(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
A world no longer shaped by Atlantic powers
By M.K.Bhadrakumar
29/02/2020
การประชุมความมั่นคงมิวนิก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คือสัญญาณที่ชัดเจนยิ่งขึ้นอีก ถึงความไร้ความเป็นเอกภาพกันระหว่างสหรัฐฯกับพวกพันธมิตรของอเมริกันในยุโรป ขณะเดียวกันก็บ่งชี้ให้เห็นระเบียบโลกใหม่ที่กำลังปรากฏขึ้นมา โดยที่ “ตะวันตก” ไม่ใช่ผู้ครอบงำเวทีอีกต่อไป
การประชุมความมั่นคงมิวนิก (Munich Security Conference) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเมืองมิวนิก เมืองเอกของรัฐบาวาเรีย ทางภาคใต้ของเยอรมนี โดยที่ในปีนี้มีขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่าได้กลายเป็นเหตุการณ์อันโด่งดัง และทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับเวทีประชุมนี้เมื่อคราวซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2007 ซึ่งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยในเชิงพยากรณ์อนาคต [1]โดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ระเบียบโลกในปัจจุบัน ซึ่งลักษณะโดดเด่นอยู่ที่การมีฐานะเป็นเจ้าใหญ่นายโตระดับโลกของสหรัฐฯ และการที่สหรัฐฯ “ใช้กำลัง –ครับ กำลังทางทหาร—อย่างคลั่งไคล้ชนิดแทบไม่มีการควบคุมบันยะบันยังกันเลย ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”
ถ้าหากคำปราศรัยที่มิวนิกปี 2007 ของปูติน เป็นการมองเห็นล่วงหน้าเกี่ยวกับสงครามเย็นครั้งใหม่ที่กำลังปรากฏขึ้นมา ตลอดจนความตึงเครียดต่างๆ ที่พุ่งพรวดในความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับฝ่ายตะวันตกแล้ว อีก 13 ปีถัดมา ณ การประชุมมิวนิกในปีนี้ เราก็สามารถพบเห็นว่า สายสัมพันธ์สองฟากฝั่งแอตแลนติก (trans-Atlantic ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับยุโรป ซึ่งอยู่คนละด้านของมหาสมุทรแอตแลนติก ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Transatlantic_relations ผู้แปล) ซึ่งได้วิวัฒนาการผ่านสงครามโลกทั้งสองครั้งในคริสต์ศตวรรษที่แล้ว และชูช่อเบ่งบานในฐานะที่เป็นการรวมกลุ่มพันธมิตรซึ่งเจริญเติบโตเต็มที่นั้น อาจจะกำลังมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่ออีกคำรบหนึ่ง
ความสัมพันธ์สองฟากฝั่งแอตแลนติกนี้กำลังปรากฏรอยแตกแยกร้าวฉานอย่างล้ำลึกขึ้นมา
ในคำปราศรัยเปิดการประชุมอันพิเศษยิ่งกว่าธรรมดาสำหรับเวทีความมั่นคงมิวนิกคราวนี้ ประธานาธิบดีเยอรมนี ฟรังก์-วัลเทอร์ สไตน์ไมเออร์ (Frank-Walter Steinmeier) ที่ยังคงเป็นผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงการทูตของยุโรป ได้กล่าวหาวอชิงตันว่า กำลังปฏิเสธ “แนวความคิดแท้ๆ ของเรื่องประชาคมระหว่างประเทศ” [2]
สไตน์ไมเออร์ยอมรับว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองฟากฝั่งแอตแลนติกไม่มีทางที่จะสามารถหวนกลับคืนไปสู่ช่วงวันชื่นคืนสุขเฉกเช่นอดีตอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากยุโรปกับสหรัฐฯ ต่างกำลังลอยตัวถอยห่างออกจากกันและกันมากขึ้นเรื่อยๆ เขาเตือนว่า “ถ้าหากโครงการยุโรป (การก้าวไปสู่ความเป็นเอกภาพของยุโรป) ประสบความล้มเหลวแล้ว บทเรียนต่างๆ ของประวัติศาสตร์เยอรมนี หรือบางทีกระทั่งของประวัติศาสตร์ยุโรปด้วย ก็จะถูกตั้งคำถามแสดงความข้องใจสงสัย”
ถึงแม้กล่าวเช่นนี้ แต่สไตน์ไมเออร์ก็ไม่ได้ประกาศเรียกร้องว่ายุโรปจะต้องเดินหน้าไปด้วยลำพังตนเองแล้ว ตรงกันข้าม เขาเสนอว่า “มีแต่ยุโรปซึ่งสามารถและต้องการที่จะพิทักษ์ปกป้องตนเองได้อย่างน่าเชื่อถือเท่านั้น จึงจะสามารถรักษาให้สหรัฐฯยังคงอยู่ในกลุ่มพันธมิตรได้”
ทว่าเขารู้สึกเสียใจที่ “ยุโรปไม่ได้มีความสำคัญถึงขั้นเป็นตายสำหรับสหรัฐฯอย่างที่เคยเป็นมาเสียแล้ว เราต้องระมัดระวังต่อต้านมายาภาพที่ว่า การที่สหรัฐฯกำลังลดความสนใจในยุโรปลงทุกทีนั้นเป็นเพียงสิ่งซึ่งเกิดขึ้นจากคณะบริหาร (โดนัลด์ ทรัมป์) ชุดปัจจุบัน เท่านั้น ... เนื่องจากเราทราบกันดีว่าการปรับเปลี่ยนเช่นนี้ได้เริ่มต้นขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว และจะดำเนินต่อไปอีกแม้กระทั่งภายหลังจากคณะบริหารชุดนี้”
ท้องเรื่องหลัก (ธีม) ว่าด้วยความเป็นอิสระของยุโรป –ยุโรปกำลังกลายเป็นมหาอำนาจสำคัญยิ่งทั้งทางยุทธศาสตร์และทางการเมือง— ก็เป็นแกนความคิดสำคัญในคำปราศรัยของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส [3] ผู้นำเอาพลวัตที่หาได้ยากยิ่งเข้ามาสู่การอภิปรายว่าด้วยยุโรป และกำลังต่อสู้อย่างคึกคักเพื่อให้ได้มาซึ่งนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงที่เป็นนโยบายร่วมของยุโรป ทั้งนี้พวกผู้วางนโยบายของเยอรมนีส่งสัญญาณว่ามีความเห็นพ้องอย่างกว้างๆ กับไอเดียของมาครงที่ว่ายุโรปต้องเข้าแบกรับโชคชะตาของตนเอง
ในทางตรงกันข้าม รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ [4] ได้ยืนกรานก่อนหน้านั้นว่า การพูดจาเกี่ยวกับเรื่องการสิ้นชีพของโลกตะวันตกนั้น “เป็นการพูดเกินเลยความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง” และ ความเป็นจริงแล้ว “โลกตะวันตกกำลังเป็นผู้ชนะ พวกเรากำลังเป็นผู้ชนะร่วมกัน พวกเรากำลังทำสิ่งนี้ขึ้นมาด้วยกัน” [5]
ความไม่เป็นเอกภาพของโลกตะวันตก
เวลาเดียวกันนั้น ยังมีท้องเรื่องรอง (ซับพล็อต) 2 เรื่องซึ่งคอยโผล่ขึ้นมาเป็นระยะระหว่างการประชุมถกเถียงกันคราวนี้ ได้แก่ หนึ่ง ลัทธิพหุนิยม (multilateralism) ในระบบระหว่างประเทศยังคงเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามีความหมาย และ สอง ความห่วงกังวลอย่างล้ำลึกเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงของทั่วโลกในปัจจุบัน
สไตรไมเออร์ตีกรอบชี้ถึงความวิตกกังวลดังกล่าวนี้เอาไว้อย่างคมคายชัดเจน โดยกล่าวว่า “แนวความคิดเกี่ยวกับประชาคมระหว่างประเทศนั้นยังไม่ได้ล้าสมัย” และกล่าวอีกว่า “การถอนตัวกลับเข้าไปซุกซ่อนอยู่ภายในเปลือกแห่งชาติของพวกเรา จะนำพาเราไปสู่ทางตันที่ไร้อนาคต เข้าไปสู่ยุคมืดอย่างแท้จริง”
พิจารณาโดยภาพรวมแล้ว การแลกเปลี่ยนประคารมกันอย่างรุนแรงระหว่างพวกยุโรปกับตัวแทนบางคนของฝ่ายอเมริกันเหล่านี้ [6] กลายเป็นเครื่องยืนยันยิ่งกว่าที่แล้วๆ มาถึงความอ่อนแอและความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของโลกตะวันตก รายงานข่าวเกี่ยวกับการประชุมความมั่นคงมิวนิกครั้งนี้ของสื่อออนไลน์ “โพลิติโค” (Politico) [7] ชี้เอาไว้ว่า “ทั้งสองฝ่ายไม่ได้เพียงแค่เหินห่างกันมาก เกี่ยวกับพวกคำถามใหญ่ๆ ที่กำลังเผชิญหน้าโลกตะวันตก (ภัยคุกคามจากรัสเซีย, อิหร่าน, จีน) เท่านั้น หากแต่พวกเขาถึงขนาดอยู่ในจักรวาลคู่ขนานกัน ไม่ได้อยู่ในจักรวาลเดียวกันด้วยซ้ำ”
ประเด็นปัญหาสำคัญประเด็นหนึ่งซึ่งสร้างความแตกแยกที่มิวนิก ได้แก่ จีน ทั้งนี้ ไม่ว่า พอมเพโอ หรือ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ มาร์ก เอสเปอร์ ต่างไม่ปล่อยให้เหลือข้อสงสัยข้องใจใดๆ เอาไว้เลย [8] ว่า วอชิงตันพิจารณาเห็นว่าจีนกำลังกลายเป็นพลังแห่งความชั่วร้ายพลังหนึ่งในโลก เป็นตัวแทนของภัยคุกคามระยะยาวที่สำคัญ ทว่าทัศนะเช่นนี้พวกประเทศจำนวนมากในสหภาพยุโรปไม่ได้เออออเห็นพ้องด้วย
คำถามที่ซ่อนอยู่เบื้องลึกลงไปก็คือ ทางพันธมิตรโลกตะวันตกควรใช้ท่าทีอย่างไรต่อจีน ซึ่งเป็นคำถามระดับรากฐานคำถามหนึ่งที่มีผลพวงต่อเนื่องอย่างกว้างไกล ยุโรปนั้นมีความวิตกอย่างลึกซึ้งว่าการปฏิเสธปักกิ่งจะบังเกิดผลพวงต่อเนื่องต่อการค้าและการลงทุนอย่างไรบ้าง
ดูจะเป็นที่ปรากฏออกมาในที่ประชุมนี้ว่า ไม่ได้มีการยอมรับคำร้องขอของ พอมเพโอ ที่จะให้ถือจีนเป็นศัตรูรายใหม่ การที่เขาใช้ความพยายามอย่างระมัดระวังเพื่อต่อต้านคัดค้านประเทศต่างๆ ที่จะยินยอมให้ หัวเว่ย บริษัทเทคสัญชาติจีนเข้ามีส่วนร่วมในการนำเอาเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมเจเนอเรชั่นที่ 5 (5จี) ออกมาใช้งาน [9] ปรากฏว่าเผชิญกับความเงียบเฉยไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึกใดๆ จากพวกพันธมิตรยุโรป นโยบายที่มีต่อจีนนี้สามารถกลายเป็นปัจจัยใหญ่ที่สุดซึ่งสร้างความแตกแยกร้าวฉานให้แก่ความสัมพันธ์สองฟากฝั่งแอตแลนติก
โลกตะวันตกจะสามารถกอบกู้ฟื้นคืนอิทธิพลของตนได้หรือไม่?
ความยุ่งยากซับซ้อนของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า พร้อมๆ กับความมั่งคั่งร่ำรวยทางวัตถุของตะวันตกเสื่อมทรุดลงไป และคุณค่าต่างๆ ทางศีลธรรมของตะวันตกก็กำลังตกต่ำ ศักยภาพความสามารถที่จะสร้างอิทธิพลจึงย่อมหดลดลงมาด้วย ไม่เพียงเท่านี้ รูปแบบขององค์กรทางเศรษฐกิจแบบตะวันตกก็ไม่ได้มีเสน่ห์ดึงดูดใจเหมือนกับที่เคยมีอยู่ในอดีตอีกต่อไปแล้ว นอกจากนั้น จากการก้าวผงาดขึ้นมาของจีน, การพัฒนาอย่างรวดเร็วของอินเดีย, และการฟื้นคืนกลับมาของรัสเซีย จึงกำลังเกิดการก่อรูปขึ้นมาใหม่ของมหาอำนาจในระดับโลกอย่างมีพลวัต
จากการที่มหาอำนาจเกิดใหม่เหล่านี้และมหาอำนาจเกิดใหม่รายอื่นๆ เติบโตเข้มแข็งขึ้นไปเรื่อยๆ สภาพของกระจายตัวของอำนาจและอิทธิพลย่อมมีแต่จะยิ่งเร่งทวีขึ้น และโลกตะวันตกจึงไม่น่าที่จะสามารถรื้อฟื้นอิทธิพลอันเหนือล้ำครอบงำฝ่ายอื่นๆ ซึ่งตนเองเคยมีอยู่ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ให้กลับฟื้นคืนมาได้อีก
สหรัฐฯดูถูกดูหมิ่นลัทธิพหุนิยม
อิทธิพลที่เสื่อมทรุดลงไปเรื่อยๆ ของโลกตะวันตกเช่นนี้ อาจสามารถชะลอตัวลงได้ แม้เพียงแค่มี “โลกตะวันตกใหม่” ที่นำโดยยุโรป ซึ่งรวบรวมอำนาจและคุณค่าต่างๆ เข้าไปประสานสมทบกับมหาอำนาจอื่นๆ อย่างเช่น อินเดีย หรือ ญี่ปุ่น เพื่อสร้างกลุ่มพันธมิตรระดับโลกขึ้นมา ทว่าช่องโหว่สำคัญที่ขาดหายไปประการหนึ่งซึ่งยากที่จะเต็มเติม ได้แก่ การที่สหรัฐฯรังเกียจหยามเหยียดลัทธิพหุนิยมและระเบียบโลกที่อิงอยู่กับกฎกติกา
ในทำนองเดียวกัน แรงผลักดันของวอชิงตันที่จะอาศัยการต่อรองแลกเปลี่ยนต่างๆ มาหนุนส่งการเผชิญหน้าระดับทวิภาคีของตน –ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญหน้ากับรัสเซีย และจีน หรือ อิหร่าน และเวเนซุเอลา ก็ตามที— ก็ประสบความล้มเหลวไม่อาจทำให้พวกหุ้นส่วนระดับท็อปในโลกตะวันตกของตนเห็นดีเห็นงามตามไปด้วยได้ โดยที่ประเทศเหล่านี้เกินกว่าครึ่งกลับเป็นผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตามที ยิ่งกับปักกิ่งด้วยแล้ว ถือเป็นรายที่พวกเขาต้องการประจันหน้าด้วยน้อยที่สุด
“เราไม่สามารถที่จะทำตัวเป็น ‘หุ้นส่วนผู้น้อย’ (junior partner) ของสหรัฐฯ” ประธานาธิบดีมาครงกล่าว [10] พร้อมกับหยิบยกตัวอย่างความล้มเหลวเมื่อเร็วๆ นี้ในนโยบายมุ่งท้าทายเผชิญหน้าของโลกตะวันตก เห็นได้ชัดเจนว่าการแตกแยกภายในกำลังสร้างความลำบากให้แก่ตะวันตก และขณะนี้ยังคงยากที่จะมองเห็นได้ว่าพวกเขาจะสามารถฟันฝ่าเอาชนะเรื่องนี้ได้อย่างไร
อย่างดีที่สุด (การจับกลุ่มรวมตัวในรูปแบบที่เล็กลงมา อย่างเช่น) กลุ่มพันธมิตรผู้ที่มีความปรารถนาบางสิ่งบางอย่างร่วมกัน (coalitions of the willing) อาจจะเป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาได้ภายในหมู่รัฐตะวันตกในเวลารับมือกับประเด็นปัญหาเฉพาะเจาะจง แต่กระนั้นก็ตาม โลกตะวันตกอย่างเก่งที่สุดก็เพียงสามารถชะลอความเสื่อมทรุดโดยเปรียบเทียบของตนลงไปได้เท่านั้น ทว่าไม่ได้กรายใกล้การพลิกผันหมุนกลับให้ออกมาจากความถดถอย
หัวใจของเรื่องนี้ก็คือว่า ศูนย์กลางแห่งแรงดึงดูดทางด้านเศรษฐกิจในระเบียบโลก และสมการทางอำนาจของโลกซึ่งตามติดมาอย่างใกล้ชิดนั้น กำลังหันเหออกไปจากโลกตะวันตกอย่างไม่มีทางยับยั้งได้ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง มันก็ไม่มี “โลกตะวันตก” ซึ่งสามัคคีเป็นเอกภาพกันอยู่เบื้องหลังหลักการ, คุณค่า, และนโยบายต่างๆ หลงเหลืออยู่อีกแล้ว
เชิงอรรถ
[1]https://go.ind.media/e/546932/u3gbbqd/df2syh/566199884?h=JU1nEECGbnF6OXKGmySMlkG3Z3-aYnzSAG3RBFPwlZg
[2] https://go.ind.media/e/546932/unich-Security-Conference-html/df2syk/566199884?h=JU1nEECGbnF6OXKGmySMlkG3Z3-aYnzSAG3RBFPwlZg
[3] https://go.ind.media/e/546932/f-european-strength-a-52389586/df2sym/566199884?h=JU1nEECGbnF6OXKGmySMlkG3Z3-aYnzSAG3RBFPwlZg
[4] https://go.ind.media/e/546932/security-conference-index-html/df2syp/566199884?h=JU1nEECGbnF6OXKGmySMlkG3Z3-aYnzSAG3RBFPwlZg
[5] https://go.ind.media/e/546932/the-west-is-winning-/df2syr/566199884?h=JU1nEECGbnF6OXKGmySMlkG3Z3-aYnzSAG3RBFPwlZg
[6] https://go.ind.media/e/546932/at-munich-security-conference-/df2syt/566199884?h=JU1nEECGbnF6OXKGmySMlkG3Z3-aYnzSAG3RBFPwlZg
[7] https://go.ind.media/e/546932/ich-security-conference-115645/df2syw/566199884?h=JU1nEECGbnF6OXKGmySMlkG3Z3-aYnzSAG3RBFPwlZg
[8] https://go.ind.media/e/546932/a8-50d6-11ea-8841-482eed0038b1/df2syy/566199884?h=JU1nEECGbnF6OXKGmySMlkG3Z3-aYnzSAG3RBFPwlZg
[9] https://go.ind.media/e/546932/liances-at-risk-from-huawei-5g/df2sz1/566199884?h=JU1nEECGbnF6OXKGmySMlkG3Z3-aYnzSAG3RBFPwlZg
[10] https://go.ind.media/e/546932/hina-france-wary-idUSKBN20908M/df2sz3/566199884?h=JU1nEECGbnF6OXKGmySMlkG3Z3-aYnzSAG3RBFPwlZg
เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นมาจากการเป็นหุ้นส่วนกันระหว่าง เว็บไซต์อินเดียนพันช์ไลน์ (Indian Punchline) กับ โกลบทร็อตเทอร์ (Globetrotter) ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งของสถาบัน อินดีเพนเดนซ์ มีเดีย อินสติติว (Independent Media Institute) และก็เป็นผู้ที่จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ทางเอเชียไทมส์