ศูนย์ข่าวศรีราชา- เปิดแล้ว! CCE ผุดโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมแห่งใหม่ของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตรฐานยุโรป ภายใต้งบลงทุนเกือบ 2 พันล้านบาท หวังรับการกำจัดขยะอุตสาหกรรมให้เป็นเชื้อเพลิง 1 แสนตันต่อปี
วันนี้ (25พ.ย.) บริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (CCE) ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่าง 3 บริษัทชั้นนำที่ผสมผสานความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านพลังงาน ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) และสุเอซ กรุ๊ป ได้ทำพิธีเปิดโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมอย่างเป็นทางการในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 1 ที่เป็นทำเลยุทธศาสตร์สำคัญในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
โดยมี นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธี และมี มร.ฌัก ลาปูฌ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย นายนิติ วิวัฒน์วานิช นายอำเภอศรีราชา รวมทั้งตัวแทนจากบริษัทร่วมทุนทั้ง 3 รายเข้าร่วม
สำหรับ โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม บริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ เกิดขึ้นภายใต้เงินลงทุนราว 1,800 ล้านบาท โดยเป็นโรงผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้มาตรฐานควบคุมการปล่อยมลพิษของยุโรป ติดตั้งด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ภายใต้แนวคิดเพื่อความยั่งยืน การมีเสถียรภาพ และการรักษาสิ่งแวดล้อม สามารถกำจัดขยะอุตสาหกรรมให้เป็นเชื้อเพลิงได้กว่า 400 ตันต่อวัน หรือราว 100,000 ตันต่อปี
โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมแห่งนี้มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้า 8.63 เมกะวัตต์ โดยจะจำหน่ายเข้าระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 6.90 เมกะวัตต์ ภายใต้ข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เป็นระยะเวลา 20 ปี และได้ลงนามในข้อตกลงการจัดหาขยะอุตสาหกรรมกับบริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์ สยาม จำกัด (WMS) บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการจัดเก็บ บำบัด และกำจัดขยะของเสียในไทย เพื่อดำเนินการจัดหาขยะอุตสาหกรรม 100,000 ตันต่อปี จากนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในจังหวัดชลบุรีและใกล้เคียง
โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้ จะนำขยะอุตสาหกรรมเข้าสู่ห้องเผาไหม้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ หลังจากที่ได้มีการวางแผนและก่อสร้างโรงไฟฟ้า ตลอดจนทดสอบการทำงานตามข้อกำหนดของการเชื่อมต่อเข้าระบบการไฟฟ้าภูมิภาคตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โรงไฟฟ้า CCE ได้เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์เมื่อเดือน พ.ย. ก่อนระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อตกลง PPA ภายในเดือน ธ.ค.
น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการ บริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวว่า โรงไฟฟ้า CCE จะสร้างประโยชน์ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของไทย สอดคล้องต่อนโยบายของรัฐบาลในการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลของประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการจัดการขยะอุตสาหกรรมแบบยั่งยืน แทนการฝังกลบแบบเดิม
การจับมือกับหุ้นส่วนและพันธมิตรของ CCE แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการผลิตพลังงานสะอาดปลอดจากขยะอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมในการผนึกกำลังร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไว้ให้คนรุ่นหลังสืบไป
นอกจากนั้น ที่ตั้งของโรงไฟฟ้า CCE ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 1 มีพื้นที่ 3,482 ไร่ (1,393 เอเคอร์ หรือ 557 เฮกตาร์) เป็นทำเลยุทธศาสตร์ห่างจากท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง 19 กิโลเมตร และ อ.ศรีราชา 22 กิโลเมตร
ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการรวม 115 ราย ด้วยสัญญาจำนวน 160 ฉบับ คิดเป็นเงินลงทุนมูลค่ากว่า 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็น 1ในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พร้อมรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล
สำหรับบริษัทร่วมทุนทั้ง 3 บริษัท คือบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (WHAUP) ในเครือดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป เป็นผู้ให้บริการด้านการบริหารจัดการแบบครบวงจรครอบคลุมด้านโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและไฟฟ้า รวมทั้งดิจิทัลแพลตฟอร์มชั้นนำของประเทศไทย นอกจากนี้ WHAUP ยังเป็นผู้ให้บริการด้านการผลิตและจัดจำหน่ายน้ำอุตสาหกรรม การบริหารจัดการน้ำเสีย ตลอดจนผลิตและจัดจำหน่ายไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานหมุนเวียน
บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายพลังงานรายใหญ่ในประเทศไทย กลุ่มบริษัทโกลว์มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 3,084 เมกะวัตต์ (โดยเป็นสัดส่วนของโกลว์ 2,268 เมกะวัตต์) และไอน้ำ 1,116 ตันต่อชั่วโมง
และ สุเอซ กรุ๊ป ผู้นำระดับโลกด้านการจัดการทรัพยากรด้วยระบบอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน มีพนักงานกว่า 90,000 คนใน 5 ทวีปทั่วโลก ดำเนินธุรกิจครอบคลุมการจัดหาโซลูชันด้านการจัดการน้ำและขยะ ช่วยอำนวยความสะดวกแก่เมืองและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพิ่มประสิทธิภาพด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมให้เข้มแข็งขึ้นตามมาตรฐานสากลด้านอุตสาหกรรม