วนกลางในปักกิ่งเรียกร้องให้ดำเนินการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานรอบใหม่ เพื่อกอบกู้ฟื้นชีพเศรษฐกิจของจีน ขณะที่มีความคิดกันว่าควรโฟกัสที่ “โครงสร้างพื้นฐานแบบใหม่” เช่น 5จี, ปัญญาประดิษฐ์, อินเทอร์เน็ตในสรรพสิ่ง

จากการที่สถานการณ์โรคระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจีน กำลังค่อยๆ กระเตื้องดีขึ้นมา การฟื้นตัวของธุรกิจก็กำลังเร่งตัวขึ้นเช่นกัน เมื่อเร็วๆ นี้ มณฑล, นคร, และเขตปกครองตนเองจำนวนมากต่างประกาศแผนการที่จะลงทุนในโครงการสำคัญๆ ในปี 2020

นับถึงวันที่ 1 มีนาคม มีนครใหญ่และมณฑลรวม 13 แห่ง ในจำนวนนี้มีทั้งกรุงปักกิ่ง, นครเซี่ยงไฮ้, และมณฑลฝู่เจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ได้เผยแพร่แผนการการลงทุน และ โครงการก่อสร้าง “โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ” สำหรับปี 2020 ออกมา ทั้งนี้ตามข้อมูลซึ่งรวบรวมโดย เดอะ ทเวนตี้เฟิร์สต์ เซนจูรี บิสซิเนส เฮอรัลด์ (21st Century Business Herald) สื่อจีนที่ตั้งฐานอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง

มีอยู่ 8 นครและมณฑลได้ประกาศตัวเลขงบประมาณการลงทุนของพวกตนออกมาแล้ว ซึ่งรวมทั้งสิ้นมีจำนวนเท่ากับ 33.83 ล้านล้านหยวน (4.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

สำหรับอีก 8 มณฑลได้ระบุตัวเลขที่จะทำการลงทุนของพวกเขา ซึ่งรวมแล้วจะเป็นจำนวน 2.79 ล้านล้านหยวน ทว่ายังไม่ได้ประกาศแผนการต่างๆ ของพวกเขาออกมาให้ทราบกัน

จีนวางแผนจะสร้างประโยชน์อย่างเต็มที่จากการลงทุนเหล่านี้ รวมทั้งจากการเริ่มต้นโครงการการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มเติม และการเร่งรัดการก่อสร้างโครงสร้างที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้ตามคำแถลงของกรมการเมือง (Political Bureau) แห่งคณะกรรมการกลาง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ภายหลังการประชุมหารือในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

“ทำยังไงจึงจะสามารถชดเชยแก้ไขผลกระทบทางลบที่มีต่อเศรษฐกิจของโรคระบาดนี้? วิธีการซึ่งง่ายที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุดก็คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน” เหริน เจ๋อผิง (Ren Zeping) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยเอเวอร์แกรนด์ (Evergrande Research Institute) กล่าวในบทความชิ้นหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ โดยที่ทีมวิจัยของเหรินระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่จะเริ่มต้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานรอบใหม่

หากมองย้อนกลับไปเมื่อครั้งวิกฤตทางการเงินเอเชียในปี 1998 (ที่เมืองไทยนิยมเรียกกันว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” -ผู้แปล) จีนได้ออกพันธบัตรคลังพิเศษเพิ่มเติมขึ้นมา เพื่อลงทุนในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ต่อมาระหว่างวิกฤตทางการเงินทั่วโลกในปี 2008 (ซึ่งในไทยมีผู้เรียกว่า “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” –ผู้แปล) จีนก็เปิดฉากดำเนินการลงทุนทางเศรษฐกิจอย่างขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน ถึงแม้ในเวลานั้นได้เกิดการโต้เถียงขัดแย้งและเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างอึงคะนึงก็ตามที ปรากฏว่ามาตรการเหล่านี้ต่างมีความสำคัญมากอย่างโดดเด่นเป็นพิเศษทีเดียว

“ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ‘เมดอินไชน่า’ (Made in China) จะบรรลุระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างเข้มแข็งถึงขนาดเช่นนี้ได้อย่างไร ถ้าหากไม่ได้มีการก่อสร้างพวกโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานของมันเอาไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว?” เหริน เจ๋อผิง ตั้งคำถาม

โครงสร้างพื้นฐานระลอกใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นมา ปรากฏว่าได้ถูกสะท้อนเอาไว้แล้วในราคาซื้อขายของพวกหุ้นระดับ เอ (A-shares) (หุ้นภายในประเทศที่กำหนดราคาซื้อขายเป็นสกุลหยวน ณ ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ และตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.investopedia.com/terms/a/a-shares.asp -ผู้แปล) โดยเมื่อวันที่ 3 มีนาคม อันเป็นวันเปิดการซื้อขายวันแรกในเดือนมีนาคมนั้น พวกบริษัทในภาคโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ มีราคาพุ่งพรวดจนแตะเพดานสูงสุดที่กฎกติกาของตลาดอนุญาตให้ขึ้นไปได้ในแต่ละวัน

ในบรรดาหุ้น 28 ตัวซึ่งนำมาใช้คำนวณเป็นดัชนีเซินอิ๋น ว่านกั๋ว เกรด-วัน คอมพานี อินเด็กซ์ (Shenyin Wangou grade-one company indices) ภาคก่อสร้างและภาควัสดุออกแบบภายใน เป็นภาคที่เพิ่มสูงขึ้นไปกว่า 8% ส่วนหุ้นของ ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรักชั่น (China Railway Construction) และ ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป (China Railway Group) เพิ่มขึ้นติดเพดาน 10% ขณะที่ ไชน่า สเตท คอนสตรักชั่น เอนจิเนียริ่ง คอร์ป (China State Construction Engineering Corp) สูงขึ้น 8.57%

วันที่ 4 มีนาคม ภาควิศวกรรมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานแบบดั้งเดิม บินสูงขึ้นไปแล้ว 21.10% เมื่อเทียบจากระดับที่เคยอยู่ต่ำสุดเมื่อเร็วๆ นี้นั่นคือวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ทั้งนี้ตามข้อมูลซึ่งรวบรวมโดย ซิน่า ไฟแนนซ์ (Sina Finance)

ขณะที่ดัชนีหุ้นรวมของตลาดเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Composite Index) กำลังลอยอยู่แถวๆ ระดับ 3,000 จุด โดยที่พวกหุ้นเทคโนโลยี เป็นต้นว่า ผู้ผลิตชิปและเซมิคอนดักเตอร์ กำลังเผชิญแรงกดดันขาลงอยู่นั้น พวกบริษัทโครงสร้างพื้นฐานซึ่งดำเนินการตามแนวคอนเซ็ปต์ของเทคโนโลยี 5จี และพวกเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง (cloud computing) กลับสามารถทำได้ดีกว่าดัชนีตลาด และพุ่งสูงขึ้น 23.25% ในช่วงระยะเวลา 1 เดือนซึ่งสิ้นสุดวันที่ 4 มีนาคม

“หลังจากโรคระบาดในปี 2020 นี้ผ่านพ้นไปแล้ว แน่นอนทีเดียวว่าจะมีการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานรอบใหม่ในประเทศจีน ทว่าโฟกัสจะปรับเปลี่ยนจากพวกโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิมๆ มาเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลของเจเนอเรชั่นใหม่” จาง หย่ง (Zhang Yong) ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มอาลีบาบา (Alibaba Group) กล่าวระหว่างการแถลงข่าวว่าด้วยการกระตุ้นส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจในท่ามกลางโรคระบาด ที่เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง เมืองที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของอาลีบาบา เมื่อวันที่ 2 มีนาคม

หลังจากผ่านโรคระบาด โควิด-19 ไปแล้ว การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะเป็นตัวขับดันการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้น จะไม่ใช่เพียงแค่พวกวัสดุเดิมๆ เป็นต้นว่า ปูนซีเมนต์ และเหล็กกล้า แต่ยังจะมีพวกส่วนประกอบของ “โครงสร้างพื้นฐานอย่างใหม่” เป็นต้นว่า 5จี, ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ), และ อินเทอร์เน็ตในสรรพสิ่ง (Internet of Things)

เหรินบอกว่า ควรจะต้องนำเอาความคิดจิตใจอย่างใหม่มาประยุกต์ใช้ในเวลาพิจารณาบรรดาโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานในระยะเวลาต่อจากนี้ไป เขาย้ำว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการปฏิรูปและสร้างนวัตกรรม แทนที่จะเพียงแค่หวนกลับคืนไปสู่เส้นทางเก่าๆ ซึ่งได้เคยส่งผลทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรไปอย่างไร้ประโยชน์ และสร้างปรากฏการณ์จำพวกการก่อสร้าง “เมืองปีศาจ” หรือโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีอัตราใช้สอยต่ำและไม่คุ้มค่า

ในบทความชิ้นหนึ่งซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พวกนักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ ซิติกซีเคียวริตี้ (CITIC Securities) ทำนายว่า การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในจีนสำหรับปี 2020 จะเติบโตในระดับ 9-10% เมื่อพิจารณาการการที่รัฐบาลส่วนกลางได้พูดถึงอ้างอิงครั้งแล้วครั้งเล่าเกี่ยวกับการลงทุนดังกล่าวนี้

ถึงแม้ในด้านหนึ่ง ผลกระทบจากโรคระบาดคราวนี้ รวมทั้งนโยบายต่างๆ ซึ่งทำให้รายได้จากภาษีและจากค่าธรรมเนียมต่างๆ ต้องลดน้อยลงไป จะเป็นตัวสร้างแรงบีบคั้นให้แก่การเงินของรัฐบาล โดยที่อัตราส่วนการขาดดุลอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 3% ทีเดียว แต่ในอีกด้านหนึ่ง ด้วยรายรับจากการขายที่ดินของพวกกองทุนรัฐบาล ก็ยังคงสามารถที่จะอุดหนุนชดเชยส่วนที่ยังขาดอยู่ในเรื่องเงินทุนสำหรับการดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐาน

พันธบัตรคลังพิเศษของจีนจะมีขนาดเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 3.2 ล้านล้านหยวนในปี 2020 จาก 2.6 ล้านล้านหยวนในปีที่แล้ว ซิติกซีเคียวริตีส์ บอก พร้อมระบุด้วยว่า โครงสร้างพื้นฐานจะมีสัดส่วนราว 45% ของพันธบัตรคลังพิเศษที่ออกมาจำหน่ายกันในปีนี้

ข้อเขียนนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในเว็บไซต์เอเชียไทมส์ภาษาจีน ATimesCN.com และแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย สีว์ เย่ว์ไน (Xu Yuenai)
กำลังโหลดความคิดเห็น