(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
Han concedes Taiwan presidential election to Tsai
By Jeff Pao
11/01/2020
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันจะยังคงเป็นเรื่องใหญ่ในช่วง 4 ปีข้างหน้า สำหรับ ไช่ อิงเหวิน ผู้เพิ่งชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีไต้หวันสมัยที่สอง
ในช่วง 4 ปีข้างหน้า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันจะยังคงเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ที่สุด สำหรับ ไช่ อิงเหวิน ผู้เพิ่งได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันเป็นสมัยที่สอง
หัน กว๋ออี๋ว์ ผู้ลงแข่งขันในนามของพรรคก๊กมิ่นตั๋ง( เคเอ็มที) ฝ่ายค้าน ได้ประกาศยอมรับความปราชัยในคืนวันเสาร์ (11 ม.ค.) เป็นการแผ้วถางทางให้แก่การคืนสู่ตำแหน่งอีกคำรบของไช่
“ผมได้โทรศัพท์ถึงประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน แล้ว และแสดงความยินดีกับเธอ” หันกล่าว ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์ฮ่องกง RTHK “เธอได้รับอำนาจจากประชาชนไต้หวันให้เป็นผู้นำของเกาะแห่งนี้ในช่วง 4 ปีจากนี้ไป ประชาธิปไตย, เสรีภาพ, และหลักนิติธรรม คือค่านิยมที่เป็นแกนกลางของไต้หวัน ประชาชนไต้หวันได้ตัดสินใจแล้ว ในฐานะของผู้สมัคร พวกเราจะยอมรับอย่างเต็มที่ต่อผลการเลือกตั้ง” เขากล่าว
ผู้ออกเสียงชาวไต้หวันนับล้านๆ เดินทางไปใช้สิทธิที่หน่วยเลือกตั้งต่างๆ ในวันเสาร์ (11 ม.ค.) เพื่อเลือกตั้งผู้นำของพวกเขา ทั้งประธานาธิบดี และสมาชิกของรัฐสภาที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “สภานิติบัญญัติหยวน” (Legislative Yuan) จำนวนทั้งสิ้น 113 คน ชาวไต้หวันที่อยู่ในต่างแดนจำนวนมากได้บินกลับเกาะแห่งนั้นเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง เมื่อเวลาย่างเข้ากลางคืน ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการซึ่งพวกเครือข่ายสื่อด้านข่าวรายใหญ่ๆ ในท้องถิ่นพากันรายงานอัปเดตอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่า ไช่ ที่ปัจจุบันอายุ 63 ปี สามารถคว้าเสียงโหวตไปได้ราว 56-57% จากจำนวนบัตรลงคะแนนกว่า 10 ล้านใบเท่าที่นับกันได้ถึงตอนนั้น
การเลือกตั้งคราวนี้ถูกมองว่าเป็นโอกาสอันสำคัญสำหรับพวกผู้ออกเสียงชาวไต้หวัน 19.3 ล้านคนที่จะแสดงความคิดเห็นของพวกเขาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับเกาะไต้หวัน ที่เรียกกันว่า “ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ” (cross-strait relations) เมื่อพิจารณาจากข้อเสนอของปักกิ่งที่จะนำไต้หวันกลับมารวมชาติ โดยเลียนแบบโมเดล “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งใช้กับฮ่องกง
ทั้ง ไช่ ซึ่งเป็นผู้สมัครของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party ใช้อักษรย่อว่า DPP) และ หัน ต่างบอกว่า โมเดล “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ไม่มีความเหมาะสมสำหรับไต้หวัน ซึ่งจะไม่ยินยอมยกเลิกอำนาจอธิปไตยของตนเอง
อย่างไรก็ตาม หันแสดงความชื่นชอบที่จะมีสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับจีน
ยุน ซุน (Yun Sun) ผู้อำนวยการโปรแกรมจีน ณ ศูนย์สติมสัน (Stimson Center) ของสถาบันบรูกกิงส์ (Brookings Institution) บอกกับเว็บไซต์ภาษาจีนของบีบีซีว่า จากชัยชนะของไช่ แผ่นดินใหญ่น่าจะยังคงกำราบกดดันเศรษฐกิจของไต้หวันเอาไว้ต่อไป พร้อมๆ กับที่หาทางสนทนากับไช่ โดยเฝ้าจับตามองว่าเธอจะประนีประนอมอ่อนข้อให้บ้างหรือไม่
ถ้า ไช่ ยังคงปฏิเสธไม่ยอมรับ “ฉันทามติปี 1992” (1992 Consensus) ซึ่งหมายถึงการยอมรับหลักการที่ว่า มี “จีนเดียวแต่มีการตีความแตกต่างกันหลายๆ อย่าง” แล้ว การประนีประนอมอ่อนข้อที่ว่านี้ก็อาจอยู่ในรูปอื่นๆ เป็นต้นว่า การแก้ไขธรรมนูญพรรคดีพีพีของเธอ ให้มีข้อความปฏิเสธ “เอกราชของไต้หวัน” ซุนกล่าวต่อ
เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ไช่แสดงท่าทีว่าเธอมีความปรารถนาที่จะพบปะเจรจากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ในสถานที่ของฝ่ายที่สามนั่นคือไม่ใช่ไต้หวันหรือแผ่นดินใหญ่ เมื่อเงื่อนไขต่างๆ มีความสุกงอม เป็นต้นว่าหลังจากที่เธอได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่งตามที่วาดหวังเอาไว้ ไช่กล่าวว่าเงื่อนไขล่วงหน้าเพียงประการหนึ่งสำหรับการพบกับสีก็คือ ปักกิ่งต้องเคารพในอธิปไตยและความต้องการด้านความมั่นคงของเกาะแห่งนั้น –ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่เห็นกันอยู่แล้วว่าไม่มีทางที่สีจะตกลงยินยอม
พวกนักวิเคราะห์ทางการเมืองบางรายยังคงข้องใจสงสัยว่า การพบปะเจรจากันระหว่าง ไช่ กับ สี จะมีความเป็นไปได้หรือ เมื่อคำนึงว่าปักกิ่งไม่ได้เคยประกาศเลยว่าจะยกเลิกไม่ใช้ทางเลือกในการรวมไต้หวันด้วยกำลัง
เมื่อวันที่ 2 มกราคมของปีที่แล้ว สีได้กล่าวคำปราศรัย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://cpc.people.com.cn/BIG5/n1/2019/0102/c64094-30499664.html) เนื่องในวาระครบรอบ 40 ปีของการออกเอกสารที่มีชื่อว่า “สารถึงพี่น้องร่วมชาติในไต้หวัน” โดยคณะกรรมการประจำของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.m.wikisource.org/wiki/Message_to_the_Compatriots_in_Taiwan) ทั้งนี้ เขากล่าวว่า ปักกิ่งจะใช้ความพยายามของตนอย่างดีที่สุดเพื่อบรรลุการรวมแผ่นดินใหญ่-ไต้หวันให้เป็นเอกภาพกันอย่างสันติ แต่ก็จะไม่ยกเลิกทางเลือกในการบรรลุเรื่องนี้ด้วยการใช้กำลัง เขาบอกอีกว่าปักกิ่งจะใช้มาตรการทุกๆ อย่างที่เป็นไปได้เพื่อต่อสู้คัดค้านการเป็นเอกราชของไต้หวัน
ในเดือนมีนาคม 2019 หวัง อิงจิน (Wang Yingjin) ผู้อำนวยการของศูนย์กลางเพื่อการวิจัยการรวมเป็นเอกภาพแห่งชาติ (Center for National Unification Research) มหาวิทยาลัยเหรินหมิน (Renmin University) ในกรุงปักกิ่ง ได้เสนอแนะเวอร์ชั่นใหม่สำหรับ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่จะใช้กับไต้หวัน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.sohu.com/a/299150952_825949) ทั้งนี้ หวังเสนอว่า หลังจากแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันรวมเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว ผู้นำของเกาะแห่งนี้จะไม่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลส่วนกลาง และก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรายงานต่อปักกิ่ง เขาบอกอีกว่าผู้นำสูงสุดของไต้หวันควรที่จะมีสิทธิทางการทูตบางอย่างบางประการด้วย
คณะบริหารของไช่ ได้ปฏิเสธไม่ยอมรับหนทางออกทำนองนี้มาแล้วหลายครั้งหลายหน โดยกล่าวว่า โมเดล “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบความล้มเหลวในกรณีกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนอันโด่งดังของฮ่องกง
หยาง เฉียนเฮ่า (Yang Chien-Hao) นักหนังสือพิมพ์ชาวไต้หวันบอกกับเอเชียไทมส์ว่า ประชาชนในไต้หวันโดยทั่วไปไม่ได้มีความรู้สึกวิตกกังวลอะไรนักเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่แผ่นดินใหญ่จะใช้กำลังทหารเข้ารุกรานเกาะแห่งนั้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายสำหรับปักกิ่งในการทำเช่นนั้นจะสูงลิ่ว ถ้าหากสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่น เข้าแทรกแซง หยางยังคุยด้วยว่าตั้งแต่ที่ ไช่ เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2016 มีนักธุรกิจชาวไต้หวันในต่างแดนเดินทางกลับไต้หวันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพวกเขาไม่รู้สึกหวาดกลัวว่าความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบกำลังเลวร้ายลง