สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีส่อแววพลิกผันรับปีใหม่ 2020 เมื่อผู้นำ คิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือออกมาประกาศยุติการระงับทดสอบนิวเคลียร์และขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) พร้อมขู่จะงัด ‘อาวุธทางยุทธศาสตร์รุ่นใหม่’ ออกมาอวดสายตาชาวโลกในไม่ช้า ขณะที่ผู้สังเกตการณ์มองว่าคำขู่เช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับการนำขีปนาวุธมาจ่อศีรษะประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ และการยกระดับเผชิญหน้าครั้งนี้อาจส่งผลเสียต่อเปียงยางเองในที่สุด
ถ้อยแถลงของผู้นำ คิม ในการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคแรงงานเกาหลีเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. ยังดูเหมือนจะถูกนำมาแทนที่ ‘สุนทรพจน์ปีใหม่’ ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญในปฏิทินการเมืองของโสมแดง โดยนักวิเคราะห์บางคนชี้ว่าที่ผู้นำ คิม งดกล่าวสุนทรพจน์ปีใหม่ 2020 อาจเพราะไม่ต้องการเอ่ยถึงความผิดพลาดเชิงนโยบายจากการยอมเปิดเจรจาทางการทูตกับสหรัฐฯ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
สหรัฐฯ ออกมาตอบโต้ทันควัน โดยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ เตือนผู้นำ คิม ให้ “เปลี่ยนแนวทางเสียใหม่” และย้ำว่าสหรัฐฯ ต้องการสันติภาพ ไม่ใช่การเผชิญหน้ากับเกาหลีเหนือ
เปียงยางเคยทดลองยิงขีปนาวุธข้ามทวีปที่เชื่อกันว่าสามารถโจมตีเป้าหมายในสหรัฐฯ ได้ทุกแห่ง และยังทดสอบระเบิดนิวเคลียร์มาแล้ว 6 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดนั้นมีอานุภาพรุนแรงมากกว่าระเบิดที่สหรัฐฯ ใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมาถึง 16 เท่า
คิม และ ทรัมป์ เคยจัดประชุมซัมมิตมาแล้วถึง 3 ครั้งตั้งแต่ปี 2018 แต่ก็ไม่สามารถโน้มน้าวให้เกาหลีเหนือยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่การเจรจาระดับคณะทำงานที่กรุงสตอกโฮล์มเมื่อเดือน ต.ค. ก็ล่มไม่เป็นท่า ท่ามกลางเสียงประณามจากเจ้าหน้าที่โสมแดงว่าสหรัฐฯ ไม่เลิกใช้จุดยืนเดิมๆ
เกาหลีเหนือเริ่มทดสอบอาวุธอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว และผู้นำ คิม ยังขีดเส้นตายให้รัฐบาล ทรัมป์ ยื่นข้อเสนอผ่อนปรนต่อเกาหลีเหนือภายในสิ้นปี 2019 มิเช่นนั้นโสมแดงอาจตัดสินใจเดินใน “เส้นทางใหม่”
ทั้งนี้ การทดสอบนิวเคลียร์หรือ ICBM ในเกาหลีเหนือจะถือเป็นการ “ข้ามเส้น” ในสายตาของ ทรัมป์ ซึ่งพยายามเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ทุกครั้งที่โสมแดงทดสอบจรวดพิสัยใกล้ และย้ำเสมอว่าผู้นำ คิม ได้รับปากกับตนไว้แล้วว่าจะไม่ทดสอบอาวุธร้ายแรงอีก
ระหว่างการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคแรงงานเกาหลีซึ่งถือเป็นวาระสำคัญที่บ่งชี้ว่าอาจจะมีการปรับนโยบายครั้งใหญ่ ผู้นำ คิม ระบุว่า “ไม่มีเหตุผลที่เราจะต้องผูกมัดตัวเองด้วยคำมั่นสัญญาฝ่ายเดียวอีกต่อไป” และ “โลกจะได้เห็นอาวุธทางยุทธศาสตร์รุ่นใหม่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีครอบครองในอนาคตอันใกล้”
คิม ยอมรับว่าเกาหลีเหนือบอบช้ำรุนแรงพอสมควรจากมาตรการคว่ำบาตรนานาชาติ แต่ก็ยืนยันจะธำรงไว้ซึ่งศักยภาพด้านนิวเคลียร์ แม้ต้องแลกมาด้วยความสูญเสียเพียงใดก็ตาม
ผู้นำโสมแดงยังวิจารณ์สหรัฐฯ ว่าเพิ่มข้อเรียกร้องต่างๆ นานาที่ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานของเกาหลีเหนือ และแสดงทัศนคติ “เยี่ยงโจร” (brigandish) พร้อมอ้างถึงกรณีที่วอชิงตันยังคงจัดการซ้อมรบกับเกาหลีใต้ทั้งขนาดใหญ่และย่อม รวมถึงส่งอาวุธไฮเทคเข้าไปยังแดนโสมขาว
คิม ระบุว่า “จะไม่มีการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี” หากวอชิงตันยังคงยึดนโยบายเป็นปรปักษ์ และเกาหลีเหนือ “จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาอาวุธทางยุทธวิธีที่จำเป็นต่อความมั่นคงของประเทศ จนกว่าสหรัฐฯ จะยกเลิกนโยบายก้าวร้าว และมีการสร้างกลไกรักษาสันติภาพที่ยั่งยืนและถาวร”
คิม เน้นย้ำให้พลเมืองโสมแดงทุกคนเตรียมพร้อมสำหรับ “การดิ้นรนต่อสู่ที่ยากลำบากและยาวนาน” และร่วมกันสร้างเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองเพื่อลดผลกระทบจากการถูกคว่ำบาตร
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เปียงยางได้เรียกร้องให้นานาชาติผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจลงบ้าง ทว่าสหรัฐฯ ยังประกาศเสียงแข็งให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างเป็นรูปธรรมเสียก่อน
“สิ่งที่เกาหลีเหนือทำเทียบได้กับการเอา ICBM มาจ่อศีรษะทรัมป์ เพื่อขู่ให้ยอมทำตามข้อเรียกร้อง 2 ประการที่พวกเขาปรารถนามากที่สุด นั่นก็คือการผ่อนคลายคว่ำบาตร และรับประกันความมั่นคงให้แก่ระบอบคิม” แฮร์รี คาเซียนิส นักวิเคราะห์จากศูนย์เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ (Center for the National Interest) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุ
คาเซียนิส ชี้ว่า ยุทธศาสตร์เช่นนี้ถือว่าสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง เพราะอาจกระตุ้นให้สหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรที่หนักหน่วงยิ่งขึ้น และนำไปสู่การเสริมกำลังทหารในเอเชียตะวันออก รวมถึงอาจยั่วยุให้ ทรัมป์ กลับมาเปิดสงครามน้ำลายกับผู้นำโสมแดงทางทวิตเตอร์
ลีฟ-อีริค อีสลีย์ จากมหาวิทยาลัยอีฮวาในกรุงโซล ยอมรับว่าการที่ คิม จองอึน ขู่จะกลับมาทดสอบนิวเคลียร์อีกครั้ง “ถือเป็นสัญญาณร้าย” แต่ตนเชื่อว่าผู้นำ คิม อาจพูดจาขึงขังเพื่อให้ ทรัมป์ ยอมอ่อนข้อเท่านั้น แต่ไม่ได้คิดจะทำอะไร “ข้ามเส้น” ซึ่งเกาหลีเหนือรู้ดีว่าวอชิงตันย่อมไม่อาจอยู่เฉยได้
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับฟ็อกส์นิวส์และ CBS ว่า หากเกาหลีเหนือหวนกลับไปทดสอบนิวเคลียร์และขีปนาวุธจะเป็นสิ่งที่ “น่าผิดหวังอย่างยิ่ง” และวอชิงตันคาดหวังว่าประธาน คิม จะ “เปลี่ยนแนวทางเสียใหม่ โดยเลือกสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองมากกว่าความขัดแย้งและสงคราม”
ด้านกระทรวงการรวมชาติของเกาหลีใต้ก็เตือนเช่นกันว่า การทดสอบอาวุธทางยุทธศาสตร์ในเกาหลีเหนือ “จะไม่ช่วยให้การเจรจาปลดนิวเคลียร์คืบหน้าต่อไปได้”
ในส่วนของ ทรัมป์ เองดูเหมือนจะพยายามใช้น้ำเย็นเข้าลูบ โดยให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคาร (31 ธ.ค.) ว่า ตนเชื่อว่า คิม “เป็นคนรักษาคำพูด” พร้อมย้ำถึงข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกันไว้ในการประชุมซัมมิตที่สิงคโปร์เมื่อปี 2018
ทั้งนี้ การยิงทดสอบขีปนาวุธ ICBM ของเกาหลีเหนือไม่เพียงจะสร้างความไม่พอใจต่อสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงพันธมิตรรายใหญ่ที่สุดของระบอบคิมอย่าง “จีน” ซึ่งย้ำเสมอว่าต้องการเห็นความมีเสถียรภาพบนคาบสมุทรเกาหลีที่เป็นเสมือนหลังบ้านของตน