xs
xsm
sm
md
lg

สภารัสเซียให้การรับรองท่วมท้นตัวเลือกนายกรัฐมนตรีของปูติน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มิคาอิล มิชูสติน กล่าวกับสภาดูมาในวันพฤหัสบดี(16ม.ค.) ก่อนที่สภาแห่งนี้จะยกมือรับรองเขาในฐานะนายกรัฐมนตรี
รอยเตอร์ - รัฐสภารัสเซียลงมติอย่างท่วมท้นในวันพฤหัสบดี(16ม.ค.) รับรอบตัวเลือกที่น่าประหลาดใจของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หนึ่งวันหลังจากผู้นำรายนี้แถลงแผนปฏิรูปที่เรียกว่า “การปฏิวัติเดือนมกราคม” การยกเครื่องทางการเมืองครั้งใหญ่ที่บางคนมองว่าอาจเปิดทางให้ปูตินครองอำนาจในตลอดชีวิต

สภาดูมาหรือสภาผู้แทนราษฏรของรัสเซีย ยกมือสนับสนุนการเสนอชื่อ มิคาอิล มิชูสติน ชายวัย 53 ปีผู้ซึ่งแทบไม่เป็นที่รู้จักในทางการเมือง ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนน 383 เสียงจากทั้งหมด 424 เสียง ทั้งนี้ไม่มีใครโหวตคัดค้าน แต่มีผู้งดออกเสียง 41 เสียง

ไม่นานหลังจากนั้น ปูติน ได้ลงนามในกฤษฎีกาแต่งตั้งเขาเป็นนายกรัฐมนตรี

มิชูสติน ผู้อำนวยการสำนักงานสรรพากร ซึ่งได้รับการยกย่องในการปรับปรุงระบบจัดเก็บภาษีของประเทศ และร่วมเล่นฮอกกี้กับปูติน กล่าวว่าเขาจะเสนอชื่อคณะรัฐมนตรีของเขาในอนาคตอันใกล้นี้

การแต่งตั้ง มิชูสติน เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบการเมืองอย่างกว้างขวางที่ปูตินแถลงเมื่อวันพุธ(15ม.ค.) ซึ่งนำมาสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของดมิทรี เมดเวเดฟ เช่นเดียวกับคณะรัฐบาลของเขา

การเปลี่ยนแปลงนี้ถูกตีความอย่างกว้างขวางว่า มีจุดหมายในการทำให้ปูติน วัย 67 ปี ได้อยู่ในอำนาจต่อหลังสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2024 ขณะที่เขาครอบงำการเมืองของรัสเซีย ทั้งในฐานะประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีมานานกว่า 2 ทศวรรษ

แผนปฏิรูปรัฐธรรมนูญที่ปูตินเสนอเมื่อวันพุธพร้อมแนะนำให้มีการทำประชามตินั้น จะเปิดทางเลือกให้เขารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจมากขึ้นหลังปี 2024 ขณะที่อำนาจของประธานาธิบดีถูดลิดรอนลง หรือตำแหน่งประธานสภาแห่งรัฐที่ปูตินหมายมั่นก่อตั้งขึ้นในเร็วๆนี้ หรือแม้แต่ตำแหน่งประธานรัฐสภา


ปฏิบัติการยกเครื่องอย่างรุนแรงและฉับพลันครั้งนี้ได้มอบอำนาจควบคุมการเปลี่ยนผ่านแก่ปูติน และยังถูกมองจากผู้คนบางส่วนด้วยว่าเป็นความพยายามลดการต่อสู้ช่วงชิงกันภายในระหว่างตอนนี้จนถึงปี 2024

การลาออกอย่างกะทันหันของรัฐบาลเมดเวเดฟ ยังเปิดทางให้ ปูติน แสดงออกว่าเขาตอบสนองต่อความไม่พอใจของประชาชน ท่ามกลางเสียงขุ่นเคืองที่มีมานานหลายปีต่อมาตรการรัดเข็มขัดและการปรับเพิ่มอายุผู้รับบำนาญ

เมดเวเดฟ ซึ่งทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2012 กลายเป็นสายล่อฟ้าในความผิดหวังของประชาชนชาวรัสเซีย ในขณะที่เขาบริหารประเทศในยามที่รัสเซียต้องเผชิญกับภาวะถดถอยระหว่างปี 2014-16, มาตรการคว่ำบาตรจากตะวันตกและราคาน้ำมันที่แกว่งตัวไปมา

พวกนักวิเคราะห์และนักวิจารณ์เครมลิน มองว่าด้วยค่าจ้างที่แท้จริงลดลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาและคะแนนนิยมของรัฐบาลค่อยๆลดต่ำลงเรื่อยๆ จึงมีแนวโน้มมากขึ้นว่ามันอาจส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมของปูตินเอง และมันจึงนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ลีโอนิด โวลคอฟ นักการเมืองฝ่ายค้าน วิจารณ์ว่า ดูเหมือนปูตินกำลังแผ้วทางเพื่อให้ตนเองได้ปกครองประเทศจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ด้านหนังสือพิมพ์ธุรกิจ คอมเมอร์แซนต์ ฉบับวันพฤหัสบดี เรียกแผนปฏิรูปของปูตินว่า “การปฏิวัติเดือนมกราคม” และเสริมว่าข้อเสนอดังกล่าวดูเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอีกมากมาย

ภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งกำหนดให้ประธานาธิบดีทำหน้าที่ได้ไม่เกิน 2 สมัยนั้น ปูตินจะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้อีกในปี 2024 ขณะที่ผู้สนับสนุนเขานึกไม่ออกว่า การเมืองรัสเซียจะเป็นอย่างไรถ้าไม่มีปูติน

ทั้งนี้ปูตินยังคงได้รับความนิยมในหมู่ชาวรัสเซียที่มองว่า เขาเป็นที่มาของเสถียรภาพ แม้หลายคนบ่นว่า ปูตินอยู่ในอำนาจนานเกินไป ขณะที่บำนาญและมาตรฐานการครองชีพของประชาชนเสื่อมถอย ปัญหาความยากจนแพร่หลาย และระบบการดูแลสุขภาพไร้ประสิทธิภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น