เอเจนซีส์ - เจฟฟ์ เบโซส ซีอีโอของบริษัทแอมะซอน (Amazon) ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซของอเมริกา ประกาศอัดฉีดเงิน 10,000 ล้านดอลลาร์สนับสนุนนักวิจัย นักเคลื่อนไหว องค์กรไม่แสวงผลกำไร ฯลฯ ที่ต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ท่ามกลางเสียงค่อนแคะว่า เงินแค่นี้ถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับทรัพย์สมบัติที่เบโซสมีอยู่ รวมทั้งไม่สามารถชดเชยการใช้พลังงานฟอสซิลและกิจกรรมอื่นๆ ของแอมะซอนที่มีส่วนสร้างปัญหาโลกร้อน
การลดการปล่อยไอเสียถือเป็นหนึ่งความท้าทายสำคัญของแอมะซอน บริษัทอี-คอมเมิร์ซที่จัดส่งสินค้าถึงปีละ 10,000 ล้านรายการ และเป็นผู้สร้างขยะและปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่จากแพ็คเกจจิ้งที่ใช้ในการจัดส่งสินค้าถึงหน้าประตู และกองทัพรถส่งสินค้า รวมถึงเซิร์ฟเวอร์ฟาร์มสำหรับกิจกรรมคลาวด์คอมพิวติ้งที่ถูกโจมตีว่า ผลาญพลังงาน แม้แต่พนักงานในบริษัทเองยังวิจารณ์นโยบายโลกร้อนของแอมะซอน
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (17 ก.พ.) เบโซสโพสต์บนอินสตาแกรมว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นหนึ่งในภัยคุกคามใหญ่สุดของโลก และเขาต้องการร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อต่อยอดความรู้และสำรวจแนวทางใหม่ๆ ในการต่อสู้กับผลกระทบเลวร้ายจากปัญหานี้ และสำทับว่า บริษัทใหญ่น้อย ประเทศต่างๆ องค์การระดับโลก และปัจเจกบุคคลจะต้องดำเนินมาตรการแก้ไขร่วมกัน ส่วนกองทุนเอิร์ธฟันด์ของเบโซสจะเริ่มมอบทุนในช่วงฤดูร้อนนี้
ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกว่า 130,000 ล้านดอลลาร์ กองทุนนี้จึงคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 8% ของทรัพย์สินของเบโซสเท่านั้น และนิวยอร์ก ไทมส์ระบุว่า แม้บริจาคเงินเข้ากองทุนทันที 10,000 ล้านดอลลาร์ ทว่า ตำแหน่งมหาเศรษฐีเบอร์หนึ่งของโลกก็ยังคงเป็นของเบโซสเหมือนเดิม
การต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นประเด็นที่บรรดาเศรษฐีพันล้านอเมริกันให้ความสนใจอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ในจำนวนนี้รวมถึงบิลล์ เกตส์แห่งไมโครซอฟท์, ไมเคิล บลูมเบิร์ก และผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ทอม สเตเยอร์
ปีที่ผ่านมา เบโซสประกาศว่า แอมะซอนจะซื้อรถไฟฟ้า 100,000 คันจากริเวียน ออโตโมบิล สตาร์ทอัพผู้ออกแบบและผลิตรถของอเมริกา รวมทั้งยุติการปล่อยคาร์บอนในปี 2040 ช้ากว่าไมโครซอฟท์ถึง 10 ปี
ตอนนั้น ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) แอมะซอนผู้นี้กล่าวว่า บริษัทจะบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีสก่อนกำหนด 10 ปี และจะลงทุน 100 ล้านดอลลาร์เพื่อฟื้นฟูป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำ
อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมา แอมะซอนต้องเผชิญการประท้วงจากนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงถูกพนักงานกดดันให้จัดการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังมากขึ้น
พนักงานแอมะซอนยังเข้าร่วมกับกลุ่มพนักงานหลายร้อยคนของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เดินขบวนเพื่อรณรงค์แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในซานฟรานซิสโกและซีแอตเติลเมื่อปีที่แล้ว คนเหล่านี้โจมตีว่า นายจ้างของตนเชื่องช้าในการแก้ปัญหาโลกร้อนและจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มแข็งขึ้น
นอกจากนี้ เบโซสยังถูกโจมตีจากการสนับสนุนเงินทุนให้โครงการอวกาศ บลู ออริจิน ที่ถูกวิจารณ์ว่า สร้างรอยเท้าคาร์บอน และหากเปรียบเทียบกับเศรษฐีพันล้านคนอื่นๆ เบโซสถือว่า บริจาคเงินเพื่อการกุศลเพียงจำกัดเท่านั้น โดยก่อนประกาศก่อตั้งเอิร์ธ ฟันด์ การบริจาคก้อนใหญ่ของเบเซสมีมูลค่าเพียง 2,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือครอบครัวคนไร้บ้านและสนับสนุนโรงเรียนต่างๆ เมื่อเดือนกันยายน 2018
เจ้าพ่อแอมะซอนยังถูกวิจาร์ที่ไม่ยอมลงนามในโครงการ “กีฟวิ่ง เพลดจ์” ที่เหล่าซูเปอร์ริชร่วมสัญญาจะบริจาคทรัพย์สมบัติครึ่งหนึ่งในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่
"แอมะซอน เอ็มพลอยยี ฟอร์ ไคลเมต จัสติส" กลุ่มพนักงานแอมะซอนที่เคลื่อนไหวต่อสู้ภาวะโลกร้อน แสดงความยินดีกับการประกาศก่อตั้งเอิร์ธฟันด์ แต่ตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการนี้ไม่เพียงพอชดเชยการใช้พลังงานฟอสซิลและกิจกรรมอื่นๆ ของแอมะซอนที่มีส่วนสร้างปัญหาโลกร้อน