เอเอฟพี - รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯเตือนในวันพฤหัสบดี(2ม.ค.) พวกคาตาอิบ ฮิซบอลเลาะห์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ซึ่งบุกจู่โจมสถานทูตสหรัฐฯในกรุงแบกแดด จะลงมือโจมตีผลประโยชน์และฐานที่มั่นต่างๆของอเมริกาอีก แต่เตือนว่านักรบกลุ่มนี้จะต้องเสียใจ
"พฤติกรรมยั่วยุมีมานานหลายเดือนแล้ว ดังนั้นผมคิดว่าบางทีพวกเขาอาจดำเนินการบางอย่างหรือไม่? ใช่ ผมคิดว่านะ และพวกเขาจะต้องเสียใจ" มาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯบอกกับพวกผู้สื่อข่าว "เราพร้อมสำหรับใช้กำลังป้องกันตนเอง เราพร้อมยับยั้งพฤติกรรมแย่ของคนกลุ่มนี้ที่ได้รับการสนับสนุนและสั่งการจากอิหร่าน"
พวกผู้ประท้วงชาวอิรักผู้สนับสนุนกลุ่มคาตาอิบ ฮิซบอลเลาะห์หลายพันคนบุกโจมตีสถานทูตสหรัฐฯในกรุงแบกแดดเมื่อวันอังคาร(31ธ.ค.) ล่วงล้ำเข้าไปภายในกำแพงรอบนอกและตะโกนด่าทอ "ไปตายซะอเมริกา" แสดงความเดือดดาลต่อกรณีสหรัฐฯ โจมตีทางอากาศปลิดชีพนักรบกึ่งทหารหลายสิบคนของกลุ่มคาตาอิบ ฮิซบอลเลาะห์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านโดยไม่ขออนุญาตจากทางการอิรักก่อนเมื่อวันอาทิตย์ (29ธ.ค.) คร่าชีวิตอย่างน้อย 25 ราย บาดเจ็บ 55 คน
อย่างไรก็ตามในช่วงบ่ายๆวันพุธ(1ม.ค.) พวกผู้ประท้วงได้ถอนตัวออกมา ตามคำสั่งของนักรบกลุ่มนี้
ในวันพฤหัสบดี(2ม.ค.) อิรักส่งทหารผู้ชำนาญการเข้าคุ้มกันสถานทูตสหัฐฯ หนึ่งวันหลังจากถูกฝูงม็อบฝักใฝ่อิหร่านบุกยึด ในสถานการณ์อันน่าตกตะลึง ซึ่งบดบังการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของพวกผู้ประท้วงรากหญ้าที่ยืดเยื้อมานานหลายเดือน
ยานยนต์กันกระสุนสีดำหลายสิบคันของหน่วยต่อต้านก่อการร้ายอิรักที่ได้รับการฝึกฝนจากสหรัฐฯ เข้าประจำการบนท้องถนนสายต่างๆของสถานทูตในเขตกรีนโซนของเมืองหลวง เพื่อยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีรายงานว่าแม้ยังพบเห็นรอยขีดเขียนสโลแกนสนับสนุนอิหร่านตลอดทางยาวของแนวกำแพงคอนกรีตสถานทูตสหรัฐฯที่ถูกฝูงม็อบบุกรุก แต่ธงต่างๆที่พวกผู้ประท้วงนำมาปักตรงกำแพงด้านนอก เช่นเดียวกับภาพถ่ายของนักรบที่ถูกฆ่าตายระหว่างปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของอเมริกาซึ่งถูกนำมาวางไว้เพื่อเป็นการไว้อาลัย ได้ถูกเก็บกวาดไปหมดแล้ว
ส่วนเจ้าหน้าที่สถานทูตก็ช่วยกันทำความสะอาดพื้นที่ต้อนรับแขกซึ่งถูกพวกผู้ประท้วงบุกทุบทำลายและจุดไฟเผา ขณะเดียวกันได้มีการใช้เครนเข้ามาช่วยเคลื่อนย้ายหินและเศษซากต่างๆที่พวกผู้ชุมนุมปาเข้าใส่สถานทูตด้วย
เหตุโจมตีสถานทูตสหรัฐฯในแบกแดดซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โหมกระพือความหวาดหวั่นว่ามันจะทำให้สงครามตัวแทนระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ ซึ่งต่างเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับอิรัก ลุกลามบานปลาย
ขณะเดียวกันเหตุโจมตีครั้งนี้ยังถูกนำไปเปรียบเทียบกับวิกฤตจับตัวประกันปี 1979 ที่สถานทูตสหรัฐฯในเตหะราน และเหตุโจมตีนองเลือดปี 2012 ณ สถานกุงสุลสหรัฐฯประจำเบงกาซี เมืองใหญ่สุดอันดับ 2 ของลิเบีย