รอยเตอร์ - กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยกเลิกตราหน้าจีนว่าเป็นชาติที่ปั่นค่าเงิน (currency manipulator) วานนี้ (13 ม.ค.) ในขณะที่ผู้แทนระดับสูงจากสองชาติมหาอำนาจเตรียมลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรกในวันพุธ (15) เพื่อลดทอนความตึงเครียดของสงครามการค้าที่ยืดเยื้อมานาน 18 เดือน
รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ สตีเวน มนูชิน เคยประกาศให้จีนเป็นชาติที่ปั่นค่าเงินเมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1994 จากกรณีที่ปักกิ่งปล่อยค่าเงินหยวนร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี
กฎหมายสหรัฐฯ ได้กำหนดเกณฑ์เอาไว้ 3 ข้อเพื่อพิจารณาว่าประเทศคู่ค้ารายใหญ่มีพฤติกรรมปั่นค่าเงินหรือไม่ ได้แก่ 1) ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ อย่างน้อย 20,000 ล้านดอลลาร์ 2) มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอย่างน้อย 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และ 3) มีการแทรกแซงฝ่ายเดียวในตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 2% ของจีดีพีในระยะเวลา 12 เดือน อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังๆ มานี้จีนมีพฤติกรรมเข้าเกณฑ์ที่กระทรวงกำหนดไว้เพียง 1 เกณฑ์ นั่นคือเป็นชาติที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ อย่างมโหฬาร
ในรายงานรอบครึ่งปีว่าด้วยสถานการณ์ค่าเงินฉบับล่าสุด กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า จีนได้ “ให้คำมั่นสัญญาที่บังคับใช้ได้จริงว่าจะงดเว้นจากการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราเพื่อสร้างความได้เปรียบ” และตกลงจะเผยแพร่ข้อมูลสำคัญๆ เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนและดุลยภาพภายนอก (external balance) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการค้าเฟสแรก
รองนายกรัฐมนตรี หลิว เหอ ของจีนเดินทางถึงวอชิงตันเมื่อวานนี้ (13) เพื่อเตรียมเข้าร่วมพิธีลงนามข้อตกลงการค้ากับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำเนียบขาว ขณะที่แหล่งข่าวใกล้ชิดระบุว่า แม้การถูกครหาว่าเป็นชาติที่ปั่นค่าเงินจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อจีน แต่หากยกเลิกเสียได้ก็จะถือเป็นสัญญาณไมตรีที่ดีในสายตาเจ้าหน้าที่ปักกิ่ง
โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ให้สัมภาษณ์กับฟ็อกซ์บิสสเนสวานนี้ (13) ว่า ขั้นตอนการแปลข้อตกลงการค้าเฟสแรกเกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว และจะมีการเผยแพร่เนื้อหาให้สาธารณชนทราบในวันพุธ (15) ก่อนเข้าสู่พิธีลงนาม
รายงานสถานการณ์ค่าเงินฉบับล่าสุดชี้ว่า เงินหยวนจีนเคยอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ระดับ 7.18 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นเดือน ก.ย. ปี 2019 ก่อนจะแข็งค่าขึ้นในเดือน ต.ค. กระทั่งปัจจุบันมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ราวๆ 6.93 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
“ในบริบทเช่นนี้ กระทรวงการคลังจึงเห็นว่าจีนไม่ควรที่จะถูกระบุว่าเป็นชาติที่ปั่นค่าเงินอีกต่อไป” รายงานระบุ
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงเรียกร้องให้จีนมีมาตรการที่เด็ดขาดเพื่อลดปัญหาค่าเงินหยวนอ่อน และทำตลาดให้เปิดกว้างเพื่อส่งเสริมการเติบโตในระยะยาว
ปีที่แล้ว ธนาคารกลางจีนออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้มาตรการแทรกแซงเพื่อทำให้ค่าเงินหยวนอ่อน และวิจารณ์ข้อครหาของสหรัฐฯ ว่าบ่อนทำลายกฎระเบียบสากล
มาร์ค โซเบล อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของสถาบันด้านนโยบายเศรษฐกิจ OMFIF ในกรุงลอนดอน ชี้ว่า จีนถูกสหรัฐฯ กล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมเพียงเพราะความโกรธกริ้วของประธานาธิบดีทรัมป์
“มันไม่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่แรกแล้ว จีนจัดการค่าเงิน แต่ไม่ได้ใช้วิธีปั่นค่าเงิน” โซเบล ระบุ พร้อมย้ำว่าจีนไม่ได้แทรกแซงตลาดเงินมาหลายปีแล้ว ส่วนสาเหตุที่เงินหยวนอ่อนค่าหนักเมื่อช่วงปีที่ผ่านมาเกิดจากการที่นักลงทุนหวาดผวาคำขู่รีดภาษีของทรัมป์
รายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังระบุรายชื่อประเทศที่ต้องถูกจับตาพฤติกรรมบิดเบือนค่าเงินต่อไป ได้แก่ เยอรมนี, ไอร์แลนด์, อิตาลี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เกาหลีใต้ และเวียดนาม และมีการเพิ่มสวิตเซอร์แลนด์เข้าไปอีกหนึ่ง รวมเป็น 9 ประเทศ