นายภณวัชร์นันท์ ไกรมาตย์ นายกสมาคมนักประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการที่ภาครัฐมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ล่าช้าจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า ตนเห็นว่าขณะนี้หลายภาคส่วนต่างก็ได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะส่งผลต่อสุขภาพประชาชนและการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นวงกว้าง อีกทั้งตนเชื่อว่าปัญหานี้จะเกิดในทุกๆ ปี ดังนั้น ในฐานะที่ได้ทำงานในด้านการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนั้นก็จะพยายามนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนได้มีอากาศที่บริสุทธิ์ในการหายใจซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการดำรงชีวิต
นายภณวัชร์นันท์กล่าวต่อว่า ส่วนการที่ภาครัฐถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ในการแก้ไขปัญหาว่าล่าช้านั้น ตนเห็นว่ากรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีหน้าที่ดูแลป่าไม้ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ได้ เกี่ยวข้องโดยตรงนั้น เปรียบเสมือน ‘ยักษ์ไม่มีกระบอง’ เพราะมีหน้าที่แต่ไม่มีอำนาจทางกฎหมายในการบังคับให้หน่วยงานต่างๆ ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งเห็นว่ายังมีอีกหลายกรมที่ทำงานทำนองเดียวกัน เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สถาบันความปลอดภัย ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกระทรวงแรงงาน เป็นต้น ตนอยากให้มีการรวบรวมหน่วยงานข้างต้นมาเป็นกระทรวงใหม่ คือ กระทรวงป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีการทำงานในการแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จและเป็น ‘ยักษ์ที่มีกระบอง’ ที่น่าเกรงขาม และสามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนในการแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี
“รัฐบาลควรยกระดับกรมป้องกันสาธารณภัยขึ้นเป็นกระทรวงป้องกันสาธารณภัย และสิ่งแวดล้อม โดยดึงสถาบันความปลอดภัยของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ของกระทรวงแรงงาน มาขึ้นกับกระทรวง และนำกฎหมายความปลอดภัยทั้งหมด มากระทรวงใหม่ เพราะทุกสถานประกอบการ จะมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ มีอยู่ทุกที่ ประสานงาน ทำงานให้เป็นระบบ ตรวจสอบระบบน้ำเสีย ควันพิษ ก่อนปล่อยออกจากสถานประกอบการ จะแก้ปัญหา สิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำเสีย อากาศ และภัยต่างๆ ได้เป็นระบบ แก้ปัญหาฝุ่น pm 2.5 แบบยั่งยืนเพื่อสร้างอากาศที่สะอาดให้ลูกหลาน” นายภณวัชร์นันท์กล่าว