รอยเตอร์/เอเอฟพี - สื่อต่างประเทศรายงานในวันศุกร์(21ก.พ.) ระบุอียูเผยแพร่ถ้อยแถลงแสดงความผิดหวังกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่และสั่งแบนกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปีในคดีที่ "ธนาธร" ให้พรรคกู้ยืมเงิน พร้อมอ้างนักวิเคราะห์เชื่อว่าคำตัดสินจะผลักผู้คนลงสู่ท้องถนน แต่คำถามก็คือจะเพียงพอที่จะบ่อนทำลายรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์หรือไม่
รอยเตอร์รายงานว่าคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นไม่ถึงปีหลังจากไทยจัดการเลือกตั้ง สิ้นสุดการปกครองโดยทหารโดยตรง และเป็นการเพิ่มความเข้มแข็งในรัฐสภาแก่รัฐบาลผสมที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นากรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารซึ่งก้าวสู่อำนาจครั้งแรกในปี 2014 จากการยึดอำนาจ
ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวนิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี หลังพบว่าพรรคละเมิดกฎหมายด้วยการรับเงินกู้จากนายธนาธร จึงรุงเรืองกิจ หัวหน้าพรรค จำนวน 191 ล้านบาท
สหภาพยุโรป(อีกยู) เรียกคำตัดสินของศาลว่าเป็นการก้าวถอยหลังของแนวคิดพหุนิยมทางการเมืองของประเทศ "การยุบพรรคการเมืองหรือแบนสาชิกรัฐสภาสวนทางกับกระบวนการฟื้นฟูพหุนิยมทางการเมืองที่ริเริ่มเมื่อปีที่แล้ว พื้นที่ทางการเมืองในไทยควรเปิดกว้างต่อไป" อียูระบุในถ้อยแถลง
"เป็นเรื่องที่สำคัญที่เจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจะต้องทำให้แน่ใจและรับรองว่า สมาชิกรัฐสภาที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ของพวกเขาต่อไปได้ โดยไม่เผชิญอุปสรรคใดๆ ก็ตามจากพรรคที่พวกเขาสังกัดในช่วงที่ถูกเลือก"
“สหภาพยุโรปยังคงแสดงจุดยืนของเราในการขยายความร่วมมือกับประเทศไทย โดยเฉพาะในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และพหุนิยมประชาธิปไตย ตามที่สภาการต่างประเทศของสหภาพยุโรปได้ให้ความสำคัญในข้อสรุปของพวกเขาไว้เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2019 ที่ผ่านมา” โฆษกประจำกระทรวงการต่างประเทศสหภาพยุโรป กล่าวผ่านถ้อยแถลง
ด้านกลุ่มสมาชิกรัฐสภากลุ่มหนึ่งจากสมาชิกอาเซียน เผยแพร่ถ้อยแถลงเช่นกัน โดยบอกว่ากองทัพยังคงเชิดหุ่นทั้งด้านการเมืองและตุลาการ"
"การเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ถูกทึกทักว่าจะนำมาซึ่งจุดจบของระบอบทหารในไทย แต่หลังจากวันนี้คงไม่มีใครโง่พอที่จะเชื่อแบบนั้น" ฟรานซิสโดก คราสโตร ส.ส.จากฟิลิปปินส์และสมาชิกรัฐสภาอาเซียน ด้านสิทธิมนุษยชนกล่าว
ไทยเคยเกิดการประท้วงนองเลือดบนท้องถนนหลายต่อหลายครั้ง ทั้งจากกลุ่มที่อ้างตนเองว่าเป็นฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยและกลุ่มคนที่สนับสนุนกองทัพที่ภักดีต่อสถาบันฯ
พอล แชมเบอร์ส นักวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร "การตัดสินในของศาลจะผลักให้ผู้ประท้วงลงสู่ท้องถนนหรือไม่? ใช่แน่นอน คำถามมีเพียงอย่างเดียวก็คือการประท้วงจะก่อความยุ่งเหยิงเพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลของประยุทธ์อ่อนแอลงกว่าเดิมหรือไม่"