xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง: “เชื้อไวรัสโคโรนา” ยังทำให้ “ความกลัว”และ“ลัทธิเหยียดผิว” ระบาดออกไปทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


<i>นักท่องเที่ยวจากจีนสวมหน้ากากอนามัย ขณะมาถึงท่าอากาศยานนานาชาติคิลิมานจาโร ทางภาคเหนือของประเทศแทนซาเนีย เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา </i>
ขณะที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังแพร่กระจายไปทั่วโลกอยู่นั้น มันก็กำลังทำให้มนุษย์ในที่ต่างๆ เผยให้เห็นถึง “ความรู้สึกหวาดกลัวต่างชาติ” ของพวกเขาไปด้วย --โดยที่ชุมชนชาวเอเชียในแห่งหนต่างๆ ของดาวเคราะห์ดวงนี้กำลังพบว่าพวกตนตกเป็นเป้าหมายของความระแวงและความกลัว

เมื่อคนไข้ผู้หนึ่งในเมืองโกลด์โคสต์ของออสเตรเลีย ปฏิเสธไม่ยอมจับมือกับ เรีย เหลียง ศัลยแพทย์ซึ่งรักษาเธอโดยยกเหตุผลเรื่องไวรัสระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนไปหลายร้อยคน ปฏิกิริยาตอบสนองแรกสุดของแพทย์ผู้นี้คือรู้สึกช็อก

แต่หลังจากเธอทวิตเล่าเหตุการณ์และปรากฏว่ามีเสียงแสดงความคิดเห็นตอบกลับมาอย่างทะลักทลาย แพทย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือผู้นี้ก็ได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่เธอประสบมานั้นช่างเป็นของธรรมดาสามัญเหลือเกิน

มีรายงานว่าผู้คนเชื้อสายเอเชีย ถูกเล่นงานด้วยถ้อยคำวาจาหรือพฤติการณ์ต่อต้านหยามเหยียดคนจีน เพิ่มจำนวนขึ้นสูงลิ่ว ไม่ว่าพวกเขาเคยไปเยือนศูนย์กลางของไวรัสระบาดหรือเคยสัมผัสกับเชื้อร้ายนี้หรือไม่ก็ตามที

ในอิตาลี กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนถูกถ่มน้ำลายใส่ที่เมืองเวนิส, ครอบครัวหนึ่งในเมืองตูรินถูกกล่าวหาว่ากำลังเป็นพาหะนำโรคร้าย, และพวกแม่ๆ ในเมืองมิลานใช้สื่อสังคมเรียกร้องให้ปกป้องลูกๆ ของพวกเธอให้ห่างออกมาจากเพื่อนร่วมชั้นชาวจีน

ส่วนที่แคนาดา ชายผิวขาวผู้หนึ่งถูกบันทึกวิดีโอ ขณะกำลังพูดบอกหญิงชาวแคนาดาเชื้อสายจีนผู้หนึ่งว่า “ทิ้งไวรัสโคโรนาของคุณซะ” ในลานจอดรถของศูนย์การค้าท้องถิ่นแห่งหนึ่ง

ขณะที่ในมาเลเซีย คำร้องเรียนให้ “ห้ามคนจีนเข้าประเทศที่รักยิ่งของพวกเรา” มีผู้ร่วมลงชื่อด้วยเกือบๆ 500,000 คนภายในเวลาสัปดาห์เดียว

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ วิทยาลัยการแพทย์ฉุกเฉินของออสเตรเลีย เรียกว่า การรับ “ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ” ซึ่งกำลังเติมเชื้อให้แก่ “การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ” โดยที่มีการตั้งสมมุติฐานด้วยความกังวลคับแค้นอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับ “คนจีน” หรือ “คนที่หน้าตาเป็นชาวเอเชีย” ทั้งหลาย

“โรคระบาด” เคียงคู่กับ “ความระแวงต่างชาติ”

โรคระบาดนั้นถูกจับมาเคียงคู่กับความหวาดระแวงชาวต่างชาติตั้งแต่นมนานกาเลแล้ว --ตั้งแต่พวกผู้อพยพชาวไอริชถูกเล่นงานในเหตุการณ์แตกตื่นไข้ไทฟอยด์แมรี่ (Typhoid Mary panic) ในสหรัฐฯช่วงทศวรรษ 1900 ไปจนถึงเหล่าทหารรักษาสันติภาพชาวเนปาลถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการนำเชื้ออหิวาต์มาสู่เฮติที่กำลังประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวในทศวรรษที่แล้ว

“มันเป็นปรากฏการณ์ธรรมดา” ร็อบ เกรนเฟลล์ ผู้อำนวยการด้านสาธารณสุขและความมั่นคงปลอดภัยชีวภาพ ของ CSIRO สำนักงานวิทยาศาสตร์และการวิจัยของออสเตรเลีย กล่าว “ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นมา เรามักพยายามให้ร้ายกลุ่มย่อยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งของประชากรจนกลายเป็นผู้ร้ายขึ้นมา” เขาบอก โดยเปรียบเทียบพฤติกรรมเช่นนี้กับเหตุการณ์กาฬโรคระบาดในยุโรปสมัยกลาง เมื่อช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ซึ่งชาวต่างชาติและกลุ่มศาสนาต่างๆ มักถูกกล่าวหาประณามว่าเป็นต้นตอของโรค

เขาพูดถึงไวรัสโคโรนาคราวนี้ว่า “แน่นอนที่มันเกิดขึ้นก่อนในจีน แต่ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะประณามให้ร้ายคนจีนกันจริงๆ”

ในบทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งซึ่งเขียนให้แก่วารสารการแพทย์อังกฤษ “บริติช เมดิคอล เจอร์นัล” นายแพทย์อับราร์ คารัน เตือนว่า พฤติกรรมเช่นนี้อาจทำให้ผู้ที่มีอาการป่วยไม่อยากจะไปหาหมอ

<i>นักท่องเที่ยวสวมหน้ากากอนามัย ขณะถ่ายภาพเซลฟี่ที่ลานน้ำพุเทรวี่ บริเวณใจกลางกรุงโรม เมืองหลวงของอิตาลี เมื่อตอนสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา </i>
ขณะที่ แคลร์ ฮุกเกอร์ อาจารย์วิชาสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ในออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า การตอบสนองของรัฐบาลหลายๆ แห่ง ก็อาจจะมีอคติด้านเชื้อชาติแฝงฝังอยู่ด้วย

องค์อนามัยโลก (ฮู) นั้น ออกคำเตือนไม่เห็นด้วยถ้าประเทศต่างๆ ใช้ “มาตรการที่เข้าแทรกแซงอย่างไม่จำเป็นต่อการเดินทางระหว่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศ” แต่นี่ก็ไม่สามารถยับยั้งหลายสิบประเทศไม่ให้ประกาศห้ามเดินทางไปจีนหรือห้ามคนจีนเข้าเมือง

“การห้ามการเดินทางส่วนใหญ่แล้วเป็นการตอบสนองความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน” ฮุกเกอร์บอก และขณะที่บางหนการกระทำเช่นนี้มีเหตุผลอันสมควร ทว่าบ่อยครั้งที่มาตรการเช่นนี้ “ส่งผลในทางทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีความเชื่อมโยงกันอย่างหนักแน่นระหว่างคนจีนกับเชื้อไวรัสที่น่ากลัว”

แอบบีย์ สือ นักศึกษาในซิดนีย์ซึ่งเกิดที่นครเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่าท่าทีที่เพื่อนนักศึกษาของเธอบางคนแสดงออกมา “แทบจะเป็นการโจมตีเล่นงานใส่พวกนักศึกษาที่เป็นคนจีนกันทีเดียว”

จากการที่รัฐบาลอนุรักษนิยมของออสเตรเลียประกาศเนรเทศพลเมืองของตนซึ่งเดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่นไปพำนักยังเกาะที่อยู่ห่างไกลแห่งหนึ่งในช่วงระยะเวลากักกันโรค ทำให้นักศึกษาหลายพันคนซึ่งยังคงติดค้างอยู่ในจีนมีความเสี่ยงที่จะกลับมาเรียนต่อไม่ได้

“ถึงตอนนี้ดูเหมือนพวกเขาคงมาไม่ทันตอนเริ่มเปิดภาคแล้ว และมีความเป็นไปได้ว่าอาจพลาดการเรียนกันไปทั้งปีอีกด้วย เนื่องจากเนื้อหาในหลักสูตรกำหนดกันไว้ในลักษณะนั้น” สือ กล่าว

ตามคำบอกเล่าของฮุกเกอร์ การศึกษาหลายชิ้นในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา เกี่ยวกับผลกระทบของโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) ซึ่งเป็นการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาไปทั่วโลกอีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2002 แสดงให้เห็นว่า ผลกระทบของอารมณ์ความรู้สึกหวาดระแวงคนต่างชาติ มักติดค้างคงอยู่ยาวนานยิ่งกว่าความหวาดผวาทางสาธารณสุขจริงๆ มากมายนักหนา

“ขณะที่รูปแบบตรงๆ ของลัทธิเหยียดผิวอาจจะสิ้นสุดลง ในตอนที่ข่าวเกี่ยวกับเชื้อโรคระบาดจางหายไป แต่มันยังจะต้องใช้เวลานานกว่านั้นอีกสำหรับเรื่องการฟื้นตัวในเชิงเศรษฐกิจ โดยที่ผู้คนจะยังคงรู้สึกไม่ปลอดภัยกันอยู่ไปอีกนาน” เธอกล่าว

ผู้คนอาจจะยังไม่รีบกลับไปร้านรวงของคนจีนหรือภัตตาคารร้านอาหารจีน และกระทั่งอาจยึดมั่นเชื่อถือในข้อมูลข่าวสารผิดๆ ที่ห่างไกลเกินความเป็นจริงไปมากมายสุดกู่ ซึ่งระบาดอยู่ตามสื่อสังคม –อย่างเช่นมีโพสต์ยอดนิยมข้อความหนึ่งขอร้องผู้คนให้หลีกเลี่ยงอย่าได้กินบะหมี่เพื่อความปลอดภัยของพวกเขาเอง!!

(เก็บความจากเรื่อง Coronavirus spreads fear and racism worldwide ของสำนักข่าวเอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น