เอเอฟพี - รัฐบาลอินเดียเริ่มกู้คืนสัญญาณอินเทอร์เน็ตในแคชเมียร์แล้ววันนี้ (25 ม.ค.) หลังจากที่ตัดไปนานถึง 5 เดือนครึ่งเพื่อป้องกันการก่อเหตุจลาจล ทว่ายังคงปิดกั้นการใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่อไป
รัฐบาลนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี เริ่มใช้มาตรการปิดกั้นการสื่อสารในแคชเมียร์มาตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค. หลังประกาศเพิกถอนสถานะเขตปกครองตนเองของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่
ทางการอินเดียยังประกาศเคอร์ฟิวและส่งทหารหลายหมื่นนายเข้าไปควบคุมสถานการณ์ในแคชเมียร์ รวมถึงจับกุมนักการเมืองท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว
สัญญาณอินเทอร์เน็ตจะได้รับการกู้คืนภายในวันนี้ (25) ทว่าประชาชนยังสามารถเข้าถึงได้เฉพาะเว็บไซต์ที่รัฐบาลอนุญาตจำนวน 301 เว็บไซต์เท่านั้น เช่น เว็บไซต์สำนักข่าวต่างประเทศ, เน็ตฟลิกซ์ และแอมะซอน เป็นต้น
“การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะถูกจำกัดไว้เฉพาะเว็บไซต์ที่ได้รับอนุญาต ซึ่งไม่รวมถึงพวกโซเชียลมีเดีย” กระทรวงมหาดไทยประจำรัฐจัมมูและแคชเมียร์ระบุในคำประกาศ
ในส่วนของสัญญาณโทรศัพท์มือถือก็จะเริ่มใช้ได้แค่ระบบ 2G เท่านั้น
อินเดียได้ชื่อว่าเป็นผู้นำโลกในแง่ของการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวของมวลชน และเมื่อเร็วๆนี้ก็เคยระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคอื่นๆ หลังเกิดกระแสลุกฮือต้านกฎหมายสัญชาติซึ่งมีลักษณะกีดกันชาวมุสลิมอย่างเห็นได้ชัด
รัฐบาล โมดี อ้างว่าจำเป็นต้องตัดการสื่อสารในแคชเมียร์ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง และเพื่อยับยั้งแผนโจมตีของกลุ่มติดอาวุธซึ่งมีรัฐบาลปากีสถานหนุนหลัง
ศาลสูงสุดอินเดียวิจารณ์คำสั่งของรัฐบาลว่าเป็นการ “ใช้อำนาจตามอำเภอใจ” และย้ำว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตถือเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น
ดินแดนแคชเมียร์ถูกแบ่งออกเป็นฝั่งอินเดียและปากีสถานตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1947 ทว่าทั้ง 2 ฝ่ายยังคงอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองพื้นที่ทั้งหมดจนถึงขั้นทำสงครามกันมาแล้ว 2 ครั้ง และยังเกิดเหตุปะทะตามแนวชายแดนเรื่อยมา