เอเจนซีส์ - พรรครัฐบาลรัสเซียสนับสนุน มิคาอิล มิชูสติน ผู้ซึ่งแทบไม่เป็นที่รู้จักในทางการเมือง ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หลังรัฐบาลชุดปัจจุบันลาออกเพื่อขานรับแผนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญของวลาดิมีร์ ปูติน ท่ามกลางกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเดินเกมของปูตินเพื่อสืบทอดอำนาจปกครองประเทศตลอดชีวิต
การแต่งตั้งมิชูสตินเป็นส่วนหนึ่งของการยกเครื่องระบบการเมืองครั้งใหญ่ที่ปูตินประกาศเมื่อวันพุธ (15 ม.ค.) อันนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของดมิทรี เมดเวเดฟ รวมถึงการลาออกของคณะรัฐบาลยกชุด
ดมิทรี เมดเวเดฟ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2012 ได้ประกาศลาออก ไม่นานหลังการปราศรัยของปูตินเมื่อวันพุธ พร้อมอธิบายด้วยว่าการลาออกของเขาเป็นความเคลื่อนไหวที่จำเป็นเพื่อลบทุกข้อจำกัดที่จะส่งผลต่อการปฏิรูปของปูติน
เป็นที่คาดกันว่า สภาดูมาหรือสภาล่างของรัสเซียจะโหวตสนับสนุนการแต่งตั้งมิชูสตินในช่วงเย็นวันพฤหัสบดี (16 ม.ค.) หลังจากที่เขาปราศรัยต่อสภา เนื่องจากพรรคยูไนเต็ด รัสเซีย ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ครองเสียงข้างมากในสภาดูมา
มิชูสติน วัย 53 ปี เป็นผู้อำนวยการสำนักงานสรรพากร และได้รับการยกย่องในการปรับปรุงระบบจัดเก็บภาษีของประเทศ เมื่อได้รับการแต่งตั้งแล้ว มิชูสตินจะมีเวลา 1 สัปดาห์สำหรับการเสนอจัดตั้งรัฐบาลใหม่พร้อมกับตั้งคณะรัฐมนตรี โดยที่อาจจะมีบางตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
การเปลี่ยนแปลงนี้ถูกตีความอย่างกว้างขวางว่า มีจุดหมายในการทำให้ปูติน วัย 67 ปี ได้อยู่ในอำนาจต่อหลังสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2024
ทั้งนี้ ปูตินครอบงำการเมืองรัสเซียมานาน 2 ทศวรรษ ทั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์จำนวนมากกล่าวหาปูติน อดีตสายลับเคจีบีรายนี้มานานแล้วว่า วางแผนสืบทอดอำนาจหลังหมดวาระ
แผนปฏิรูปรัฐธรรมนูญที่ปูตินเสนอเมื่อวันพุธพร้อมแนะนำให้มีการทำประชามตินั้น จะเปิดทางเลือกให้เขารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจมากขึ้นหลังปี 2024 ขณะที่อำนาจของประธานาธิบดีถูดลิดรอนลง หรือตำแหน่งประธานสภาแห่งรัฐที่ปูตินหมายมั่นก่อตั้งขึ้นในเร็วๆ นี้ หรือแม้แต่ตำแหน่งประธานรัฐสภา
ลีโอนิด โวลคอฟ นักการเมืองฝ่ายค้าน วิจารณ์ว่า ดูเหมือนปูตินกำลังแผ้วทางเพื่อให้ตนเองได้ปกครองประเทศจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ด้านหนังสือพิมพ์ธุรกิจ คอมเมอร์แซนต์ ฉบับวันพฤหัสบดี เรียกแผนปฏิรูปของปูตินว่า “การปฏิวัติเดือนมกราคม” และเสริมว่าข้อเสนอดังกล่าวดูเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอีกมากมาย
ภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งกำหนดให้ประธานาธิบดีทำหน้าที่ได้ไม่เกิน 2 สมัยนั้น ปูตินจะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้อีกในปี 2024 ขณะที่ผู้สนับสนุนเขานึกไม่ออกว่าการเมืองรัสเซียจะเป็นอย่างไรถ้าไม่มีปูติน
ทั้งนี้ ปูตินยังคงได้รับความนิยมในหมู่ชาวรัสเซียที่มองว่า เขาเป็นที่มาของเสถียรภาพ แม้หลายคนบ่นว่า ปูตินอยู่ในอำนาจนานเกินไป ขณะที่บำนาญและมาตรฐานการครองชีพของประชาชนเสื่อมถอย ปัญหาความยากจนแพร่หลาย และระบบการดูแลสุขภาพไร้ประสิทธิภาพ