The fine print of US-China trade deal
By M.K. Bhadrakumar
15/12/2019
ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน เฟส 1 ซึ่งทั้งสองฝ่ายแถลงเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเพียง “ส่วนล่วงหน้า” ของการเจรจาที่คาดได้ว่าจะยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีก กระนั้น การที่ทั้งสองประเทศดูเหมือนต่างแสดงให้เห็นถึงการคำนึงผลในทางปฏิบัติ ก็นับว่าเป็นสัญญาณในทางบวก
เงื่อนไขต่างๆ ในเฟส 1 ของดีลการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ซึ่งทั้งสองฝ่ายประกาศออกมาว่าตกลงกันได้ (เมื่อวันศุกร์ที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา) [1] ได้รับการจับตามองอย่างกว้างขวางว่า สาระสำคัญคือการที่วอชิงตันจะลดภาษีศุลกากรบางส่วนซึ่งเรียกเก็บเพิ่มจากสินค้าจีนลงมา เวลาเดียวกันปักกิ่งก็จะเพิ่มการซื้อพวกสินค้าเกษตร, พลังงาน, และสินค้าอุตสาหกรรมของอเมริกัน รวมทั้งจะแก้ไขคลี่คลายข้อร้องเรียนบางอย่างบางประการของสหรัฐฯเกี่ยวกับการปฏิบัติในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา
พลเมืองชาวเน็ตจีนแสดงความไม่พอใจกันว่า ครั้งนี้ปักกิ่งยินยอมอ่อนข้อจนเกินไปมาก ขณะที่การบอกกล่าวเล่าเรื่องอย่างเป็นทางการของปักกิ่งออกมาในลักษณะที่ว่า นี่เป็นข้อตกลงซึ่งอิงอยู่กับ “หลักการแห่งความเสมอภาคเท่าเทียมกันและการเคารพซึ่งกันและกัน” รวมทั้งยืนยันว่า ข้อตกลงนี้ “โดยภาพรวมแล้วอยู่ในแนวทางเดียวกันกับทิศทางใหญ่ของจีนที่กำลังดำเนินการปฏิรูปและการเปิดกว้างอย่างลงลึกมากขึ้น รวมทั้งตอบสนองความจำเป็นภายในต่างๆ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพสูงสามารถดำเนินก้าวคืบหน้าต่อไปอีก” ตลอดจนจะช่วยให้ประเทศทั้งสองสามารถส่งเสริมเพิ่มพูนความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจและการค้า, มีการบริหารจัดการ การควบคุม และการแก้ไขคลี่คลายความแตกต่างทั้งหลายอย่างมีประสิทธิภาพ, และกระตุ้นส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าทวิภาคีให้ดำเนินไปได้อย่างมั่นคงสม่ำเสมอ” [2]
ยังมีการอ้างอิงคำกล่าวของ หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐ (state councilor ในระบบของจีนถือว่าตำแหน่งนี้เทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรี -ผู้แปล) และรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ที่บอกว่าข้อตกลงการค้าคราวนี้ “ทำหน้าที่เป็นข่าวสารซึ่งสร้างความมั่นใจและความหวังเกี่ยวกับอนาคต ให้แก่ทั้งสองประเทศ และก็ให้แก่ประเทศอื่นๆ ของโลกด้วย” [3]
ในส่วนของฝ่ายอเมริกัน สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้กำลังถูกนำไปพัวพันยุ่งเหยิงกับการเมืองภายในประเทศ โดยพวกผู้คอยกล่าวร้ายใส่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับเรื่องราวความสำเร็จใดๆ ทั้งสิ้นของเขา ขณะเดียวกัน ตัวทรัมป์เองก็จะพยายามโหมประโคมป่าวร้องเกี่ยวกับ เฟส 1 ของดีลการค้านี้ ในแง่มุมที่ว่า มันเป็นการที่วอชิงตันสามารถแคะคุ้ยเจาะแซะจนปักกิ่งยินยอมโอนอ่อนที่จะซื้อผลิตภัณฑ์การเกษตรอเมริกันอย่างมโหฬารมูลค่าสูงถึง 50,000 ล้านดอลลาร์
ไม่ต้องสงสัยเลย ก็อย่างที่หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (South China Morning Post) แสดงความเห็นเอาไว้ในบทบรรณาธิการว่า “เมื่อเหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 ปีก็จะถึงการชิงชัยเพื่อให้ตัวเขาได้รับเลือกตั้งกลับมาอีกสมัย ทรัมป์จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแสดงอะไรออกมาบ้างสำหรับการพูดจาอย่างขึงขังเกี่ยวกับการค้าซึ่งเขากระทำมาทั้งหมด เวลาเดียวกันฝ่ายจีนก็จำเป็นต้องได้รับการผ่อนคลายบรรเทาบ้างจากมาตรการภาษีศุลกากรซึ่งกำลังลงโทษการส่งออกของตน และไม่ได้ทำให้แดนมังกรทำงานได้สบายขึ้นเลยในการประคับประคองพยุงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้” [4]
สำหรับรายละเอียดของข้อตกลงนี้ ตามที่เผยแพร่ออกมาโดยวอชิงตันและปักกิ่ง สรุปได้ดังนี้
ประการแรก สหรัฐฯตกลงระงับแผนการของตนที่จะเก็บภาษีศุลกากรในอัตราสูงขึ้นอีก 15% จากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของจีนรวมมูลค่า 160,000 ล้านดอลลาร์ เป็นต้นว่า พวกโทรศัพท์มือถือ, คอมพิวเตอร์แล็ปท็อป, ของเล่น, และเสื้อผ้า ซึ่งกำหนดจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม เวลาเดียวกันปักกิ่งก็จะยกเลิกมาตรการตอบโต้ที่เป็นการขึ้นภาษีศุลกากรเอากับสินค้าอเมริกัน
ประการที่ 2 สำหรับรายการสินค้าจีนรวมมูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์ที่สหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีศุลกากรในอัตรา 15% มาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนั้น วอชิงตันจะลดภาษีลงมาให้ครึ่งหนึ่งนั่นคือเหลือ 7.5% แต่สำหรับรายการสินค้าจีนมูลค่า 250.000 ล้านดอลลาร์ที่ถูกเก็บภาษีศุลกากรเพิ่ม 25% นั้นจะยังคงเป็นไปตามเดิม
ประการที่ 3 จีนตกลงที่จะเพิ่มการซื้อผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของฝ่ายอเมริกัน เป็นมูลค่าอย่างน้อยที่สุด 200,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า โดยครอบคลุมทั้งพวกสินค้าอุตสาหกรรมการผลิต, สินค้าเกษตร, พลังงาน, และบริการต่างๆ ซึ่งจะส่งผลเป็นการลดการเสียเปรียบดุลการค้าของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับ 419,000 ล้านดอลลาร์
ประการที่ 4 ทรัมป์นั้นเรียกร้องต้องการอย่างถูกเวลาเหมาะเหม็ง ให้จีนซื้อสินค้าเกษตรอเมริกันเป็นมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี โดยที่ปักกิ่งตอบสนองด้วยการตกลงจะซื้อเพิ่มขึ้น 32,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 2 ปีข้างหน้า ซึ่งทำให้เฉลี่ยแล้วจะซื้อปีละประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์ พร้อมกับรับประกันว่าจะพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อซื้อเพิ่มขึ้นอีก 5,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี
ประการที่ 5 เกี่ยวกับเรื่องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา จีนให้คำมั่นสัญญาที่จะลดพวกกำแพงกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร (non-tariff barriers) นอกจากนั้นปักกิ่งยังตกลงที่จะปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อคำมั่นสัญญาซึ่งได้ให้ไว้ก่อนหน้านี้ ที่ว่าจะขจัดเรื่องการบีบคั้นพวกบริษัทต่างประเทศให้ต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีแก่กิจการของจีน ทั้งนี้บริษัทต่างชาติพากันโอดครวญว่า พวกตนถูกบีบคั้นให้ต้องทำตามเงื่อนไขเรื่องนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้เข้าถึงตลาดจีน, ได้รับใบอนุญาต, หรือได้รับการอนุมัติทางการบริหาร ในอีกด้านหนึ่ง ครั้งนี้จีนยังให้สัญญาจะงดเว้นการให้ความอุปถัมภ์แก่การลงทุนในต่างประเทศ ชนิดที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้ครอบครองเทคโนโลยีต่างประเทศ
ประการที่ 6 ในเรื่องที่สหรัฐฯกล่าวหาจีนว่า “ปั่นค่าเงินตรา” ปักกิ่งเน้นย้ำคำมั่นสัญญาที่เคยได้แถลงเอาไว้แล้วในอดีต ที่ว่าจีนจะงดเว้นไม่ลดค่าเงินตราของตนเพื่อประโยชน์ในการแข่งขัน และจะไม่อาศัยอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้เปรียบในทางการค้า ข้อตกลงครั้งนี้ยังจะให้มีกลไกซึ่งเปิดทางให้สหรัฐฯสามารถขึ้นภาษีศุลกากรได้ในกรณีที่ฝ่ายจีนมีการละเมิดคำมั่นสัญญาเรื่องนี้ (กลไกนี้ใช้โมเดลตามรูปแบบที่มีอยู่ในข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผล)
ประการที่ 7 ปักกิ่งตกลงยกเลิกพวกกำแพงกีดกันการลงทุนในภาคการเงินของตน รวมทั้งเรื่องข้อจำกัดเกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้นของต่างประเทศ ตลอดจนเปิดทางให้พวกบริษัทอเมริกันสามารถเข้าถึงตลาดบริการทางการเงินของฝ่ายจีนได้ดีขึ้น ทั้งในด้านการธนาคาร, การประกันภัย, หลักทรัพย์, และบริการเครดิตเรตติ้ง
ประการที่ 8 จะให้มีการดำเนินการในด้านการบังคับใช้ขึ้นมา โดยที่จะเป็นกลไกแบบมีหลายชั้น ทั้งนี้เพื่อคอยเฝ้าติดตามว่ามีการปฏิบัติตามข้อตกลง และการแก้ไขคลี่คลายเมื่อเกิดมีความแตกต่างไม่ลงรอยขึ้นมา
มองกันอย่างกว้างๆ แล้ว นี่ก็คือ จีนจะแก้ไขคลี่คลายเรื่องที่สหรัฐฯขาดดุลการค้า ด้วยการเพิ่มพูนการนำเข้าจากสหรัฐฯ ขณะเดียวกันก็เปิดให้พวกกิจการสหรัฐฯสามารถเข้าถึงตลาดแดนมังกรได้อย่างกว้างขวางขึ้นกว่าเดิมมาก
อันที่จริงแล้ว การยินยอมผ่อนปรนเช่นนี้ของฝ่ายจีน ตรงไหนแค่ไหนเป็นผลจากการบีบคั้นกดดันของสหรัฐฯ และ/หรือ ตรงไหนแค่ไหนเป็นผลจากการจัดลำดับความสำคัญในเรื่องการปฏิรูปและการเปิดกว้างของจีนเอง นับเป็นสิ่งซึ่งยากลำบากแก่การจำแนกแยกแยะ
ในทำนองเดียวกัน มันก็เป็นเรื่องยากลำบากที่จะตอบให้ได้ชัดเจนว่า การทะเลาะเบาะแว้งอย่างเอะอะเกรียวกราวช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายนั้น เป็นสิ่งที่คุ้มค่าหรือไม่?
กระนั้น ก่อนอื่นใดเลยน่าจะพูดได้ว่า ดูเหมือนการทำสงครามการค้าจะเป็นไอเดียที่ย่ำแย่ แล้วที่ยังคงเลวร้ายกว่านั้นอีกก็คือ ดีลคราวนี้อย่างเก่งที่สุดก็เป็นเพียงข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว ซึ่งทำให้ตัวการใหญ่ทั้งสองสามารถถอยฉากออกไปจากสนามรบพร้อมกับเกียรติศักดิ์ศรีเอาไว้อ้างอิงได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ การสงบศึกนี้จะยืนยาวไปได้แค่ไหนคงจะต้องคอยเฝ้าติดตามกันต่อไป
จุดสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ความขัดแย้งสหรัฐฯ-จีนนี้มีชั้นด้านนอกของมันหลายๆ ชั้นซึ่งเปลี่ยนแปลงและปะทุตัวขึ้นมาได้ง่ายๆ ทั้งนี้ทั้งฝ่ายรีพับลิกันและฝ่ายเดโมแครตในสหรัฐฯเวลานี้มีฉันทามติร่วมกันขึ้นมาแล้วว่า การก้าวผงาดขึ้นมาของจีนนั้นเป็นการท้าทายฐานะสูงสุดในทั่วโลกของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ไม่มีทางหลีกเลี่ยงไปเป็นอย่างอื่นได้เลย นอกจากว่าการสู้รบจะหวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยบางทีอาจจะเกิดขึ้นในไม่ช้าไม่นานนี้ด้วยซ้ำ
เวลาเดียวกัน ความพยายาม (ในอเมริกา) ที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯกับเศรษฐกิจจีน “แยกขาดจากกัน” (decoupling) ก็กำลังทำท่าคืบหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งจะต้องถึงจุดที่ไม่มีทางหวนกลับ [5] ทรัมป์นั้นได้เริ่มต้นการรณรงค์เพื่อกีดกันจีนให้แยกขาดออกจากโนวฮาวตะวันตก ขึ้นมาแล้ว และจีนก็กำลังเริ่มต้นแสดงปฏิกิริยาตอบโต้
มีรายงานว่า หัวเว่ย มีการวางแผนเตรียมตัวรับมือกับ “การแยกขาดจากกัน” เช่นนี้มา “เป็นปีๆ” แล้ว ในอีกด้านหนึ่ง รายงานชิ้นหนึ่งในหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) สัปดาห์ที่แล้วระบุว่า ทางสำนักงานส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ออกคำสั่งฉบับหนึ่งออกมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีเนื้อหาระบุให้ถอดถอนอุปกรณ์และซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ต่างประเทศทั้งหมดออกไปจากสำนักงานต่างๆ ของรัฐบาลและสถาบันสาธารณะต่างๆ ของจีนภายในระยะเวลา 3 ปี [6]
ผู้คนกำลังเริ่มต้นพูดคุยกันเกี่ยวกับสงครามเย็นครั้งใหม่ ทว่ามันไม่มีพิมพ์เขียวใดๆ บ่งบอกชี้แนะว่าสงครามเย็นคราวนี้จะดำเนินไปอย่างไร ถ้าหากจะมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งปรากฏออกมาอย่างกระจ่างชัดแจ๋วจากข้อตกลงเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาฉบับนี้ สิ่งนั้นก็คือจีนไม่ได้ทำท่าเป็นฝ่ายถอยเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ ถึงแม้กำลังเผชิญกับทั้งเรื่องฮ่องกงและเรื่องซินเจียงอยู่ก็ตามที
จีนแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างผิดธรรมดาที่จะยืนหยัดสำแดงสถานะความเป็นมหาอำนาจยิ่งใหญ่ของตนเอง (อีกครั้งหนึ่ง) รวมทั้งกำลังเพิ่มความหนักแน่นในเรื่องนี้ขึ้นอีกจนถึงขั้นเป็นความเด็ดเดี่ยวด้วยซ้ำ เนื่องจากปักกิ่งกำลังมาถึงข้อสรุปที่ว่า แผนการเล่นของฝ่ายสหรัฐฯนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องว่าด้วยการหยุดยั้งการก้าวผงาดขึ้นมาของจีน
ในขณะไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยว่า จีนกำลังคุกคามตำแหน่งแห่งที่ของอเมริกาในการเป็นมหาอำนาจผู้มีฐานะครอบงำเหนือใครๆ ในเอเชีย ตลอดจนกำลังคุกคามการประกาศอ้างของสหรัฐฯในการเป็นผู้นำของระเบียบโลกในปัจจุบัน แต่น่าสังเกตว่าจีนกลับไม่ได้ทำท่าว่ากำลังปฏิบัติตามอุดมการณ์แบบนักสากลนิยม (universalist ideology) ใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่อดีตสหภาพโซเวียตเคยแสดงออกชัดเจนว่ายึดถืออยู่ รวมทั้งสหรัฐฯก็ไม่สามารถที่จะอธิบายให้เป็นที่น่ามั่นใจน่าเชื่อถือได้ว่า ทำไมการปิดล้อมจีนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ชาติอื่นๆ ควรจะต้องเข้าร่วม หรือว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายของการเข้าร่วมนี้ตลอดจนความเสี่ยงที่อาจจะเกิดสงครามความขัดแงทางทหารขึ้นมานั้น เป็นสิ่งที่คุ้มค่าคุ้มราคา
ข้อตกลงการค้าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กลับเป็นการยืนยันอีกคำรบหนึ่งว่า สงครามเย็นครั้งใหม่กับจีน ถ้าหากว่ามันจะเกิดขึ้นมาจริงๆ แล้ว ดูเหมือนว่ามันจะถูกลิขิตให้แสดงตัวออกมาโดยหลักๆ ในฐานะที่เป็นการต่อสู้ชิงชัยกันระดับทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯกับจีน ทั้งนี้ตราบเท่าที่การหว่านมนตร์เสน่ห์ทางเศรษฐกิจเชิงรุกของจีนยังอยู่ในลักษณะของจิตวิญญาณแห่ง “การชนะด้วยกันทุกฝ่าย” (‘win-win’ spirit) และความทะเยอทะยานของจีนก็ไม่ได้มีรูปโฉมในทางการทหารอย่างโจ่งแจ้งเปิดเผย ด้วยเหตุฉะนี้ มันจึงยังยากจะเป็นไปได้ที่พวกประเทศอาเชีย โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน จะเกิดความกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมในสงครามศักดิ์สิทธิ์แห่งการแยกขาดจากจีน ของฝ่ายวอชิงตัน
เชิงอรรถ
[1]https://uk.reuters.com/article/uk-usa-trade-china/u-s-china-trade-deal-cuts-tariffs-for-beijing-promise-of-big-farm-purchases-idUKKBN1YH1S7
[2]http://www.xinhuanet.com/english/2019-12/13/c_138629377.htm
[3]http://www.xinhuanet.com/english/2019-12/15/c_138632568.htm
[4]https://www.scmp.com/print/comment/opinion/article/3042134/pragmatism-both-sides-positive-sign-trade-war
[5]https://www.eastasiaforum.org/2019/12/15/deconstructing-us-china-decoupling/
[6]https://www.theguardian.com/world/2019/dec/09/china-tells-government-offices-to-remove-all-foreign-computer-equipment
(เก็บความจากเว็บไซต์ indianpunchline ของ เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://indianpunchline.com/the-fine-print-of-us-china-trade-deal/)
เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี โดยที่ราวครึ่งหนึ่งได้รับมอบหมายให้ไปประจำยังประเทศที่เคยเป็นดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียต ตลอดจนไปอยู่ที่ปากีสถาน, อิหร่าน, และอัฟกานิสถาน ประเทศอื่นๆ ที่เขาเคยไปรับตำแหน่งยังมีเกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, และตุรกี ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในเว็บไซต์ “อินเดียน พันช์ไลน์” (https://indianpunchline.com) ของเขา หลักๆ แล้วเขียนถึงนโยบายการต่างประเทศของอินเดีย และกิจการของตะวันออกกลาง, ยูเรเชีย, เอเชียกลาง, เอเชียใต้, และเอเชีย-แปซิฟิก