เอเจนซีส์/รอยเตอร์ – ล่าสุดรัสเซียแถลงวันนี้(3 ก.พ) เบลารุสมีสิทธิ์กระชับความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯหลังในวันเสาร์(1 ก.พ) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯบินไปเยือนเบลารุสในรอบ 26 ปี พร้อมให้คำมั่นสัญญา วอชิงตันสามารถสามารถจัดส่งน้ำมันให้กับอดีตสหายหมีขาวตามต้องการ หลังเมื่อเดือนที่แล้วเครมลินยกเลิกการป้อนพลังงานให้ชั่วคราว
ไฟแนนเชียลไทม์ส รายงานในวันเสาร์(1 ก.พ)ว่า ถือเป็นการเยือนจากรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯในรอบ 26 ปีสำหรับเบลารุสที่ในเวลานี้อยู่ในความขัดแย้งกับรัสเซียเรื่องปัญหาพลังงานจนถึงขั้นมีการหยุดส่ง
ไมค์ พอมเพว กลายเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯคนแรกที่เดินทางไปเยือนในวันเสาร์(1) โดยพอมเพวที่มีกำหนดจะเยือนคาซัคสถานได้กล่าวว่า ทางสหรัฐฯต้องการช่วยให้เบลารุสสามารถสร้างการมีอำนาจอธิปไตยของตัวเอง และยังจี้ไปถึงปัญหาคาใจกับรัสเซียที่ทางเครมลินบีบคั้นให้ประเทศเพื่อนบ้านที่เคยอยู่ร่วมกันในสมัยอดีตสหภาพโซเวียตให้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นโดยกล่าวว่า ทางวอชิงตันพร้อมที่จะตอบสนองต่อความต้องการในเรื่องน้ำมันกับเบลารุสในราคาต่ำ
พอมเพวกล่าวคำหวานในงานแถลงข่าวร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศเบลารุส วลาดิมีร์ มาเคอี (Vladimir Makei)ว่า “เราเป็นผู้ผลิตด้านพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก และสิ่งแค่ที่คุณจะทำก็คือโทรศัพท์หาเราเท่านั้น”
ไฟแนนเชียลไทม์สกล่าวว่า ตามปกติแล้วความสัมพันธ์ระหว่างสกรัฐฯและเบลารุสนั้นเข้าขั้นเป็นน้ำแข็ง แต่ทว่าเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พบว่าประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน เพิ่มแรงกดดันต่อมินสก์ จากการที่เบลารุสได้หันหน้าไปหาตะวันตกมากขึ้นที่ได้ผ่อนคลายมาตรการให้วีซ่าแก่พลเมืองสหภาพยุโรป และรวมไปถึงยังมีความสัมพันธ์ที่อบอุ่นกับสหรัฐฯ และในเดือนที่ผ่านมาทางมินสก์เริ่มต้นนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากนอร์เวย์เพื่อเป็นทางเลือกในการรับพลังงานจากรัสเซีย
ซึ่งในกันยายนปีที่แล้ว ทั้งวอชิงตันและมินสก์ต่างตกลงที่จะส่งเอกอัครราชทูตไปประจำเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี และในวันเสาร์(1) พอมเพวออกปากว่า เขาหวังว่ามันจะสามารถเกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้
ด้านมาเคอีกล่าวว่า การมาเยือนของพอมเพวถือเป็นรัฐมนตรีสหรัฐฯคนแรกที่เดินทางมาถึงนับตั้งแต่ปี 1994 ในขณะที่ประธานาธิบดีเบลารุส อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโค (Alexander Lukashenko)ยังอยู่ในอำนาจ ที่สามารถเป็นหลักฐานชัดเจนว่าเบลารุสและสหรัฐฯนั้นมีความตื่นตัวมากขึ้น และยังเปรยไปถึงการคาดหวังว่าทั้ง 2 ประเทศจะสามารถมีความสัมพันธ์ปกติได้ในไม่ช้า
เขากล่าวว่า “ทางเราต้อนรับต่อการที่มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นของสหรัฐฯที่นี่ในเบลารุส..ทางเรามีความสนใจเป็นอย่างมากต่อธุรกิจชาวอเมริกันที่จะมาที่นี่ในเบลารุสและทำงานอย่างแข็งขัน”
อย่างไรก็ตาม อ้างอิงจากรอยเตอร์พบว่าเครมลินได้ออกแถลงการณ์ในวันจันทร์(3)ว่า เบลารุสมีสิทธิในการมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 21 ม.คที่ผ่านมารอยเตอร์รายงานว่า ลูคาเชนโคที่ดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานแถลงว่า ทางมินสก์ต้องการที่จะลดการบริโภคน้ำมันจากรัสเซียลงราว 30% - 40% ของความต้องการตลาดในประเทศ โดยก่อนหน้ามินสก์และเครมลินมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องราคาน้ำมันปี 2020 จากการที่เครมลินต้องการมีอิทธิพลให้เพิ่มมากไปกว่านี้ต่อเบลารุสซึ่งเป็นชาติที่ถูกมองว่าเป็นเหมือนประเทศกันชนระหว่างรัสเซียและยุโรป
และในวันที่ 1 ม.ค รัสเซียหยุดการส่งน้ำมันดิบเข้าสู่โรงกลั่นเบลารุส ถึงแม้ว่าจะส่งอีกครั้งบางส่วนในวันที่ 4 ม.คก็ตาม ทั้งนี้ลูคาเชนโคได้กล่าวว่า ราคาน้ำมันรัสเซียนั้นสูงเกินกว่าที่ทางเบลารุสจะแบกรับได้ และทำให้ทางเบลารุสต้องเสาะหาแหล่งพลังงานอื่นแทน โดยในปีที่ผ่านมารัสเซียป้อนน้ำมันให้กับเบลารุสจำนวน 17.6 ล้านตัน