xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย ม.มหิดล ใช้สารชีวโมเลกุลแปลงเพศกุ้งก้ามกรามตัวผู้ให้ตั้งท้องได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กุ้งก้ามกรามเพศผู้ ที่ได้จากการใช้สารแปลงเพศ
ม.มหิดล คิดค้นสารประกอบชีวโมเลกุลแปลงเพศกุ้งก้ามกรามสายพันธุ์ MU1 ทำให้ตัวผู้ตั้งท้องได้ เพิ่มผลผลิต ช่วยเศรษฐกิจของประเทศ

สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัว กุ้งก้ามกรามแปลงเพศต้นแบบ (MU 1) เพื่อขยายปริมาณสู่ตลาดผู้บริโภค เมื่อวันที่ 21 พ.ย.62 ณ ห้องประชุม สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน ผู้อํานวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) กล่าวว่า ผลงานสำคัญเรื่องนี้ iNT ได้เข้ามาดูแลการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และสนับสนุนการนำผลงานกุ้งก้ามกรามแปลงเพศ MU1 ไปใช้ประโยชน์ โดยสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล และ iNT ได้สร้างความร่วมมือกับบรรจงฟาร์ม ซึ่งได้สนับสนุนทุนเพื่อนำผลผลิตไปทดสอบและจำหน่ายกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามต่อไป ซึ่งในอนาคตจะมีการขยายผลและพัฒนาเพิ่มเติม โดยมุ่งผล เพื่อช่วยสร้างรายได้แก่เกษตรกร และให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสู่ผู้บริโภคต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล เป็นจุดเริ่มต้นของสถานที่บ่มเพาะงานวิจัยในระดับแนวหน้าของประเทศจำนวนมาก ผลงานหลายชิ้นมีผลกระทบและมูลค่าสูงในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งสามารถตอบโจทย์การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งจากงานวิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์กุ้งก้ามกราม MU1 ได้สร้างความรู้ใหม่ด้านชีวโมเลกุลของกุ้ง โดยการปรับปรุงวิธีการเพิ่มผลผลิตกุ้งก้ามกรามที่ปลอดภัย และมีคุณภาพสูงเพื่อเกษตรกรไทย



กุ้งก้ามกรามเพศผู้ที่ตั้งท้องได้
ดร.สุพัตรา ตรีรัตน์ตระกูล สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คิดค้นและพัฒนาแม่กุ้งก้ามกรามแปลงเพศต้นแบบ MU1 กล่าวว่า กล่าวว่า การผลิตกุ้งก้ามกรามนั้น มีทั้งเพศผู้และเพศเมีย แต่กุ้งเพศผู้จะมีขนาดใหญ่ โตเร็ว และมีราคาสูงกว่ากุ้งเพศเมีย เพื่อให้มีผลผลิตและราคาสูง จึงทำให้เกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งอยากให้มีสัดส่วนกุ้งก้ามกรามเพศผู้ในบ่อเลี้ยงสูงๆ หรือไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ซึ่งการผลิตลูกกุ้งเพศผู้นั้น ก็สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การคัดเพศเมื่อกุ้งมีการแสดงออกของเพศภายนอก หรือการนำกุ้งเพศผู้มาผ่าตัดต่อมแอนโดรเจนนิค เพื่อให้กุ้งเพศผู้มีเพศสภาพภายนอกเป็นเพศเมียมาใช้เป็นแม่พันธุ์กุ้งผลิตลูกกุ้งเพศผู้ แต่วิธีดังกล่าวจะต้องใช้ความชำนาญ

ดังนั้นทีมวิจัย จึงได้นำองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาให้เป็นกรรมวิธีการผลิตกุ้งก้ามกรามแปลงเพศด้วยสารประกอบชีวโมเลกุลสำหรับกระตุ้นการแปลงเพศ โดยไม่ต้องผ่าตัดต่อมแอนโดรเจนนิค ซึ่งต่อมแอนโดรเจนนิคจะทำหน้าที่ควบคุมการพัฒนาอวัยวะที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์ของเพศผู้ และการเจริญของอวัยวะเพศภายนอกของเพศผู้โดยสารประกอบชีวโมเลกุลสำหรับกระตุ้นการแปลงเพศ มีองค์ประกอบหลักคืออาร์เอ็นเอสายคู่ที่มีความจำเพาะต่อยีนไอเอจี (Insulin-like androgenic gland specific factor : IAG) ที่สร้างจากต่อมแอนโดรเจนิค โดยอาร์เอ็นเอสายคู่ดังกล่าวจะไปยับยั้งการแสดงออกของยีนไอเอจีในระดับเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ทำให้กุ้งก้ามกรามเพศผู้ มีการแสดงเพศสภาพภายนอกเป็นเพศเมียที่เรียกว่า แม่กุ้งแปลงเพศ หรือ นีโอฟีเมล (Neo-female) เพื่อนำมาใช้ในการเพาะลูกกุ้งก้ามกรามเพศผู้

ในการพัฒนากุ้ง MU1 นั้น เริ่มจากการนำกุ้งเพศผู้ที่ปลอดโรค สุขภาพดี โตเร็วมากระตุ้นให้เกิดการแปลงเพศเป็นเพศเมียด้วยสารประกอบชีวโมเลกุล จนกระทั่งได้กุ้งเพศผู้ที่มีเพศสภาพภายนอกเป็นเพศเมีย เมื่อนำไปผสมกับพ่อพันธุ์กุ้ง ก็จะให้ลูกเพศผู้

งานวิจัยนี้ได้ยื่นคำขอรับทรัพย์สินทางปัญญา ประเภทสิทธิบัตรจำนวน 2 เรื่อง ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้รับความสนใจจากบรรจงฟาร์ม จึงมีความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อต่อยอดงานวิจัยในการผลิตลูกกุ้ง ตั้งแต่ ปี 2561 ไปยังฟาร์มอนุบาลลูกกุ้ง และเกษตรกรตามพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ

งานแถลงข่าวเผิดตัว กุ้งก้ามกรามแปลงเพศต้นแบบ MU1 ) โดยมี ศาตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (คนกลาง) เป็นประธาน

กุ้งก้ามกรามเพศผู้ที่ตั้งท้องและมีไข่

ลูกกุ้งจากกุ้มก้ามกรามแปลงเพศ MU 1


กำลังโหลดความคิดเห็น