รอยเตอร์ - ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุวานนี้ (13 ม.ค.) ว่าปฏิบัติการลอบสังหารนายพล กาเซ็ม โซไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ (Quds) อิหร่าน เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ ‘ข่มขวัญศัตรู’ ซึ่งสหรัฐฯ ใช้กับประเทศคู่แข่งอย่างจีนและรัสเซียด้วย ซึ่งคำยืนยันนี้ยิ่งทำให้ข้ออ้างที่ว่าสหรัฐฯ ฆ่า โซไลมานี เพื่อสกัดแผนโจมตีฟังดูไร้น้ำหนักมากขึ้นไปอีก
ระหว่างการปาฐกถาที่สถาบันฮูเวอร์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พอมเพโอ ไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องที่ โซไลมานี มีแผนโจมตีบุคลากรและทรัพย์สินของสหรัฐฯ เลยแม้แต่น้อย และยืนยันข้ออ้างนี้ก็ต่อเมื่อมีผู้ซักถามว่านั่นคือเหตุผลที่สหรัฐฯ ส่งโดรนไปถล่มขบวนรถของ โซไลมานี ที่สนามบินแบกแดดเมื่อวันที่ 3 ม.ค. ใช่หรือไม่
การปาฐกถาในหัวข้อ ‘การฟื้นฟูมาตรการป้องปราม: ตัวอย่างกรณีอิหร่าน’ (The Restoration of Deterrance: The Iranian Example) เน้นหนักไปในเรื่องยุทธศาสตร์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งต้องการสร้าง ‘วิธีป้องปรามที่แท้จริง’ ต่ออิหร่าน หลังจากที่นโยบายของรัฐบาลเดโมแครตและรีพับลิกันชุดก่อนๆ ยิ่งกระตุ้นให้อิหร่าน “ทำกิจกรรมมุ่งร้ายมากขึ้น”
สมาชิกสภาคองเกรสทั้งฝ่ายเดโมแครตและรีพับลิกันต่างตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับคำสั่งปลิดชีพโซไลมานี รวมไปถึงเรื่องที่วอชิงตันอ้างว่ามีข่าวกรองยืนยันว่านายพลผู้นี้กำลังวางแผนโจมตีอเมริกาในอนาคตอันใกล้ ขณะที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาเผยว่าสถานทูตอเมริกัน 4 แห่งอยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่อาจถูกอิหร่านโจมตี
มาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยอมรับเมื่อวันอาทิตย์ (12) ว่าไม่เคยได้รับข่าวกรองเตือนเรื่องแผนโจมตีสถานทูตสหรัฐฯ ขณะที่ ทรัมป์ เองก็จุดกระแสวิจารณ์เพิ่มขึ้นอีกด้วยการออกมาพูดว่า “ไม่สำคัญหรอกว่า โซไลมานี จะเป็นภัยคุกคามในระยะเวลาอันใกล้หรือเปล่า”
พอมเพโอ ชี้ว่าการปลิดชีพผู้บัญชาการหน่วยคุดส์ซึ่งดูแลรับผิดชอบภารกิจสอดแนมและปฏิบัติการทางทหารของอิหร่านในต่างประเทศเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “ยุทธศาสตร์ที่ใหญ่กว่า”
“ประธานาธิบดีทรัมป์และพวกเราในทีมความมั่นคงแห่งชาติกำลังฟื้นฟูมาตรการป้องปราม ซึ่งจะเป็นการป้องปรามที่แท้จริงต่อสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว
“ศัตรูของคุณจะต้องรับรู้ว่า คุณไม่เพียงมีศักยภาพพอที่จะทำให้พวกเขาสูญเสียเท่านั้น แต่คุณพร้อมที่จะเอาจริงด้วย”
พอมเพโอ ระบุด้วยว่า ข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ปี 2015 ซึ่งเป็นผลงานการทูตชิ้นโบว์แดงของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา และ ทรัมป์ ตัดสินใจนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกมาเมื่อปี 2018 “ทำให้อิหร่านเหิมเกริม”
“เวลานี้จุดยืนของอเมริกาต่ออิหร่านแข็งแกร่งที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา” เขากล่าว พร้อมชี้ถึงผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตรที่ ทรัมป์ รื้อฟื้นเพื่อลงโทษอิหร่าน
“ความสำคัญของมาตรการป้องปรามไม่ได้จำกัดอยู่แค่อิหร่านเท่านั้น แต่เราจะต้องสามารถข่มขวัญศัตรูเพื่อปกป้องเสรีภาพได้ในทุกๆ กรณี นั่นคือจุดประสงค์ทั้งหมดในการทำงานของประธานาธิบดี ทรัมป์ ซึ่งต้องการทำให้กองทัพสหรัฐฯ กลับมายิ่งใหญ่ที่สุด”
พอมเพโอ ยังเอ่ยถึงเรื่องที่สหรัฐฯ กลับมาสนับสนุนยุทโธปกรณ์ทางทหารชนิดร้ายแรง (lethal) ให้แก่ยูเครนเพื่อใช้ต่อสู้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกที่มีรัสเซียหนุนหลัง ตลอดจนเรื่องที่ ทรัมป์ ถอนตัวออกจากสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (INF) ที่ทำร่วมกับมอสโก และเปิดทางให้กองทัพสหรัฐฯ ทดสอบขีปนาวุธพิสัยกลางรุ่นใหม่
เขาย้ำด้วยว่า การที่สหรัฐฯ ส่งเรือออกปฏิบัติภารกิจในทะเลจีนใต้เพิ่มขึ้นเพื่อตอบโต้ที่จีนเสริมกำลังทหารบนหมู่เกาะพิพาท ตลอดจนเรื่องที่ ทรัมป์ สั่งรีดภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจีน ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ป้องปรามเช่นกัน