เอเอฟพี - กระดาษชำระ เจลล้างมือ และหน้ากากอนามัย ขาดตลาดในประเทศจำนวนมาก ตั้งแต่ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จนถึงฝรั่งเศสและอเมริกา ด้วยกระแสแตกตื่นซื้อของผู้คนทั่วโลก สืบเนื่องจากความหวาดวิตกกับไวรัสโคโรนาและการหมกมุ่นกับข้อมูลในโลกโซเชียล กระทั่งไม่สนใจเสียงเรียกร้องให้ตั้งสติและกำลังทำให้ห่วงโซ่อุปทานยิ่งชะงักงัน
การที่คนหมกมุ่นกับข้อมูลบนโซเชียลและแห่ซื้อสินค้าจนหมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็ว ยิ่งทำให้สังคมแตกตื่นและสับสนมากขึ้นกับวิธีป้องกันโรคระบาดนี้ที่ทำให้มีคนตายแล้วหลายพันคน ไม่นับผู้ที่ถูกกักกันอีกหลายสิบล้านคน แถมยังทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกระส่ำระสาย
สัปดาห์นี้ เครือซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่สุดของออสเตรเลียเริ่มกำหนดโควตาการขายกระดาษชำระ หลังร้านค้าแห่งหนึ่งในซิดนีย์โทรศัพท์แจ้งตำรวจว่า มีลูกค้าชักมีดจะทำร้ายกันเพราะแย่งชิงกระดาษชำระที่กลายเป็นของหายาก
วันเสาร์ที่ผ่านมา (29 ก.พ.) นายกฯชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ต้องทวิตข้อความเพื่อบรรเทาความกังวลเรื่องสินค้าขาดแคลน ขณะที่โลกโซเชียลแห่แชร์ภาพชั้นวางกระดาษชำระในร้านค้าในอเมริกาซึ่งอยู่ในสภาพว่างเปล่า
เคต ไนติงเกล นักจิตวิทยาผู้บริโภคในลอนดอนบอกว่า ต้นตอของสถานการณ์นี้มาจากพฤติกรรมแห่ตามฝูงชน ผสมกับการรับข้อมูลข่าวสารเรื่องไวรัสมากเกินไป
แอนดี้ แยป นักจิตวิทยา และชาร์ลีน เฉิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและธุรกิจในสิงคโปร์ ขานรับว่า การแตกตื่นซื้อสินค้าที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เช่น กระดาษชำระ เป็นเพราะคนในยุคนี้รู้สึกว่า การมีสิ่งที่ต้องการและในเวลาที่ต้องการ ทำให้มั่นใจว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
สิงคโปร์เคยประสบเหตุการณ์ทำนองนี้มาแล้วจากข่าวลือ “ที่เชื่อถือได้” ว่า กระดาษชำระกำลังจะขาดแคลนเนื่องจากมาตรการปิดเมืองในจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตหลัก
แยปและเฉินเสริมว่า การติดตามข่าวสารในโซเชียลไม่หยุดหย่อน ยังมีสภาพเป็นการบิดเบือนการรับรู้ ทำให้คนคิดว่า สถานการณ์เลวร้ายกว่าที่เกิดขึ้นจริง และความไม่แน่นอนก็ดูรุนแรง ทำให้สินค้าอย่างหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือกลายเป็นสินค้าที่ช่วยแก้ปัญหาได้ และเมื่อมีในครอบครองก็ทำให้คนรู้สึกว่ามีอำนาจควบคุมเหนือไวรัส
ด้วยเหตุนี้ หน้ากากการแพทย์ที่ใช้ในผ่าตัดแบบใช้แล้วทิ้งซึ่งปกติขายชิ้นละไม่กี่เซ็นต์ จึงกลายเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่จีนซึ่งเป็นผู้ผลิตสำคัญจำกัดการส่งออกเพื่อให้มีใช้อย่างเพียงพอในประเทศ
เดือนที่แล้ว คนหลายหมื่นต่อคิวหน้าร้านแห่งหนึ่งในฮ่องกงเพื่อซื้อหน้ากากอนามัย ไม่กี่วันต่อมาสินค้านี้กลายเป็นของขวัญที่ผู้คนระบุว่าอยากได้มากที่สุดในวันวาเลนไทน์
ที่ลอนดอน ราคาหน้ากากอนามัยแพงขึ้นเกิน 100 เท่า ขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสเตรียมเรียกเก็บหน้ากากอนามัยทั้งหมด เพื่อสำรองไว้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย
ฟาเดลา ชาอิบ โฆษกองค์การอนามัยโลก (ฮู) ชี้ว่า ดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายนี้ขับเคลื่อนจากการแตกตื่นซื้อ การกักตุนและการเก็งกำไร
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นแม้ศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคของอเมริกา (ซีดีซี) ไม่แนะนำให้ประชาชนทั่วไปสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันไวรัสก็ตาม
แต่ไนติงเกลบอกว่า ในเมืองที่ผู้คนหวั่นวิตกและพากันสวมหน้ากาก คนจะรู้สึกว่า การสวมหน้ากากช่วยให้สบายใจขึ้นและดูไม่แปลกแยกจากคนอื่นๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงว่า จะช่วยป้องกันไวรัสได้หรือไม่ก็ตาม
แยปและเฉินสำทับว่า ขณะที่หลายประเทศพบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น ทางการควรกำหนดมาตรการใหม่เพื่อควบคุมข่าวสารและข่าวลือที่เป็นต้นตอให้คนแตกตื่นซื้อสินค้า และรัฐบาลควรอธิบายกฎเหล่านั้นอย่างชัดเจนว่า จะช่วยต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างไร
กระนั้น ไนติงเกลตั้งข้อสังเกตว่า ความไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ซึ่งเพิ่มมากขึ้นในโลกตะวันตกเกี่ยวกับการบังคับฉีดวัคซีน และการที่รัฐบาลและภาคธุรกิจกำลังกลายเป็นสถาบันที่คนไว้วางใจน้อยที่สุด อาจเป็นปัญหาในการบังคับใช้กฎใหม่ ดังนั้น รัฐบาลจึงควรหาผู้ที่คนส่วนใหญ่ไว้ใจ เช่น อินฟลูเอนเซอร์ในโซเชียลเพื่อสื่อสารกับกลุ่มวัยรุ่นหรือหนุ่มสาว เป็นต้น