เอเอฟพี - การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส นอกเหนือจะทำให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 4,500 คน และแผ่ลามไปยังประเทศอื่นๆ อีก 15 ชาตินับตั้งแต่มันปรากฏตัวขึ้นในจีน มันยังแพร่กระจายคำกล่าวอ้างเท็จๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ และต่อไปนี้คือข่าวลือแบบปลอมๆ ที่ทางสำนักข่าวเอเอฟพีตรวจสอบและยืนยันว่ามันเป็นเท็จ
1. อาหารซิดนีย์ปนเปื้อน
ในออสเตรเลีย ข้อความที่โพสต์บนเฟซบุ๊กหลายข้อความและมีคนแชร์หลายพันครั้ง อ้างว่าเป็นรายชื่ออาหารและสถานที่ต่างๆ ในซิดนีย์ที่ปนเปื้อนไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งพบครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่นประเทศจีน เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม
ข้อความหนึ่งซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 27 มกราคม ระบุว่า ข้าวชนิดต่างๆ, คุกกี้ และหัวหอมทอด ปนเปื้อนไวรัส พร้อมอ้างอีกว่าสำนักงานโรคติดเชื้อได้ทำการทดสอบหลายครั้งและพบเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ในย่านชานเมืองหลายแห่งของซิดนีย์
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่นบอกกับเอเอฟพีว่า สถานที่เหล่านั้นไม่เสี่ยงสำหรับเดินทางไปเยือน และบอกว่าบรรดาอาหารดังกล่าวไม่ได้ปรากฏอยู่ในบัญชีเรียกคืนหรือคำแนะนำขององค์การอาหารรัฐนิวเซาท์เวลส์แต่อย่างใด
2. ไม่ใช่ตลาดอู่ฮั่น
วิดีโอหนึ่งบนเฟซบุ๊กซึ่งมีคนชมมากกว่า 88,000 วิว อ้างว่าภาพตลาดอู่ฮั่น ซึ่งเชื่อว่าเป็นแหล่งต้นกำหนดของไวรัส แต่แท้จริงแล้วมันเป็นภาพตลาดแห่งหนึ่งในอินโดนีเซีย
คลิปดังกล่าวโพสต์โดยบัญชีผู้ใช้หนึ่งในฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2020 เป็นภาพค้างคาว, หนู, งู และเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ ถูกวางขายในตลาดที่พลุกพล่านแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อค้นหาย้อนหลังจากภาพนิ่งในวิดีโอ พบว่าเป็นมาจากคลิปอื่นๆ อีกคลิปในยูทูปซึ่งอัปโหลดตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2019
ทางเอเอฟพียืนยันว่า ที่จริงแล้ววิดีโอดังกล่าวเป็นภาพในตลาดลันโกวัน ในจังหวัดสุลาเวสีเหนือของอินโดนีเซีย
3. คาดการยอดตายเป็นเท็จ
ในศรีลังกา มีข้อความหนึ่งโพสต์บนเฟซบุ๊กและมีคนแชร์หลายหมื่นครั้ง อ้างว่าคณะแพทย์ประมาณการว่าคนทั้งเมืองอู่ฮั่น ซึ่งมีประชากร 11 ล้านคน จะเสียชีวิตจากโคโรนาไวรัส ข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ ด้วยทางการจีนยืนยันว่าไม่เคยประมาณการดังกล่าว
ทั้งนี้ แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนรักษาโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ แต่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) แห่งสหรัฐฯ เน้นย้ำว่าคนส่วนใหญ่จะฟื้นไข้ได้ด้วยตนเอง
นอกจากนี้ โพสต์ดังกล่าวยังอ้างด้วยว่าสามารถติดเชื้อไวรัสผ่านการกินเนื้องูเห่าจีน แต่เรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปแต่อย่างใด
4. น้ำเกลือไม่สามารถฆ่าไวรัส
หลายโพสต์ที่เขียนลงเว็บไซต์เว่ยป๋อ, ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก ซึ่งแชร์ในเดือนมกราคม อ้างว่า จง หนานซาน หัวหน้าทีมสืบสวนการระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ของจีน บอกกับประชาชนว่าการล้างปากด้วยน้ำเกลือสามารถป้องกันการติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เหลวไหลสิ้นดี ด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญบอกว่าน้ำเกลือไม่ได้ฆ่าไวรัสใหม่ และเรียกร้องประชาชนอย่าเชื่อหรือแชร์ข่าวลือผิดๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ ขณะที่องค์การอนามัยโลกบอกกับเอเอฟพีว่าไม่มีหลักฐานว่าน้ำเหลือจะช่วยปกป้องการติดเชื้อโคโรนาไวรัส
5. ทฤษฎีสมคบคิดก็มา
โพสต์ต่างๆ นานาบนทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก อ้างว่าโคโรนาไวรัสถูกสร้างขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์บางอย่าง โดยหนึ่งในทฤษฎีนั้นก็คือมันสร้างขึ้นโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ
6. ข่าวลือแห่งความตื่นตระหนกในฝรั่งเศส
ในฝรั่งเศส หลายข้อความที่โพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์อ้างว่ามีประชาชนติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ทั้ง Val d'Oise, Savoie, Lot-et-Garonne และ Pyrenees-Orientales.
ข่าวลือนี้ใช้ภาพถ่ายจากสำนักข่าวต่างๆ ของฝรั่งเศสเป็นภาพประกอบ ในนั้นรวมถึงเอเอฟพี แต่ภาพเหล่านี้เป็นการตัดต่อภาพดิจิทัล และไม่พบว่ามีผู้ติดเชื้อตามห้างสรรพสินค้าดังกล่าวแต่อย่างใด