xs
xsm
sm
md
lg

โบรกเกอร์ให้บทบาทนักลงทุนสถาบัน พระเอกดันตลาดหุ้นโค้งสุดท้ายปี 62

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โบรกเกอร์ ชูนักลงทุนสถาบัน เป็นพระเอกขับเคลื่อนตลาดหุ้นช่วงท้ายปี โดยเฉพาะแรงซื้อ LTF ปีสุดท้าย เปิดสถิติ 5 ปีหลัง ครึ่งหลังเดือน ธ.ค. สถาบัน ฯ ซื้อสุทธิหุ้นไทยเฉลี่ย 1.4 หมื่นล้านบาท และซื้อสุทธิทุกปี แม้แรงขายต่างชาติเริ่มลด หลังเข้าเทศกาลหยุดยาว เชื่อมีโอกาสสูงที่จะเกิด Window Dressing พร้อมแนะนำ 3 หุ้นเด่น ที่มักถูกไล่ราคาในช่วงโค้งสุดท้ายของปี คือ LH, CPF และ PTT เป็นหุ้น Top Picks

เริ่มต้นเดือนธันวาคม เดือนสุดท้ายของปี 2562 นี้ พบว่านักลงทุนต่างชาติยังคงมีตัวเลขยอดขายสุทธิ โดยนับตั้งแต่ต้นเดือนถึงล่าสุดวันที่ 19 ธันวาคม 2562 มียอดขายสุทธิประมาณ 1.88 หมื่นล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันมียอดซื้อสุทธิ ในช่วงเดียวกัน ประมาณ 1.26 หมื่นล้านบาท


บล. เอเซียพลัส ระบุว่า หากพิจารณาเฉพาะประเทศไทยจะเห็นได้ว่า ต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง แล้วไปพักเงินในตราสารหนี้ไทยกว่า 1.6 หมื่นล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน สะท้อนว่านักลงทุนต่างชาติยังมีความกังวลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นไทยยังมีแรงพยุงจากเม็ดเงินของสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท (mtd)

อย่างไรก็ดีหากพิจารณาแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันฯในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของปี (16 ธ.ค.-31 ธ.ค.) พบว่า ในช่วง 5 ปีหลังสุด มีการเร่งซื้อหุ้นไทยจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันฯ อย่างเห็นได้ชัด โดยซื้อสุทธิทุกปี มีมูลค่าเฉลี่ยสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท ถึงแม้ว่านักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนอื่นๆ จะเป็นผู้ขายสุทธิทั้งสิ้นก็ตาม

" แรงซื้อของสถาบันในประเทศที่กระจุกช่วงท้ายปีในปริมาณมาก มักจะช่วยหนุนให้ SET Index ปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของปีเสมอ ยกเว้นปี 2561 ที่ SET Index ถูกกดดันจากประเด็นสงครามการค้าจีนกับสหรัฐ ปรับตัวลงแรง 2.83% แต่ภาพรวมยังให้ผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ย 0.23% ให้ผลตอบแทนเป็นบวก 3 ใน 5 ปี " บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ ระบุ


แนะ 3 หุ้น ธีม Window Dressing PTT- LH- CPF

ส่วนช่วงที่เหลือของปี ฝ่ายวิจัยฯ คาดว่าแรงขับเคลื่อนหลัก มาจากการซื้อ LTF ปีสุดท้าย ที่น่าจะมีเม็ดเงินมากระจุกช่วงท้ายปีในปริมาณมาก (กองทุน LTF มีสัดส่วนทรัพย์สินเกือบ 50% ของกองทุนหุ้นไทยทั้งหมดในประเทศ) และจากสถิติในอดีตย้อนหลัง 5 ปี ยังบ่งชี้ว่าช่วงครึ่งเดือนหลังของเดือน ธ.ค. สถาบันฯซื้อสุทธิหุ้นไทยเฉลี่ยสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท และเป็นการซื้อสุทธิทุกปี บวกกับแรงขายของต่างชาติน่าจะทุเลาลง เนื่องจากกำลังเข้าสู่เทศกาลหยุดยาวตั้งวันคริสต์มาสถึงปีใหม่ ทำให้มีโอกาสสูงที่จะเกิดการทำ Window Dressing หรือการดันราคาหุ้นของนักลงทุนสถาบันฯ เพื่อให้พอร์ตที่ลงทุนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

เอเซียพลัส ระบุว่า การให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่า ที่ถูกกล่าวถึงมากขึ้น อาจเป็นกลไกที่ทำให้ Fund Flow จากนักลงทุนต่างชาติยังไม่ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย แรงขับเคลื่อนหลักในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี จึงต้องมาจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ โดยเป็นไปได้ที่จะเห็นปรากฎการณ์ Window Dressing

ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงทำการคัดกรองค้นหาหุ้นขนาดใหญ่ (อยุ่ใน SET50) ที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว และมักจะถูกไล่ราคาในช่วงโค้งสุดท้ายของปีเสมอ คือ LH, CPF และ PTT เป็นหุ้น Top Picks ในวันนี้

PTT (FV@B56) ช่วงครึ่งหลังของเดือน ธ.ค. มักปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.7% (ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี) และมีบางปีปรับตัวขึ้นได้เกือบ 5% ขณะที่ราคาหุ้นในตอนนี้น่าจะตอบรับประเด็นคดีความโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทรน้อย-โรงไฟฟ้าพระนครไประดับหนึ่งแล้ว อีกทั้งแนวโน้มกำไรน่าจะผ่านจุดต่ำสุด และฝ่ายวิจัยคาดกำไรปกติงวด 4Q62 จะฟื้นตัวขึ้น QoQ หนุนหลักจาก PTTEP ที่คาดจะได้ในส่วนของปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นราว 5.7% qoq ขณะที่ Valuation ยังให้ผลตอบแทนรวมจูงใจ โดยมี Dividend Yield สูงกว่า 4.7% ต่อปี (จ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง) นอกจากนี้ PTT เป็นหุ้นลำดับแรกที่กองทุนนิยมถือมากที่สุด และราคายัง Laggard ราคาน้ำมันอยู่มาก (PTT เพิ่มขึ้น 2.3%mtd, ราคาน้ำมันดิบโลก 10.7% mtd)

LH (FV@B12.00) ช่วงครึ่งหลังของเดือน ธ.ค. มักปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.8% (ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี) ขณะที่จุดเด่น มาจากฐานธุรกิจที่มั่นคง แนวโน้ม กำไรงวด 4Q62 สูงสุดของปีจากการโอนฯ คอนโดฯ และขายโรงแรมเข้า LHHOTEL หนุนเงินปันผลพิเศษ คาด Div Yield กว่า 7% ต่อปี และได้อนิสงค์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ โครงการ “บ้านดีมีดาวน์”

CPF (FV@B35) ช่วงครึ่งหลังของเดือน ธ.ค. มักปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.0% (ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี) และมีบางปีปรับตัวขึ้นได้กว่า 7% มีปัจจัยบวกจากราคาสุกรปรับเพิ่มขึ้น 3.2% จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 64 บาท/กก. หนุนจากการเข้าช่วงเทศกาลวันหยุดยาว นอกจากนี้ราคาสุกรในประเทศเวียดนามยังยืนสูงต่อเนื่องที่ระดับ 7 หมื่นดอง/กก. (96 บาท/กก.) ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากปัญหาสุกรขาดแคลน เพราะโรคอหิวาต์แอฟริการะบาดหนักในเวียดนาม ส่งผลบวกต่อโดยตรงต่อ CPF (สัดส่วนรายได้จากธุรกิจสุกรในเวียดนาม 7%) ที่ฟาร์มของตัวเองไม่ได้รับกระทบ ทำให้ได้ผลบวกจากราคาสุกรที่ปรับเพิ่มขึ้นเต็มที่ตั้งแต่งวด 4Q62 เป็นต้นไป สำหรับราคาไก่ยังทรงตัวในระดับที่ดีต่อเนื่องที่ 36 บาท/กก. ฟื้นตัวจากทั้งการบริโภคในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดจีนที่เพิ่มขึ้น (นำเข้าไก่ทดแทนสุกรที่ขาดตลาด) และญี่ปุ่น (เพิ่มคำสั่งซื้อไก่ รองรับการจัดโอลิมปิกในปี 2563) ราคาหุ้นปัจจุบันมีค่า PER ปี 2563 เพียง 12.2 เท่า และสามารถคาดหวัง Div yields เฉลี่ย 3% p.a.

ค่าบาทแข็งยังกดดันตลาดโค้งท้ายปี พึ่งมาตรการรัฐหนุน

อย่างไรก็ดี เอเซียพลัส ประเมินปัจจัยแวดล้อมพบว่า ปัจจัยกดดันตลาดในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ยังคงมาจากค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าราว 6%นับตั้งแต่ต้นปี ล่าสุดอยู่ที่ 30.2 บาท/ดอลลาร์ และกดดันภาคส่งออกราว 68% ของ GDP งวด 4Q62 คาดหดตัว และผลกระทบจากการขึ้น Trade war สหรัฐ-จีนที่การจัดเก็บภาษียังมีอยู่ ทำให้ปัจจัยขับเคลื่อนยังคงมาจากภาครัฐบาลทั้ง

มาตรการการคลัง คือ กระตุ้นการบริโภคที่เริ่มตั้งแต่ เดือน ต.ค. อาทิ ชิมช็อปใช้เฟส1-3 , บ้านดีมีดาวน์ และล่าสุด รัฐจะจัดกิจกรรมส่งเสิรมการจับจ่ายใช้สอย อาทิ Shoping Paradise โดยรวมดีต่อหุ้นค้าปลีก CPALL (FV@B 100), ซึ่งเป็นการช่วยการบริโภคครัวเรือนที่ชะลอตัว จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ระดับสูง กระตุ้นการลงทุนรัฐวิสาหกิจ มีเม็ดเงินราว 1.1 แสนล้านบาท หรือราว 0.1% ของ GDP ล่าสุด คือ เดือน พ.ย. รัฐเร่งเบิกจ่ายไปแล้วราว 5.6 หมื่นล้านบาท และเดือน ธ.ค.รัฐเผยจะเบิกจ่ายอีก 5.3 หมื่นล้านบาท

มาตรการการเงิน หลังจากปีนี้ กนง.ลดดอกเบี้ยมาแล้ว 2 ครั้งๆละ 0.25% ล่าสุด อยู่ที่ 1.25% ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากทิศทางดอกเบี้ยโลกเริ่มชะลอขาลงแล้ว เห็นได้จากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ส่งสัญญาณชะลอการลดดอกเบี้ยไปตลอดปี 2563 ทำให้แรงกดดันของดอกเบี้ยโลกต่อดอกเบี้ยไทยน้อยลง

การเมืองเริ่มร้อน ปัจจัยเสี่ยงตลาดหุ้น ปี 63

ขณะที่สถานการณ์ทางการเมือง ส่งสัญญาณเริ่มความร้อนแรงขึ้นมาอย่างชัดเจน หลังการนัดรวมตัวเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ของประชาชนในพื้นที่สยามสแควร์ โดยที่มีแกนนำพรรคอนาคตใหม่เป็นผู้ขับเคลื่อน นับเป็นการนัดชุมนุมทางการเมืองนอกสภาฯ ที่มีผู้ชุมนุมมากเป็นครั้งแรกนับจาก ปี 2557 ประเมินว่าภาพรวมของสถานการณ์ทางการเมืองน่าจะมีความร้อนแรงขึ้น โดยในส่วนของการเมืองนอกสภาฯ เห็นการนัดหมายในการชุมนุมของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลต่อเนื่อง

อีกทั้งในสภา ฯ ก็มีหลายเหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตาม ในช่วงไตรมาส 1/63 ไม่ว่าจะเป็น การพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2563 ซึ่งล่าช้ามามากจากปกติที่ควรเบิกจ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 ตามด้วยการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และยังมีเรื่องของกระบวนการเริ่มต้นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ประกอบกับการที่รัฐบาลมีเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล แบบปริ่มน้ำ ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงต้นปี 2563 เป็นเรื่องที่ต้องติดตามใกล้ชิด ในฐานะปัจจัยเสี่ยงสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น โดยที่อาจทำให้เป็นเหตุปัจจัยให้ Fund Flow ยังไม่ไหลกลับเข้ามาสู่ตลาดหุ้นไทย

สหรัฐ-จีน เซ็น Phase 1 deal ต้น ม.ค.63 หนุนตลาดหุ้นโลก

นอกจากนี้ บล.เอเซียพลัส ประเมิน การบรรลุข้อตกลงการค้าเฟส 1 ระหว่างสหรัฐ และจีน ซึ่งมีรายละเอียดคือ ฝั่งสหรัฐ

1.เลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ากับจีนในรอบที่ 4.2 (รอบสุดท้าย) วงเงิน 1.6 แสนล้านเหรียญอัตราภาษี 15% (เดิมจะมีกำหนดขึ้นภาษีในวันที่ 15 ธ.ค. 2562) ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

2. ลดอัตราภาษีนำเข้าจีนในรอบที่ 4.1 วงเงิน 1.1 แสนล้านเหรียญ ลงครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้อัตราภาษีเหลือ 7.5% (เดิมเก็บ 15%) แต่การขึ้นภาษีในรอบ 1-3 วงเงินรวม 2.5 แสนล้านเหรียญ ยังคงที่ 25% ตามเดิม ฝั่งจีน จะกลับมานำเข้าสินค้าจากสหรัฐในวงเงินไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านเหรียญ ในเวลา 2 ปี และกลับมานำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ ราว 5 หมื่นล้านเหรียญ


ทั้งนี้ข้อตกลงการค้าข้างต้นจะมีผลใน 30 วันนับจากวันที่ทั้ง 2 ประเทศลงนามเซ็นสัญญาสงบศึก ซึ่งสหรัฐเผย คือ สัปดาห์แรก ม.ค. 2563คือ จะทำให้มีผล ต้นเดือน ก.พ. 2563 ส่วน Phase 2 deal คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ ภายหลังการลงนามเฟส 1 เสร็จสิ้น

กรณีสหรัฐนำเข้าจากจีนเท่าเดิม แต่ส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น 2 เท่าเป็น 2.4 แสนล้านเหรียญฯ พบว่าสหรัฐจะขาดดุลการค้ากับจีนลดลงราว 28.730% เหลือ 2.98 แสนล้านเหรียญฯ โดยรวมถือว่าปัญหาขาดดุลการค้ายังมีอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ได้ยาก

แม้สถานการณ์ปัจจุบันถูกตีความว่า Trade war ในอนาคตอาจมีข้อยุติซึ่งถือเป็น Sentiment ต่อตลาดหุ้นโลกในช่วงเวลานี้ แต่ประเด็นการขาดดุลการค้าของสหรัฐที่ยังอยู่ในระดับสูงดังกล่าว และนโยบายของพรรคของประธานาธิบดีทรัมป์ และ คู่แข่งสำคัญ คือ Democrat ที่จะมีการเลือกตั้ง 3 พ.ย.2563 ไปทิศทางเดียวกัน คือ ยังคงมีมาตรการกีดกันการค้ากับจีน แต่อาจจะไม่รุนแรงเท่า ทำให้ประเด็นเรื่องกีดกันการค้ายังมีโอกาสกดดันตลาดหุ้นโลกได้ในอนาคต




กำลังโหลดความคิดเห็น