เอเอฟพี - ทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ประกาศสนับสนุนแผนของรัฐบาลญี่ปุ่นในการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก
หลังจากโรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ได้รับความเสียหายรุนแรงจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี 2011 บริษัท โตเกียว อิเล็กทรอก พาวเวอร์ โค (เทปโก) ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงไฟฟ้าก็ได้นำน้ำที่ใช้หล่อเย็นเพื่อป้องกันการหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิงมาเก็บกักไว้ในแทงก์ จนเวลานี้มีน้ำสะสมอยู่มากกว่า 1 ล้านตัน
เดือนที่แล้ว คณะทำงานของรัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอให้มีการระบายน้ำบางส่วนลงสู่มหาสมุทร หรือทำให้ระเหยเป็นไอ ทว่าจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการตัดสินใจขั้นเด็ดขาด เนื่องจากตัวเลือกทั้ง 2 อย่างล้วนถูกประชาชนต่อต้านอย่างหนัก
ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการ IAEA แถลงต่อสื่อที่กรุงโตเกียววันนี้ (27 ก.พ.) ว่า คณะทำงานรัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอแนวทางที่มีความเหมาะสมทั้งคู่
“แน่นอนว่าการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรและเมื่อไหร่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลญี่ปุ่น” กรอสซี ระบุ “เรายังไม่ได้สรุปผลวิเคราะห์ก็จริง แต่ผมยืนยันได้ว่ารายงานของคณะทำงานญี่ปุ่นตั้งอยู่บนพื้นฐานของระเบียบวิธี (methodology) ที่เหมาะสม และแนวทางปฏิบัติที่เป็นระบบ”
ผู้อำนวยการ IAEA ยังระบุด้วยว่า ทางเลือกทั้ง 2 อย่าง “สอดคล้องกับวิธีปฏิบัติซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก”
“การปล่อย (น้ำปนเปื้อนรังสี) ลงมหาสมุทรเคยเกิดขึ้นมาแล้วในที่อื่นๆ นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่มีประเด็นอื้อฉาวอะไรเลย แต่สิ่งสำคัญก็คือจะต้องทำในลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย และมีผู้ตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากที่ปล่อย เพื่อให้มั่นใจว่าทุกอย่างโอเค”
น้ำปนเปื้อนรังสีในโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะมีที่มาจากหลายแหล่ง นอกจากน้ำที่ใช้หล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แล้วก็ยังมีน้ำใต้ดินและน้ำฝนที่ซึมเข้าไปในโรงงานทุกๆ วัน ซึ่งน้ำทั้งหมดนี้จะต้องผ่านกระบวนการกรองอย่างพิถีพิถัน
ระบบกรองสามารถกำจัดไอโซโทปกัมมันตรังสีออกไปได้เกือบหมด ยกเว้นทริเทียม (Tritium) ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีที่มีครึ่งชีวิตยาวนาน
แผนการปล่อยน้ำเปื้อนรังสีลงมหาสมุทรยังถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่น ซึ่งตั้งคำถามในเรื่องของความปลอดภัยและผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมงท้องถิ่น