เอเอฟพี - ผลการวิเคราะห์ด้านพันธุศาสตร์พบว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดในจีนและคร่าชีวิตผู้ติดเชื้อไปแล้ว 17 ราย อาจมีต้นกำเนิดมาจากสัตว์จำพวก ‘ค้างคาวและงู’
ทฤษฎีนี้สรุปจากการศึกษาวิเคราะห์การเรียงลำดับเบสของสารพันธุกรรม (genome sequence) ของเชื้อไวรัสซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เปิดเผยหลังพบการระบาด โดยงานวิจัย 2 ชิ้นให้คำตอบที่ตรงกันว่า ‘ค้างคาว’ น่าจะมีส่วนสำคัญในการแพร่เชื้อ
งานวิจัยชิ้นแรกซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Science China Life Sciences ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) ในกรุงปักกิ่งเมื่อวันอังคาร (21) ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กับไวรัสชนิดอื่นๆ และพบว่าโคโรนาไวรัสซึ่งปรากฏขึ้นครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่นมีความใกล้เคียงอย่างมากกับสายพันธุ์ไวรัสที่พบในค้างคาว
“มีเหตุผลที่น่าเชื่อว่า ค้างคาวคือผู้ให้อาศัยหรือ ‘โฮสต์’ ดั้งเดิมของไวรัสโคโรนาอู่ฮั่น แต่ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมีโฮสต์ขั้นกลางอื่นๆ ที่ทำให้เชื้อแพร่จากค้างคาวมาสู่มนุษย์” คณะนักวิจัยซึ่งมาจากสถาบันหลายแห่งของจีน ระบุ
ผลการศึกษาชิ้นแรกนี้ไม่ได้ระบุชี้ชัดว่าสัตว์ชนิดใดบ้างที่อาจเป็นโฮสต์ขั้นกลาง แต่มีงานวิจัยชิ้นที่ 2 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Medical Virology เมื่อวานนี้ (22) ระบุว่า “งู” น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญ
“ในการค้นหาตัวเก็บเชื้อไวรัส (virus reservoir) เราได้วิเคราะห์และเปรียบเทียบการเรียงลำดับสารพันธุกรรมอย่างครอบคลุม ซึ่งผลที่ออกมาบ่งชี้ว่างูคือตัวเก็บเชื้อไวรัสที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด” งานวิจัยชิ้นที่สอง ระบุ
นักวิจัยกลุ่มนี้ย้ำว่า ข้อสรุปของพวกเขา “ยังจำเป็นต้องได้รับการพิสูจน์รับรองโดยการศึกษาในสัตว์ชนิดอื่นๆ ด้วย”
แม้งานวิจัยทั้ง 2 ชิ้นจะไม่ได้อธิบายว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ถ่ายทอดจากสัตว์มาสู่คนด้วยวิธีใด แต่ก็ช่วยให้ทางการจีนได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการสืบหาต้นตอของเชื้อโรคซึ่งทำให้มีผู้ป่วยปอดอักเสบไปแล้วกว่า 600 คน
ตลาดซึ่งเป็นต้นกำเนิดไวรัสโคโรนาในเมืองอู่ฮั่นนั้นมีการวางขายเมนูเปิบพิสดารหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสุนัขจิ้งจอก, จระเข้, ลูกหมาป่า, ซาลามานเดอร์ยักษ์, งู, หนู, นกยูง, เม่น, เนื้ออูฐ และอื่นๆ
เกา ฝู ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน แถลงที่กรุงปักกิ่งวานนี้ (22) ว่า เจ้าหน้าที่เชื่อว่าไวรัสน่าจะมาจาก “สัตว์ป่าซึ่งถูกนำมาขายในตลาดอาหารทะเล” แต่ยังไม่รู้แน่ว่าเป็นสัตว์ชนิดใด
ก่อนหน้านี้ การระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันหรือ SARS ในจีนถูกพบว่ามีความเชื่อมโยงกับการบริโภคเนื้อชะมด
เนื้อสัตว์แปลกๆ เช่น ชะมด หนูบางชนิด และค้างคาว ยังคงมีผู้นิยมบริโภคทั้งในจีนและประเทศแถบเอเชียอื่นๆ โดยถือกันว่าเป็นอาหารชั้นเลิศ บ้างก็เชื่อว่ามีสรรพคุณบำรุงร่างกาย แม้ไม่มีงานวิจัยยืนยันก็ตาม