รอยเตอร์ - องค์กรสิทธิแรงงานเรียกร้องให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ลดอันดับไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2020 โดยอ้างว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ดำเนินการคืบหน้าในการปกป้องแรงงานภาคประมงและสิ่งทอ
ไทย ซีฟู้ด เวิร์คกิง กรุ๊ป (Thai Seafood Working Group - SWG) ซึ่งประกอบด้วย องค์กรด้านสิทธิแรงงาน, สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อมเกือบ 60 กลุ่ม ที่ร่วมกันทำงานเพื่อยับยั้งการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมงของไทย ระบุว่า รัฐบาลไทยไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบที่รุนแรง
“ไทยยังคงเป็นประเทศที่แรงงานถูกล่วงละเมิดและฉกฉวยผลประโยชน์... โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการประมงและสิ่งทอ” เอสเมอรัลดา โลเปซ ผู้อำนวยการ อินเทอร์เนชันแนล เลเบอร์ ไรต์ส ฟอรัม (International Labour Rights Forum) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก SWG ระบุ
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ หลังมีการตรวจสอบพบว่าแรงงานถูกล่วงละเมิดอย่างกว้างขวาง กระทั่งสหภาพยุโรปขู่จะระงับนำเข้าอาหารทะเลจากไทย
ปีที่แล้วสหรัฐฯ จัดอันดับไทยเอาไว้ที่ ‘เทียร์ 2’ ในรายงานประเมินสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ Trafficking in Persons Report (TIP) โดยระบุว่า ไทยได้เพิ่มความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการต่อต้านอาชญากรรมประเภทนี้
อย่างไรก็ดี SWG ได้เผยแพร่รายงานเรียกร้องให้สหรัฐฯ ลดอันดับไทยลงไปอยู่ที่ ‘เทียร์ 2 เฝ้าระวัง’ (Tier 2 Watch List) ซึ่งหมายถึงกลุ่มประเทศที่ไม่ได้มาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดปัญหาค้ามนุษย์ และสมควรถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ
SWG ชี้ว่า รัฐบาลไทยยังขาดความคืบหน้าในประเด็นสำคัญๆ เช่น จำนวนเหยื่อบังคับใช้แรงงาน, การตรวจสอบแรงงาน, การช่วยเหลือผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์, ปัญหาหนี้สินของแรงงาน และการที่แรงงานถูกนายจ้างยึดหนังสือเดินทาง
รายงานฉบับนี้ยังอ้างว่า รัฐบาลไทยไม่มีมาตรการปกป้องแรงงานและนักเคลื่อนไหวด้านแรงงานที่ออกมาเปิดโปงการล่วงละเมิด ขณะที่แรงงานอพยพก็ไม่ได้รับสิทธิ์ทางกฎหมายที่จะรวมตัวจัดตั้งองค์กรเพื่อต่อรองเงื่อนไขการทำงานที่ดีขึ้น
องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เผยแพร่รายงานเมื่อวันอังคาร (10 มี.ค.) ระบุว่า สภาพแวดล้อมการทำงานในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังพบปัญหาการล่วงละเมิดขั้นรุนแรงอยู่
เกือบ 10% ของแรงงานไทย, พม่า และกัมพูชา ในภาคประมงและอาหารทะเลที่นักวิจัย ILO ได้เข้าไปสำรวจความคิดเห็น ยอมรับว่า พวกเขาเคยตกเป็นเหยื่อการบังคับใช้แรงงานมาก่อน
“ผลการศึกษาเหล่านี้บ่งบอกว่ายังมีแรงงานหลายหมื่นคนในภาคประมงและการแปรรูปอาหารทะเลไทย ที่ต้องทำงานในสภาพถูกบีบบังคับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้” นักวิจัย ILO ระบุ