xs
xsm
sm
md
lg

ไทยงานเข้า! ข้อมูลล่าสุดชี้ยิ่งเสี่ยงถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำ “ปั่นค่าเงิน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บลูมเบิร์ก - ข้อมูลล่าสุดพบไทยมีตัวเลขเกินดุลการค้าสหรัฐฯ เกิน 20,000 ล้านดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพิ่มโอกาสยิ่งขึ้นที่จะถูกเพิ่มชื่อเข้าไปในบัญชีเฝ้าระวังปั่นค่าเงิน (watchlist of currency manipulators) ของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกา ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อวันพุธ (8 ม.ค.)

บลูมเบิร์กระบุ ตามรายงานของสำนักงานสถิติและสำมะโนประชากรแห่งชาติของสหรัฐฯ (US Census Bureau) ที่เผยแพร่ในวอชิงตันเมื่อวันจันทร์ (6 ม.ค.) พบว่าไทยตัวเลขเกินดุลการค้าสหรัฐฯ แตะระดับ 20,050 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 12 เดือนจนถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเกินกว่าข้อจำกัด 20,000 ล้านดอลลาร์ที่ทางกระทรวงการคลังสหรัฐฯกำหนดไว้สำหรับการขาดดุลการค้าแต่พอดีในระดับทวิภาคี และนั่นหมายความว่าตอนนี้ไทยเข้าเกณฑ์สำหรับใส่ชื่อในบัญชีเฝ้าระวังปั่นค่าเงินแล้ว 2 ข้อจาก 3 ข้อ

พัฒนาการล่าสุดนี้เพิ่มการพินิจพิเคราะห์อย่างละเอียดต่อนโยบายค่าเงินของไทยในช่วงเวลาที่พวกเจ้าหน้าที่ของไทยกำลังดิ้นรนพยายามสกัดการแข็งค่าของเงินบาทซึ่งแข็งค่าเกือบ 6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา กลายเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าเร็วที่สุดเหนือสกุลเงินอื่นๆในเอเชีย

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ถือเป็นคู่หูทางการค้าใหญ่ที่สุดอันดับของไทย มีมูลค่าการค้ารวม 47,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2018

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะเผยแพร่รายงาน 2 ครั้งต่อปี สำหรับการกำหนดว่าประเทศใดบ้างที่พวกเขามีความกังวลเกี่ยวกับการปั่นค่าเงิน หากเข้าเกณฑ์สำหรับใส่ชื่อในบัญชีเฝ้าระวัง 2 ใน 3 ข้อ ดังต่อไปนี้ 1. มียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างน้อย 20,000 ล้านดอลลาร์ 2. มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างน้อย 2% ของจีดีพี 3. เข้าแทรกแซงค่าเงินฝ่ายเดียวเทียบเท่ากับ 2%ของจีดีพี ต่อเนื่องเกินกว่า 6 เดือนในรอบ 1 ปีย้อนหลัง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ของบลูมเบิร์กเมื่อวันพุธ (8 ม.ค.) ว่าไทยกำลังประสานงานใกล้ชิดกับเหล่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เกี่ยวกับผลงานของไทยในมาตรการต่างๆ เหล่านั้น และบอกว่าตามข้อมูลของไทยเอง ไทยยังไม่ละเมิดข้อกำหนดเกินดุลการค้าหรัฐฯเกินกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์

ในส่วนของเกณฑ์อื่นๆ นายวิรไทบอกว่า จากความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในปี 2019 แสดงให้เห็นว่าไทยไม่ควรถูกมองว่าเป็นหนึ่งในชาติที่พยายามปั่นค่าเงินเพื่อให้ได้เปรียบด้านการส่งออก และเขาอ้างด้วยว่าไทยมีความก้าวหน้าในการปรับลดดุลบัญชีเดินสะพัดตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในนั้นรวมถึงความพยายามเพิ่มการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

ทั้งนี้ ในรายงานเมื่อเดือนพฤษภาคม 2019 มี 3 ชาติในอาเซียน ประกอบด้วยสิงคโปร์, มาเลเซีย และเวียดนาม ถูกอ้างเป็นครั้งแรกว่าละเมิดเกณฑ์สำหรับใส่ชื่อในบัญชีเฝ้าระวังปั่นค่าเงิน 2 ข้อจาก 3 ข้อ ส่วน ไทย ละเมิดเพียงข้อเดียวคือเกินดุลบัญชีเดินสะพัด

จากการคำนวณของบลูมเบิร์กพบว่า ตัวเลขเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอยู่ในระดับเหนือกว่า 2% ของจีดีพี มาทุกไตรมาสตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2014

รายงานฉบับล่าสุดของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่ถูกเผยแพร่ออกมาล่าช้ากว่าปกติ จากเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงปลายปี 2019 เนื่องจากสหรัฐฯ และจีนมัวง่วนอยู่กับการเจรจาข้อตกลงการค้า “เฟส 1” ซึ่งคาดหมายว่าจะมีการลงนามในวันที่ 15 มกราคม

ก่อนหน้านี้ไทยตกเป็นเป้าหมายเล่นงานของสหรัฐฯ ในด้านนโยบายการค้ามาแล้ว โดยเมื่อเดือนตุลาคม อเมริกาบอกว่าจะระงับสิทธิพิเศษภาษีศุลกากร (GSP) มูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์ อ้างถึงความล้มเหลวในการมอบสิทธิต่างๆแก่แรงงาน ในนั้นรวมถึงเสรีภาพในการจัดตั้งสหภาพแรงงานและเจรจาต่อรอง
กำลังโหลดความคิดเห็น