รอยเตอร์ - นักวิจัยระบุ ความพยายามปกป้องแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยจากการขูดรีดแรงงานและความเสี่ยงในการตกเป็นทาสยุคใหม่ เจออุปสรรคใหญ่เนื่องจากผู้ค้าปลีกและแบรนด์อินเตอร์ฯส่วนมากไม่ยอมจ่ายเพิ่มให้ซัปพลายเออร์เพื่อปฏิบัติตามนโยบายใหม่ในการต่อต้านระบบแรงงานทาส
ผลศึกษาจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน “แพร็กซิส แล็บส์” ที่เผยแพร่ออกมาในวันพุธ (4 ธ.ค.) ระบุว่า ซัปพลายเออร์อาหารทะเลของไทยกำลังเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น อันเป็นผลจากความพยายามในการปรับปรุงสภาพการทำงานของคนงาน รวมทั้งการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับใหม่ในการต่อต้านระบบแรงงานทาส ขณะที่ซัปพลายเออร์เหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากลูกค้ารายใหญ่น้อยมากหรือกระทั่งไม่ได้รับเลย
ซาราห์ เมาต์ จากกลุ่มต่อต้านแรงงานทาส “เดอะ ฟรีด้อม ฟันด์” ซึ่งร่วมให้การสนับสนุนทางการเงินในการจัดทำรายงานฉบับนี้ที่อิงกับนโยบายและการดำเนินการของบริษัท 28 แห่ง กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ซื้อต้องการและสิ่งที่พวกเขายินดีจ่ายนั้นแตกต่างกันอย่างมาก
เมาต์เสริมว่า ความรับผิดชอบต่อต้นทุนในการปกป้องแรงงานจากการขูดรีดและการบังคับใช้แรงงาน ควรได้รับการจัดสรรอย่างเท่าเทียมตลอดสายห่วงโซ่มูลค่า
ทั้งนี้ ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ไทยพยายามแก้ไขฟื้นฟูภาพลักษณ์อุตสาหกรรมประมงที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ของประเทศ หลังการตรวจสอบพบว่า มีการล่วงละเมิดแรงงานอย่างแพร่หลาย และสหภาพยุโรปขู่แบนการนำเข้าอาหารทะเลจากไทย
ไทยออกกฎหมายใหม่หลายฉบับเพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และการปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าว และเพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลสามารถตอบสนองผู้ซื้อที่ให้ความสำคัญกับแนวทางปฏิบัติที่มีจริยธรรมมากขึ้น
ช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยปรับปรุงกรอบโครงกฎหมายควบคุมการทำประมงครั้งใหญ่ รวมถึงกำหนดกฎเกณฑ์สำหรับบริษัทจัดหางาน ปรับปรุงกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ให้ทันสมัยขึ้นเพื่อครอบคลุมแรงงานบังคับ และดำเนินการตรวจสอบการทำประมงเข้มงวดขึ้น
กระนั้น รายงานของแพร็กซิส แล็บส์ระบุว่า กฎหมายและข้อบังคับใหม่ๆ ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ลูกค้าซึ่งเป็นกิจการข้ามชาติส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะจ่ายเพิ่ม
“ซัปพลายเออร์ไทยได้รับเงินสนับสนุนสำหรับการตรวจสอบทางสังคมอย่างไร้จุดหมาย แต่ไม่ได้รับเงินเลยสำหรับการปรับปรุงสภาพการทำงาน และไม่มีรายงานการขึ้นราคา” รายงานแจกแจง
ผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยที่เป็นตัวแทนบริษัทแปรรูปอาหารทะเลกว่า 100 แห่ง กล่าวว่า ผู้ซื้อส่วนใหญ่แค่กังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำด้านจริยธรรม แต่ให้ความสำคัญกับราคามากกว่า
เขาเสริมว่า เคยหยิบยกปัญหานี้หารือแล้ว ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ซื้อบังคับให้ซัปพลายเออร์ปฏิบัติตามมาตรฐานบางประการแต่ไม่ยอมให้ความช่วยเหลือใดๆ
ทางด้านสมาคมผู้ค้าปลีกไทยที่มีสมาชิกรวมถึงผู้ซื้ออาหารทะเลที่เป็นกิจการข้ามชาติรายใหญ่ และกลุ่มซีฟู้ด ทาสก์ ฟอร์ซ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจและมูลนิธิที่ตรวจสอบเรือประมงเพื่อหยุดยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่พร้อมแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้
รายงานทิ้งท้ายว่า หากผู้ซื้อไม่ยอมจ่ายแพงขึ้น อุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยอาจจบลงด้วยการเผชิญปัญหาการละเมิดสิทธิ์แรงงานต่อไป แม้หลายฝ่ายให้ความสนใจปัญหานี้มากขึ้นก็ตาม