รอยเตอร์ - องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนการขลิบอวัยวะเพศสตรี (female genital mutilation - FGM) สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อหลายประเทศ พร้อมเปิดตัวเครื่องมือคำนวณเม็ดเงินที่สูญเสียไปกับการรักษาพยาบาลผู้หญิงและเด็กสาวนับล้านๆ คนที่ต้องเสียสุขภาพจากธรรมเนียมดังกล่าว
ปัจจุบันมีเด็กสาวประมาณ 200 ล้านคนทั่วโลกที่ผ่านการขลิบอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เช่น การมีเลือดออกไม่หยุด, ภาวะติดเชื้อเรื้อรัง, ซีสต์ และปัญหาคลอดบุตรยากซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
WHO ประเมินว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้หญิงเหล่านี้อาจสูงถึง 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
“การขลิบอวัยวะเพศหญิงไม่เพียงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและเป็นอันตรายต่อผู้หญิงและเด็กสาวนับล้านๆ คน แต่ยังทำให้ประเทศต้องสูญเสียทรัพยากรทางเศรษฐกิจจำนวนมากด้วย” เอียน แอสกิว หัวหน้าฝ่ายสุขภาวะทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของ WHO ระบุ
ธรรมเนียมเก่าแก่โบราณนี้มักกระทำระหว่างที่เด็กยังเป็นทารกจนกระทั่งถึงอายุ 15 ปี โดยจะตัดบางส่วนหรือทั้งหมดของอวัยวะเพศภายนอก บางครั้งก็มีการเย็บรูเปิดบริเวณช่องคลอดด้วย
สำหรับเครื่องมือคำนวณใหม่ซึ่งถูกเปิดตัวเนื่องในวันยุติการขลิบอวัยวะเพศหญิงสากล (International Day of Zero Tolerance for FGM) จะครอบคลุม 27 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา
WHO เผยว่า อียิปต์สูญเสียงบประมาณเป็นค่ารักษาพยาบาลผู้หญิงที่ถูกขลิบอวัยวะเพศราว 876.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ส่วนซูดานอยู่ที่ 274.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และในบางประเทศอาจสูงถึง 30% ของงบประมาณสาธารณสุขทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าหากเลิกธรรมเนียมนี้เสียได้ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี องค์กร 28 Too Many ซึ่งรณรงค์ต่อต้านการขลิบอวัยวะเพศหญิง ชี้ว่า ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ยังถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับต้นทุนด้านอื่นๆ ที่สังคมต้องเสียไป
“ผู้หญิงที่ถูกขลิบอวัยวะเพศมักแต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งเท่ากับว่าพวกเธอถูกจำกัดโอกาสทางการศึกษาและอาชีพการงาน นั่นทำให้สังคมติดอยู่ในวงจรความยากจน และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างร้ายแรง” อานน์-มารี วิลสัน ผู้อำนวยการบริหารองค์กร ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์
ผู้นำรัฐบาลทั่วโลกให้คำมั่นว่าจะยุติประเพณีการขลิบอวัยวะเพศหญิงภายในปี 2030 แต่จากข้อมูลที่ยูเอ็นเผยแพร่วันนี้ (6) พบว่า สถิติในบางประเทศไม่ได้ลดลงเลยจากเมื่อ 30 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะในโซมาเลียซึ่งยังมีการขลิบอวัยวะเพศหญิงกันอย่างแพร่หลาย
หากไม่มีมาตรการยับยั้งอย่างจริงจัง WHO ประเมินว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเหยื่อขลิบอวัยวะเพศหญิงจะเพิ่มขึ้นอีก 50% ภายในปี 2050 เนื่องจากประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น