เอเอฟพี/MGRออนไลน์ - สำนักข่าวเอเอฟพี คัดเลือก “บุคคล” ซึ่งก่อนหน้านี้ยัง “โนเนม” ไม่มีใครรู้จัก แต่กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างเรื่องใหญ่ของโลกในรอบปี 2019
ในบรรดาผู้สร้างประวัติศาสตร์ของปี 2019 เหล่านี้ บางคนยังแปลกใจตัวเอง และบางคนแปลงสภาพจากบุคคลซึ่งอยู่ในซอกหลืบกลายเป็นผู้ที่คนทั่วโลกคุ้นเคยพูดถึง อย่างไรก็ตาม ยังมีอยู่อีกหนึ่งคนซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังคงเป็นบุคคลนิรนาม คนผู้นั้นคือ “ผู้เปิดโปง” ที่ลากโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าสู่กระบวนการถอดถอดของรัฐสภาสหรัฐฯ กลายเป็นมหรสพข้ามปีที่ต้องรอลุ้นกันต่อ
จากข้อเขียนของเอเอฟพี MGRออนไลน์ขอคัดสรรและเพิ่มเติมโปรไฟล์คร่าวๆ ของ 5 ผู้สร้างประวัติศาสตร์ในแวดวงการเมือง สภาพอากาศ และดาราศาสตร์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคนที่เมื่อปี 2018 ยังไม่มีใครรู้จักมาก่อน
“ผู้เปิดโปง” โดนัลด์ ทรัมป์
แม้มีความพยายามอย่างมากในการเปิดเผยโฉมหน้าของบุคคลซึ่งร้องเรียนเรื่องราวที่อาจทำให้ทรัมป์พ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่จนถึงวันนี้บุคคลนั้นยังคงเป็นที่รู้จักแค่ “ผู้เปิดโปง” (whistleblower)
ตามรายงานที่เชื่อถือได้ “ผู้เปิดโปง” ผู้นี้เป็นชาย เป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ระดับกลางวัย 30 ต้นๆ ของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ซึ่งมีหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลของแถบยุโรปตะวันออกและเคยทำงานในทำเนียบขาวมาก่อน
เดือนสิงหาคม 2019 ที่ผ่านมา ชายผู้นี้ร้องเรียนกล่าวหาทรัมป์กดดันประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครน ให้ช่วยดิสเครดิตอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตัวเก็งผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2020 ของพรรคเดโมแครต ด้วยการประกาศสอบสวนไบเดนและลูกชายคือ ฮันเตอร์ ไบเดน ในข้อหากระทำทุจริตในยูเครนเมื่อหลายปีที่ผ่านมา
ความพยายามดังกล่าวถือเป็นการละเมิดกฎหมายของอเมริกาเนื่องจากเป็นการขอให้ต่างชาติแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐฯ
การร้องเรียนของ “ผู้เปิดโปง” ผู้นี้ ปรากฏในรูปของบันทึกความเข้าใจความยาว 9 หน้าซึ่งเขียนอย่างประณีตบรรจง บรรยายการกระทำอย่างเฉพาะเจาะจงของทรัมป์ ซึ่งแม้อิงกับแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ คือเขาไม่ได้เป็นผู้พบเห็นด้วยตนเอง แต่ได้ทราบมาจากพวกเพื่อนร่วมงานของเขาในแวดวงข่าวกรองและการทูต ทว่าช่วงเวลาหลายเดือนหลังจากที่เรื่องถูกเปิดโปงออกมาแล้ว ก็มีพยานซึ่งเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยหลายคน ยืนยันสิ่งที่เขาบรรยายเหล่านี้
การร้องเรียนของผู้เปิดโปงต่อผู้ตรวจราชการของประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ นำไปสู่การสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องมากมาย แล้วในวันที่ 24 กันยายน พรรคเดโมแครตที่ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเวลานี้ ก็ได้เปิดการสอบปากบรรดาคำผู้เกี่ยวข้องเพื่อการถอดถอนทรัมป์อย่างเป็นทางการ และในที่สุดเมื่อกลางเดือนธันวาคม สภาล่างได้ลงมติโหวตรับรองว่าสมควรดำเนินการถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯใน 2 ข้อหาความผิด ได้แก่ใช้อำนาจโดยมิชอบ และขัดขวางการสอบสวนของสภา ขั้นตอนต่อไปคือส่งต่อให้วุฒิสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญอเมริกัน กำหนดให้เป็นผู้ทำหน้าที่ไต่สวนและลงมติชี้ขาดว่าจะถอดถอนประธานาธิบดีหรือไม่
แต่สำหรับผู้เปิดโปงรายนี้ นอกจากจะไม่ได้รับรางวัลใดๆ ซ้ำมีแนวโน้มว่า อาจปิดบังตัวตนได้อีกไม่นาน โดยตอนนี้พวกอนุรักษนิยมหลายคนได้แชร์ชื่อและภาพของชายผู้นี้ว่อนทางออนไลน์อยู่แล้ว
ขณะเดียวกันสมาชิกพรรครีพับลิกันในรัฐสภาก็พยายามเปิดเผยตัวตนผู้เปิดโปง โดยกล่าวหาว่า เป็นคนของเดโมแครตและต้องการโค่นทรัมป์
ไม่ว่าทรัมป์จะถูกถอดถอนหรือไม่ แต่การร้องเรียนของผู้เปิดโปงคนนี้ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนที่บรรดานักการเมืองในวอชิงตันรับรู้ได้ต่อไปอีกนาน
เกรตา ทุนเบิร์ก สาวน้อยสู้โลกร้อน
จากการประท้วงหัวเดียวกระเทียมลีบในตอนต้น วันนี้ เกรตา ทุนเบิร์ก สาวน้อยวัย 16 ปี กลายเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ทั่วโลกที่ไม่พอใจการนิ่งดูดายของผู้ใหญ่ต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นในเดือนสิงหาคม 2018 เมื่อทุนเบิร์กตัดสินใจพักเรียนและไปนั่งหน้ารัฐสภาสวีเดนพร้อมชูป้ายประท้วงที่มีข้อความว่า “นัดหยุดเรียนเพื่อแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ”
หลายเดือนต่อมาการต่อสู้ของทุนเบิร์กได้รับความสนใจจากทั่วโลก และเด็กสาวขี้อายที่มีนัยน์ตาคมกริบและผมเปียเป็นสัญลักษณ์ ได้กระทบไหล่ผู้นำโลกหลายคนในงานประชุมเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรัมที่ ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งในรัฐสภายุโรป
เยาวชนจากทั่วโลกเริ่มนัดหยุดเรียนและขบวนการ “วันศุกร์เพื่ออนาคต” ถือกำเนิดขึ้น
ทุนเบิร์กที่ประกาศจุดยืนงดขึ้นเครื่องบิน เดินทางข้ามแอตแลนติกด้วยเรือใบที่ไม่ปล่อยมลพิษเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อเดือนกันยายน
เด็กสาวที่เกิดในสต็อกโฮล์มขึ้นเวทียูเอ็นกล่าวกับผู้นำโลกอย่างเผ็ดร้อนด้วยเสียงสั่นเครือเต็มไปด้วยอารมณ์และดวงตารื้นน้ำตา
“พวกคุณกล้าดียังไง
“พวกคุณขโมยความฝันและวัยเยาว์ของฉันด้วยคำสัญญาว่างเปล่า”
อย่างไรก็ตาม ทุนเบิร์กที่มีแม่เป็นนักร้องโอเปรา และพ่อเป็นโปรดิวเซอร์ที่หันมาเอาดีทางการแสดง ไม่ได้เป็นที่ชื่นชมของทุกคน แต่ถูกวิจารณ์รุนแรงและถูกกล่าวหาในโลกออนไลน์ของพวกนักนิยมทฤษฎีสมคบคิด
บางคนเรียกเธอว่า หุ่นเชิดของพวกลัทธิวันสิ้นโลก หรือพยายามดิสเครดิตเธอว่า เป็นผู้ป่วยกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม (จัดอยู่ในกลุ่มอาการออทิสติคแบบหนึ่ง) ทั้งที่เจ้าตัวไม่เคยปิดบังความผิดปกตินี้เลย
กระนั้น ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า การต่อสู้อย่างกระตือรือร้นของนักเคลื่อนไหวเพื่อสภาพภูมิอากาศผู้นี้ช่วยผลักดันให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลับมาเป็นประเด็นโดดเด่นอีกครั้ง
ผลสำรวจของคณะกรรมาธิการยุโรปในเดือนเมษายนพบว่า ชาวยุโรป 60% คิดว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในปัญหาร้ายแรงที่สุดที่โลกเผชิญอยู่ขณะนี้ หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2017 ถึง 17%
นักศึกษาฮ่องกง
นักศึกษาฮ่องกงลบภาพความนอบน้อมและชอบอ่านหนังสือ ด้วยภาพกลุ่มคนชุดดำ สวมหน้ากากปิดบังใบหน้า กวัดแกว่งระเบิดขวด และภาพนี้ก็ได้รับการเชิดชูโดยเฉพาะจากโลกตะวันตกให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการแข็งขืนต่ออำนาจเผด็จการเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย
ฝูงชนฮ่องกงออกไปร่วมเดินขบวนเพื่อเรียกร้องเสรีภาพอยู่เป็นพักๆ นับจากที่อังกฤษส่งมอบเกาะแห่งนี้คืนให้จีนในปี 1997 ส่วนใหญ่เป็นไปด้วยความสงบ โดยมีความรุนแรงบ้าง ดังเช่น “ขบวนการร่ม” ปี 2014 ซึ่งมีการยึดถนนในย่านสำคัญของฮ่องกงเป็นเวลานานกว่า 2 เดือน แต่สำหรับปีนี้การเคลื่อนไหวซึ่งตอนแรกๆ เป็นไปอย่างสันติ บ่อยครั้งกลับกลายเป็นแสดงความโกรธแค้นที่ระเบิดออกมาในรูปแบบต่างๆ ชนิดเกินจินตนาการบนเกาะศูนย์กลางการเงินที่เคยภาคภูมิใจในเสถียรภาพและความปลอดภัยของตนเองมาโดยตลอด
สิ่งที่เริ่มต้นในรูปการประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ที่มีมูลเหตุจากหนุ่มฮ่องกงสังหารแฟนสาวในไต้หวันแล้วหลบหนีกลับมาฮ่องกง โดยทำท่าว่าจะไม่ถูกดินแดนไหนดำเนินคดีเลย ได้ถูกการประท้วงประณามว่าครอบคลุมถึงการส่งตัวผู้ต้องหาไปดำเนินคดีในจีน จนกระทั่งแผ่ลามเป็นการต่อสู้ซึ่งมุ่งต่อต้านปักกิ่ง เผาและเหยียบธงชาติจีน และเชิดชูบูชาประชาธิปไตยตะวันตกกระทั่งธงชาติของประเทศตะวันตก และทำให้ย่านช้อปปิ้งของฮ่องกงกลายเป็นสนามรบย่อมๆ
ผู้ประท้วงแนวหน้าคือนักศึกษาและหนุ่มสาวอายุไม่ถึง 30 ปี และจากตัวเลขผู้ถูกจับกุมและได้รับบาดเจ็บบ่งชี้ว่า ราว 1 ใน 3 ของคนที่ออกไปต่อสู้บนถนนคือผู้หญิง
หน้ากากป้องกันก๊าซพิษพร้อมตัวกรองสีชมพูสดใสกลายเป็นอุปกรณ์ที่พบได้ทั่วไปเนื่องจากผู้ประท้วงพยายามปิดบังตัวตน
ในปี 2019 ที่ทั่วโลกได้เห็นความวุ่นวายบนท้องถนนในแคว้นกาตาลุญญาของสเปน ชิลี และเวเนซุเอลา แต่ภาพการประท้วงขนาดใหญ่ของฮ่องกงเป็นสิ่งที่เตะตาโดดเด่นที่สุด สหภาพยุโรป (อียู) ออกคำแถลงสนับสนุนผู้ประท้วงฮ่องกง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอเมริกาที่ออกกฎหมายสนับสนุนม็อบฮ่องกง สร้างความเดือดดาลยิ่งยวดให้ปักกิ่ง
ด้วยคำขวัญ “ปลดปล่อยฮ่องกง ปฏิวัติยุคสมัยของเรา” ผู้ประท้วงปะทะกับตำรวจปราบจลาจล บุกเข้าทำลายอาคารรัฐสภา ทุบพังรวมทั้งใช้ระเบิดขวดน้ำมันติดไฟเผาสถานีรถไฟใต้ดินตลอดจนร้านรวงและที่ทำการต่างๆ กระทั่งยึดมหาวิทยาลัย ปิดเส้นทางรถไฟใต้ดินและอุโมงค์รถยนต์ซึ่งเป็นเส้นทางติดต่อสำคัญระหว่างเกาะฮ่องกงกับฝั่งเกาลูน พ่นสีข้อเรียกร้องหลักและปัญหาต่างๆ ทั่วเมือง สั่นคลอนแนวคิดในการเปลี่ยนผ่านฮ่องกงเข้าสู่การปกครองเต็มรูปแบบของปักกิ่งอย่างสันติในปี 2047 ภายใต้หลักการหนึ่งประเทศ-สองระบบ
นับจากที่การประท้วงเริ่มต้นขึ้นในเดือนมิถุนายนจนถึงขณะนี้มีผู้ถูกจับกุมเกือบ 6,000 คน ซึ่งเกือบ 1,000 คนในจำนวนนี้ถูกตั้งข้อหา กระนั้น ฝูงชนยังคงออกไปแสดงพลัง และมีสัญญาณน้อยมากว่า คนส่วนใหญ่ในฮ่องกงซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการประท้วง จะทอดทิ้งม็อบแถวหน้าที่ได้รับสมญานามว่า “เหล่าผู้กล้า”
แม้ปักกิ่งประกาศเตือนเนืองๆ ถึงผลลัพธ์เลวร้ายหากสถานการณ์วุ่นวายในฮ่องกงยังไม่ยุติ ท่ามกลางตัวเลขข้อมูลซึ่งแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจของฮ่องกงกำลังอยู่ในภาวะย่ำแย่ลงทุกที
ฆวน กวยโดแห่งเวเนซุเอลา
แม้ประชาชนฝ่ายค้านในเวเนซุเอล และชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโรอย่างรุนแรงมานาน แต่ ฆวน กวยโด เพิ่งผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำฝ่ายค้านปุบปับทันทีที่ประกาศสถาปนาตัวเองเป็นประธานาธิบดีเวเนซุเอลาในเดือนมกราคม และความท้าทายหลักในขณะนี้คือ เดินหน้าปลุกกระแสฝ่ายค้านที่ระยะหลังมานี้ได้ฝ่อลงอย่างชัดเจน
ตอนที่ปรากฏตัวในฉากการเมืองร้อนแรงของเวเนซุเอลาเมื่อต้นปี ชายหนุ่มวัย 36 ปีผู้นี้ได้ปลุกเร้าฝ่ายค้านที่กำลังง่อยเปลี้ยเพราะเสียผู้นำหลายคนไปในคุก บ้างลี้ภัยออกนอกประเทศ หรือหลบซ่อนตัว กลับมากระปรี้กระเปร่าผิดหูผิดตา
วันที่ 23 มกราคม หรือไม่กี่วันหลังได้ตำแหน่งประธานสภา ซึ่งเป็นสถาบันเดียวที่อยู่ในกำมือฝ่ายค้าน กวยโดสถาปนาตัวเองเป็นประธานาธิบดีโดยอ้างว่า การได้รับเลือกตั้งอีกสมัยของมาดูโรนั้นไม่ชอบธรรม
กวยโดได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็วจากอเมริกาและอีก 50 ประเทศ คะแนนนิยมในหมู่ชาวเวเนซุเอลาพุ่งกระฉูดอยู่ที่ 63% อย่างไรก็ตาม เดือนตุลาคมที่ผ่านมาตัวเลขกลับรูดลงกว่า 20%
วิศวกรอุตสาหการ ที่ผันตัวเองมาเล่นการเมืองผู้นี้บอกว่า ทำทุกอย่างแล้วเพื่อขับไล่มาดูโร ขณะที่เวเนซุเอลาเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงที่ผลักดันให้ประชาชน 3.6 ล้านคนหนีออกนอกประเทศตั้งแต่ปี 2016
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ หลังจากประกาศแผนการครึกโครม กวยโดพยายามข้ามพรมแดนเพื่อนำความช่วยเหลือด้านอาหารและยาจากนานาชาติเข้าไปแจกจ่ายพี่น้องประชาชนชาวเวเนซุเอลา และเรียกร้องให้กองทัพหันหลังให้มาดูโร แต่เดิมพันนี้ล้มเหลวทั้งหมด
ต่อมาในวันที่ 30 เมษายน การแข็งขืนต่อกองทัพได้รับการสนับสนุนจากทหารแค่กลุ่มเล็กๆ และถูกรัฐบาลมาดูโรปราบอย่างรวดเร็ว
กวยโดที่แต่งงานแล้วและมีลูกสาวคนเดียวอายุ 2 ขวบ บอกว่า ตัวเองเป็นผู้รอดชีวิตจาก “โศกนาฏกรรมวาร์กัส” ซึ่งหมายถึงเหตุดินถล่มในเดือนธันวาคม 1999 ในรัฐชายฝั่งทางเหนือของประเทศที่เขาอาศัยอยู่กับแม่และพี่น้องอีก 5 คน และมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นั้นนับพันคน
สำนักงานอัยการเวเนซุเอลาฟ้องร้องกวยโดหลายคดีที่อาจทำให้เขาถูกจำคุกสูงสุดถึง 30 ปี
ทว่า วอชิงตันย้ำเตือนการากัสหลายครั้งว่า การคุมขังกวยโดจะถือเป็น “ความผิดพลาดครั้งสุดท้าย” ของมาดูโร
วันที่ 5 มกราคม 2020 ตำแหน่งประธานสภาของกวยโดจะหมดวาระลงอย่างเป็นทางการ แต่กลุ่มการเมืองต่างๆ ตกลงให้เขาอยู่ในตำแหน่งต่อ แม้ความสามารถในการปลุกเร้ามวลชนเพื่อร่วมประท้วงของกวยโดลดฮวบ และแม้ชาวเวเนซุเอลาส่วนใหญ่เลิกรวมตัวบนท้องถนนและหันมาสนใจความอยู่รอดในชีวิตประจำวันของตัวเองแทนก็ตาม
หญิงสาวผู้ถ่ายภาพหลุมดำ
ดร.เคที โบแมน นักวิทยาการคอมพิวเตอร์อเมริกัน กลายเป็นคนดังชั่วข้ามคืนเมื่อเดือนเมษายนจากบทบาทการพัฒนาอัลกอริทึมที่ช่วยให้นักวิจัยสามารถถ่ายภาพหลุมดำภาพแรกของโลก
ทั้งนี้ หลุมดำเป็นบริเวณในอวกาศที่สสารหนาแน่นและบีบอัดจนสร้างสนามโน้มถ่วงที่แม้แต่แสงยังไม่อาจเล็ดลอดออกมาได้ นักวิทยาศาสตร์รับรู้ว่า มีหลุมดำอยู่มานานแล้ว แต่คนเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
หลุมดำบางแห่งอาจจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 40,000 ล้านกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าโลก 3 ล้านเท่า และภาพหลุมดำที่เผยแพร่อยู่ขณะนี้มาจากการสแกนภาพหลุมดำของกาแล็กซี่ เอ็ม87 ที่อยู่ห่างจากโลก 5 ล้านปีแสง
โบแมน วัย 30 ปี ที่ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ของสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (แคลเทค) นั้น เป็นสมาชิกอีเวนต์ ฮอไรซัน เทเลสโคป (อีเอชที) ตอนที่ทีมนี้จับภาพหลุมดำได้
เธอเล่าว่า เริ่มทำงานกับอีเอชทีตอนที่ยังเป็นนักศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์วิทัศน์ของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตส์ (เอ็มไอที) และพบว่าการสร้างภาพหลุมดำจากข้อมูลมากมายมหาศาลที่กล้องโทรทรรศน์บันทึกได้ มีลักษณะหลายอย่างคล้ายกันอย่างชัดเจนกับงานของตนเองในการสร้างภาพสมองโดยอิงกับข้อมูลที่มีจำกัดจากเครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอ
โครงการอีเอชทีใช้เวลากว่าทศวรรษในการสร้างกล้องโทรทรรศน์เชิงคำนวณที่รวมสัญญาณที่ได้รับจากกล้องโทรทรรศน์ 8 ตัวทั่วโลกซึ่งทำงานเป็นคู่ แต่เนื่องจากจำนวนตำแหน่งที่ตั้งที่จำกัด ทำให้กล้องเหล่านั้นสามารถจับความถี่แสงได้เท่านั้น และยังบันทึกสัญญาณได้เพียงบางจุดบางมุมของหลุมดำ เท่ากับว่ายังมีข้อมูลสำคัญมากมายขาดหายไป
ปี 2016 โบแมนพัฒนาอัลกอริทึมหรือกระบวนการที่ใช้ในการแก้ปัญหา ที่มีชื่อว่า CHIRP เพื่อค้นหาข้อมูลที่แท้จริงและเติมเต็มข้อมูลที่ขาดหายไปและสร้างรายละเอียดขึ้นมาใหม่ให้กลายเป็นภาพหลุมดำที่สมบูรณ์
แม้ภาพเหล่านั้นถ่ายไว้ตั้งแต่ปี 2017 ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าเหตุการณ์ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ 8 ตัวที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ แต่ผลลัพธ์สุดท้ายต้องได้รับการตรวจยืนยันโดยทีมอีเอชทีที่ทำงานอยู่ทั่วโลกเพื่อหลีกเลี่ยงอคติที่อาจถ่ายทอดถึงกันได้
ในที่สุดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2019 ภาพหลุมดำขั้นตอนสุดท้ายจากการประมวลผลด้วยอัลกอริทึมของโบแมนก็ได้รับการเผยแพร่ และเป็นช่วงเวลาที่เจ้าตัว ซึ่งตอนนั้นจบปริญญาเอกแล้วและเป็นนักวิจัยของศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาร์วาร์ด สมิธโซเนียน บอกว่า “มหัศจรรย์อย่างแท้จริงและเป็นหนึ่งในความทรงจำแสนสุขที่สุดในชีวิต”
ระหว่างให้ปากคำต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมเกี่ยวกับงานวิจัยของตัวเอง โบแมนยกย่องทีมงานทั้งหมดที่รวมถึงนักวิจัยใหม่หลายคนที่เพิ่งเริ่มต้นอาชีพแบบเดียวกับเธอ และสร้างผลงานที่สำคัญมากต่อโปรเจ็กต์นี้
โบแมนทิ้งท้ายว่า “เช่นเดียวกับหลุมดำ นักวิจัยใหม่หลายคนที่มีส่วนร่วมสำคัญมักทำงานปิดทองหลังพระโดยไม่มีคนรู้จัก”