รอยเตอร์ - จีน อิหร่านและรัสเซีย จะจัดการซ้อมรบร่วมทางเรือในมหาสมุทรอินเดียและอ่าวโอมาน เริ่มตั้งแต่วันศุกร์นี้(27ธ.ค.) เป็นต้นไป ตามการเปิดเผยของกระทรวงกลาโหมของปักกิ่ง ท่ามกลางความตึงเครียดขั้นสูงในภูมิภาคระหว่างเตหะรานกับสหรัฐฯ
อู๋เฉียน โฆษกกระทรวงกลาโหมจีนเปิดเผยระหว่างแถลงสรุปประจำเดือน ว่าจีนจะส่งเรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี "สีหนิง" ไปร่วมซ้อมรบดังกล่าว ซึ่งจะมีไปจนถึงวันจันทร์(30ธ.ค.) และมีความตั้งใจสานความร่วมมือมากยิ่งขึ้นระหว่างกอทัพเรือของทั้ง 3 ชาติ
"การซ้อมรบเป็นการแลกเปลี่ยนทางทหารตามปกติระหว่างกองทัพทั้ง 3 ชาติและเป็นไปตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศและหลักปฏิบัติระหว่างประเทศ" อู๋กล่าว "ไม่มีความจำเป็นที่จะเชื่อมโยงมันกับสถานการณ์ในภูมิภาค" เขากล่าวโดยปราศจากให้รายละเอียดเพิ่มเติม
อ่าวโอมานถือเป็นน่านน้ำที่อ่อนไหวอย่างมาก เนื่องจากมันเชื่อมกับอ่าวเปอร์เซีย ผ่านช่องแคบฮอร์มุซ เส้นทางลำเลียงน้ำมันสำคัญคิดเป็น 1 ใน 5 ของการขนส่งน้ำมันทั้งหมดบนโลก
การซ้อมรบครั้งนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน
อิหร่านและสหรัฐฯขัดแย้งกันหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆนับตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนอเมริกาออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ซึ่งเตหะรานทำไว้กับ 6 ชาติมหาอำนาจโลก แล้วกลับมาคว่ำบาตรรอบใหม่ ก่อความเสียหายแก่เศรษฐกิจของอิหร่านอย่างรุนแรง
วอชิงตันเสนอภารภิจทางทะเลที่นำโดยสหรัฐฯ หลังเกิดเหตุโจมตีเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศหลายต่อหลายครั้งในอ่าวเปอร์เซีย ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ในนั้นรวมถึงเรือบรรทุน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งอเมริกากล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของอิหร่าน แต่เตหะรานยืนกรานปฏิเสธคำกล่าวหา
ความตึงเครียดที่พุ่งสูงในภูมิภาคไม่ได้มีต้นตอจากโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเหตุโจมตีโรงกลั่นนำมันหลายแห่งของซาอุดีอาระเบียเมื่อเดือนกันยายนด้วย ในขณะที่สหรัฐฯและซาอุดีอาระเบียกล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของอิหร่าน แต่ก็เช่นเดิมที่เตหะรานปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ
"มหาสมุทรอินเดียและอ่าวโอมาน เป็นน่านน้ำสำคัญสำหรับการค้าระหว่างประเทศ และการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงในน่านน้ำเหล่านี้ถือว่าเป็นภาระที่สำคัญยิ่ง" จากคำกล่าวของนายพลจัตวา อาโบลฟาซี เชคาร์ชี โฆษกกองทัพอิหร่านเมื่อวันพุธ(25ธ.ค.) "การซ้อมรบนี้จะจัดขึ้นเพื่อการสนับสนุนและเพิ่มประสบการณ์ในด้านความมั่นคงแห่งการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาค" เขากล่าว
จีนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอิหร่าน ทั้งด้านการทูต, การค้าและพลังงาน แต่ปักกิ่งก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับซาอุดีอาระเบีย คู่อริในภูมิภาคของอิหร่านเช่นกัน นั่นหมายความว่านานมาแล้วที่พวกเขาต้องก้าวย่างอย่างระมัดระวังอยู่บนเส้นบางๆระหว่างสองฝ่าย
มีความเป็นไปได้ว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน จะเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียในปีหน้า ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมซัมมิตจี 20 ประจำปี 2020