xs
xsm
sm
md
lg

ไช่ อิงเหวิน รุดพบผู้แทนสหรัฐฯ และญี่ปุ่นหลังชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน.แบบลอยลำ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้นำหญิง ไช่ อิงเหวิน ผู้กำลังนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีไต้หวันสมัยที่สอง กำลังโบกมือให้ผู้สนับสนุนหลังได้คะแนนท่วมท้นพิชิตชันการเลือกตั้งแบบลอยลำในวันเสาร์ที่ 11 ม.ค. (ภาพ รอยเตอร์ส)
เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์--หลังคว้าชัยชนะแบบลอยลำในการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อวันเสาร์ผู้นำหญิงไช่ อิงเหวินได้พบปะพูดคุยกับผู้แทนโดยพฤตินัยของสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นในวันถัดมา(12 ม.ค.) ขณะที่ทางการปักกิ่งย้ำเตือนให้ประเทศต่างๆยึดถือ “หลักการจีนเดียว”

ในวันเสาร์(11 ม.ค.) ไช่ อิงเหวินแห่งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า(ดีพีพี)ซึ่งมีความโน้มเอียงสนับสนุนอิสรภาพดินแดน ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนที่มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างถล่มทลายเพื่อให้เธอนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยที่สอง ไช่ได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 57 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่า 8 ล้านโหวต ซึ่งถือว่าทำสถิติสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งไต้หวัน

ขณะเดียวกันผู้สมัครรับการเลือกตั้งของดีพีพียังกวาดที่นั่งใน “สภานิติบัญญัติหยวน” (Legislative Yuan) หรือรัฐสภา ถึง 61 ที่นั่ง ซึ่งถือว่าได้ครองเสียงข้างมากในสภา

ในเช้าวันถัดมา ไช่ได้พบปะกับนายเบรน คริสเตนเซ่น(Brent Christensen) ผู้อำนวยการสถาบันอเมริกันในไต้หวัน (American Institute in Taiwan) และยืนยันคำมั่นสัญญาของไทเปที่จะกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงที่ลงลึกมากขึ้น

เบรน คริสเตนเซ่น ได้แสดงความยินดีกับชัยชนะของไช่ และว่า “คู่หุ้นส่วนสหรัฐฯ-ไต้หวันได้ไปไกลกว่าความสัมพันธ์ทวิภาคี ขณะนี้ได้กลายเป็นคู่หุ้นส่วนโลก ในอนาคตจะยังอาศัยพื้นฐานที่ได้สร้างกันมาในช่วงสามปีที่ผ่านมาผลักดันความร่วมมือที่แข็งแกร่งในประเด็นระหว่างประเทศ”

ด้านผู้นำหญิงไช่ ย้ำว่า “ไต้หวันจะเดินหน้าขยายความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการปกป้องดินแดนของเราให้แข็งแกร่ง และจะส่งเสริมการควบรวมห่วงโซ่อุตสาหกรรมไต้หวัน-สหรัฐฯ ตลอดจนความสัมพันธ์ทางการค้าสืบไป”

ทั้งนี้สหรัฐฯไม่ได้รับรองไต้หวันในฐานะรัฐประเทศอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีสัญญาที่ผูกมัดทางกฎหมายในการช่วยเหลือไต้หวันปกป้องดินแดน

ด้านรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศสหรัฐฯ นาย ไมก์ พอมเพโอ ได้ทวิตแสดงความยินดีกับไช่ในวันเสาร์(11 ม.ค.) และกล่าวว่าทั้งสองฝ่ายยึดถือคุณค่าแบบเดียวกัน

ส่วนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ซึ่งจะลงนามสัญญาการค้ากับรองนายกรัฐมนตรีจีน นาย หลิว เหอในวันพุธ(15 ม.ค.)นี้ ยังไม่ได้ทวิตหรือแสดงความเห็นใดเกี่ยวกับการเลือกตั้งไต้หวัน ทั้งนี้เมื่อสามปีที่แล้วหลังชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ ทรัมป์ได้คุยโทรศัพท์กับไช่ ซึ่งทำให้ผู้นำจีนเคืองและออกโรงมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างแรง

ในวันนี้(12 ม.ค.) ไช่ยังได้พบปะกับ มิซูโอะ โอฮาชิ ประธานสมาคมแลกเปลี่ยนญี่ปุ่น-ไต้หวัน (Japan-Taiwan Exchange Association) ในไทเป ระหว่างสนทนากับผู้แทนญี่ปุ่น ไช่ได้พูดถึงการดำเนินความสัมพันธ์ช่องแคบไต้หวัน “จะไม่ยอมตามแรงกดดันใด และถอยห่างจากการยั่วยุหรือพฤติกรรมที่ก้าวร้าว จะทุ่มเทให้กับการรักษาเสถียรภาพ”

ญี่ปุ่นแม้ได้ตัดความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวันในปี 1972 แต่ก็รักษาสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับไทเปตลอดมา ส่วนสมาคมแลกเปลี่ยนญี่ปุ่น-ไต้หวันที่ตั้งอยู่ในไทเปมีบทบาทคล้ายกับสถาบันอเมริกันในไต้หวันโดยมีฐานะเป็นสถานทูตโดนพฤตินัย

ปัจจุบันไต้หวันเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่สี่ของแดนปลาดิบ

ส่วนฝั่งจีนนั้นถือว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของตนที่จัดตั้งรัฐบาลปกครองตัวเอง และต่อต้านการทำข้อตกลงสัญญาใดๆอย่างเป็นทางการระหว่างไต้หวันกับประเทศอื่นๆ

ด้านกระทรวงต่างประเทศในปักกิ่งออกโรงแถลงเตือนว่าประเด็นไต้หวันเป็นกิจการภายในจีน และจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไปเพราะการเลือกตั้งในวันเสาร์ ในโลกนี้มีเพียงจีนเดียว ไต้หวันเป็นของจีนอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

ในวันเสาร์ นาย หม่า เสี่ยวกวง โฆษกประจำสำนักงานกิจการไต้หวันในกรุงปักกิ่ง แถลงย้ำว่าจีนจะมุ่งทุ่มเทให้กับการรวมชาติไต้หวันภายใต้สูตรการปกครอง “หนึ่งประเทศ สองระบบ”

ขณะเดียวกันกลุ่มสื่อของรัฐในจีนปัดชัยชนะในการเลือกตั้งแบบถล่มทลายของไช่ และกล่าวหาว่าความพ่ายแพ้ของก๊กมินตั่งเป็นการการเล่นสกปรกของดีพีพี

ผู้สนับสนุนพรรคก๊กมินตั่งเศร้าน้ำตาซึมหลังจากที่ผู้ท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีจากพรรคก๊กมินตั่งนาย หัน กั๋วอี๋ว์ พ่ายยับในการเลือกตั้งใหญ่ในไต้หวันเมื่อวันเสาร์ที่ 11 ม.ค. (ภาพ รอยเตอร์ส)

ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลในฮ่องกงออกมาชุมนุมสนับสนุนไช่ อิงเหวินบริเวณนอกสำนักงานใหญ่พรรดีพีพีในไทเปเมื่อวันเสาร์ที่ 11 ม.ค. (ภาพ รอยเตอร์ส)


กำลังโหลดความคิดเห็น