xs
xsm
sm
md
lg

'ปูติน'โว ครั้งแรกกองทัพรัสเซียนำหน้ากองทัพสหรัฐฯเรื่องเทคโนโลยีทหาร ลั่นเป็นปท.เดียวในโลกติดตั้งอาวุธ'ไฮเปอร์โซนิก'

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


<i>ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมประจำปีกับพวกเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง ในศูนย์กลางควบคุมกลาโหมแห่งชาติ กรุงมอสโก เมื่อวันอังคาร (24 ธ.ค.)  ซึ่งเขาประกาศว่าเป็นครั้งแรกที่กองทัพรัสเซีย นำหน้ากองทัพสหรัฐฯในเรื่องเทคโนโลยีกลาโหม </i>
เอพี – ปูตินประกาศก้อง เป็นครั้งแรกที่โลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งอเมริกา ต้องไล่ตามเทคโนโลยีกลาโหมรัสเซีย ซึ่งกลายเป็นประเทศแรกที่นำอาวุธระดับ“ไฮเปอร์โซนิก” เข้าประจำการ คุยเดือนนี้กองทัพหมีขาวจะมียานร่อนที่มีพิสัยทำการไกลข้ามทวีป สามารถเดินทางในชั้นบรรยากาศที่ความเร็วเหนือเสียง 20 เท่า อีกทั้งยังหลบหลีกระบบติดตามของศัตรูได้ด้วยการเปลี่ยนเส้นทางและระดับความสูงระหว่างเดินทางไปยังเป้าหมาย

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กล่าวกับนายทหารระดับสูงของรัสเซียเมื่อวันอังคาร (24 ธ.ค.) ว่า เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่รัสเซียเป็นผู้นำของโลกในการพัฒนาอาวุธระดับใหม่ หลังจากที่เคยวิ่งไล่ตามอเมริกามาตลอด

ประมุขวังเครมลินตั้งข้อสังเกตว่า ระหว่างสงครามเย็น สหภาพโซเวียตเป็นรองอเมริกาเรื่อยมา ในเรื่องการออกแบบระเบิดปรมาณู การสร้างเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ และขีปนาวุธข้ามทวีป

“ตอนนี้ลำพังอาวุธไฮเปอร์โซนิกธรรมดายังไม่มีประเทศไหนมีเลย ไม่ต้องพูดถึงอาวุธไฮเปอร์โซนิกข้ามทวีปหรอก” ปูตินอวดอ้าง

ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมและหน่วยงานการทหารสหรัฐฯบอกว่า กำลังพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิก (ความเร็วเหนือเสียง 5 เท่าขึ้นไป) มาหลายปีแล้ว เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มาร์ก เอสเพอร์ นายใหญ่เพนตากอน แสดงความเชื่อมั่นว่า อีกไม่กี่ปีอเมริกาจะมีอาวุธไฮเทคนี้เข้าประจำการ

เวลาเดียวกัน เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ก็ได้ย้ำเตือนรัฐสภาเกี่ยวกับขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกที่รัสเซียและจีนกำลังพัฒนาซึ่งจะติดตามและสกัดยาก รวมทั้งยังกล่าวถึงการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์หลายชั้นในอวกาศเพื่อให้สามารถตรวจจับขีปนาวุธของศัตรูได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกขั้นสูง

คณะบริหารอเมริกายังมีแผนศึกษาแนวคิดในการติดตั้งระบบตรวจจับและโจมตีอาวุธของศัตรูในอวกาศตั้งแต่นาทีแรกที่ถูกปล่อยออกมาขณะที่เครื่องยนต์บูสเตอร์ยังเผาไหม้อยู่

สำหรับคำประกาศล่าสุดของปูตินคราวนี้ พันโทโรเบิร์ต คาร์เวอร์ โฆษกเพนตากอน กล่าวว่า ยังไม่มีความคิดเห็นใหม่ๆ เกี่ยวกับคำกล่าวอ้างของรัสเซีย

<i>ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน  (ซ้าย) และรัฐมนตรีกลาโหม เซย์เก ชอยกู ขณะแถลงข่าวภายหลังเข้าร่วมการประชุมประจำปีกับพวกเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง </i>
ในการกล่าวปราศรัยเมื่อวันอังคาร ปูตินยังแจกแจงว่า หน่วยแรกที่ได้รับติดตั้งยานร่อนไฮเปอร์โซนิก “อาวองการ์ด” จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ในเดือนนี้ ขณะที่ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก “คินซาล” ที่ยิงจากอากาศนั้นได้เข้าประจำการเรียบร้อยแล้ว

ผู้นำรัสเซียกล่าวถึงอาวองการ์ดและคินซาลครั้งแรกระหว่างการแถลงนโยบายแห่งชาติเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ตอนนั้นปูตินระบุว่า อาวองการ์ดมีพิสัยทำการไกลระดับข้ามทวีป และสามารถเดินทางในชั้นบรรยากาศด้วยระดับความเร็วเหนือเสียง 20 เท่า อีกทั้งยังหลบหลีกระบบติดตามของศัตรูได้ด้วยการเปลี่ยนเส้นทางและระดับความสูงระหว่างเดินทางไปยังเป้าหมาย

“นี่เป็นอาวุธแห่งอนาคตที่สามารถเจาะระบบป้องกันขีปนาวุธปัจจุบันตลอดจนที่จะพัฒนาขึ้นมาในอนาคตได้” ปูตินอวดอ้างเมื่อวันอังคาร

สำหรับคินชาลที่ติดตั้งอยู่บนเครื่องบินขับไล่มิก-31 เข้าประจำการในกองทัพอากาศรัสเซียตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยปูตินระบุว่า ขีปนาวุธรุ่นนี้บินเร็วกว่าเสียง 10 เท่า มีพิสัยกว่า 2,000 กิโลเมตร และสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์หรือหัวรบปกติได้ ขณะที่กองทัพอากาศรัสเซียสำทับว่า คินซาลสามารถโจมตีทั้งเป้าหมายบนบกและเรือรบ

เครมลินกำหนดให้การปรับปรุงกองทัพเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับต้นๆ นับจากที่รัสเซียเข้าผนวกไครเมียของยูเครนในปี 2014 และเกิดปีนเกลียวกับตะวันตกอย่างแรง

ในวันอังคารปูตินยังระบุว่า การสะสมกำลังขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในพวกชาติยุโรปตะวันออก ประชิดติดชายแดนด้านตะวันตกของรัสเซีย รวมทั้งการที่อเมริกาถอนตัวจากสนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลางปี 1987 เป็นส่วนหนึ่งของภัยคุกคามความมั่นคงสำคัญ และย้ำว่า รัสเซียจำเป็นต้องมีอาวุธดีที่สุดในโลก

เซียร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมแดนหมีขาว ขานรับว่า ปีนี้กองทัพรัสเซียได้รับมอบเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินรบรวม 143 ลำ, ยานยนต์หุ้มเกราะ 624 คัน, เรือดำน้ำ 1 ลำ และเรือผิวน้ำ 8 ลำ และเสริมว่า จะดำเนินการปรับปรุงคลังสรรพาวุธของรัสเซียอย่างรวดเร็วเช่นนี้ต่อไปอีกในปีหน้า ด้วยการประจำการขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) 22 ลูก, เครื่องบินรบใหม่ 106 ลำ, ยานยนต์หุ้มเกราะ 565 คัน, เรือดำน้ำ 3 ลำ และเรือผิวน้ำ 14 ลำ

ปูตินสำทับว่า การพัฒนาอาวุธอื่นๆ เช่น ไอซีบีเอ็มขนาดใหญ่ “ซาร์มัต”, โดรนใต้น้ำพลังนิวเคลียร์ “โพไซดอน” และจรวดร่อนพลังนิวเคลียร์ “บูเรเวสต์นิก” ก็มีความคืบหน้าตามแผนการที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม สำหรับบูเรเวสต์นิกนั้นเคยเป็นประเด็นร้อนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จากการระเบิดระหว่างทดสอบในทะเลขาว ทำให้วิศวกรนิวเคลียร์และทหารเรือรัสเซียเสียชีวิตรวม 7 คน รวมทั้งทำให้ระดับกัมมันตภาพรังสีในเมืองใกล้เคียงพุ่งขึ้นช่วงสั้นๆ ซึ่งแม้เจ้าหน้าที่รัสเซียไม่เคยระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับอาวุธชนิดใด ทว่า อเมริกาฟันธงว่า เป็นบูเรเวสต์นิก
กำลังโหลดความคิดเห็น