รอยเตอร์ – นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีนกล่าวขณะประชุมหารือกับนาง แคร์รี ลัม ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกงที่กรุงปักกิ่งในวันนี้ (16 ธ.ค.) ว่า เกาะศูนย์กลางการเงินเอเชียยังไม่ผ่านพ้น “สถานการณ์ที่น่าลำบากใจ” (dilemma) เนื่องจากการประท้วงที่ยืดเยื้อและใช้ความรุนแรงส่งผลให้เศรษฐกิจฮ่องกงย่ำแย่ ขณะที่ผู้ชุมนุมฮ่องกงปะทะกับตำรวจและมีการใช้แก๊สน้ำตาอีกครั้งเมื่อช่วงกลางดึกวานนี้ (15)
“คณะผู้บริหารเขตปกครองพิเศษ (special administrative region – SAR) จะต้องใช้ความพยายามเพื่อยุติความรุนแรง ยับยั้งเหตุจลาจลตามขอบเขตของกฎหมาย และฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยให้กลับคืนมา” หลี่ ระบุ
การไปเยือนปักกิ่งตามหน้าที่ของ ลัม มีขึ้นท่ามกลางกระแสคาดเดาของสื่อมวลชนท้องถิ่นว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง อาจจะมีคำสั่งเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิกฤตการเมืองในฮ่องกง และอาจมีการสั่งปรับคณะรัฐมนตรีด้วย
ในการพบกันครั้งล่าสุดที่นครเซี่ยงไฮ้เมื่อต้นเดือน พ.ย. ประธานาธิบดี สี ยืนยันว่ายังคง “เชื่อมั่นอย่างสูง” ในตัว ลัม แม้เหตุจลาจลในฮ่องกงจะมีแนวโน้มทวีความรุนแรงก็ตาม
ผู้นำหญิงฮ่องกงยังคงปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี โดยกล่าวก่อนออกเดินทางไปปักกิ่งว่า ภารกิจแรกของเธอคือการยุติความรุนแรง ฟื้นคืนความสงบเรียบร้อย และเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสาธารณชนให้มากขึ้น
ค่ำวานนี้ (15) ตำรวจปราบจลาจลฮ่องกงยิงแก๊สน้ำตา และถือกระบองเข้าขับไล่ กลุ่มผู้ประท้วงวัยรุ่นที่สวมหน้ากากออกมาชุมนุมปิดถนนที่ย่านมงก๊ก (Mong Kok) นับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ที่เจ้าหน้าที่นำแก๊สน้ำตาออกมาใช้
ผู้ประท้วงยังได้จุดไฟและทุบทำลายสัญญาณไฟจราจร และมีผู้สื่อข่าวนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแบ็ปติสต์คนหนึ่งถูกกระสุนของตำรวจยิงเข้าที่ใบหน้าจนต้องนำส่งโรงพยาบาล
ขณะเดียวกัน ผู้ประท้วงกลุ่มย่อยๆ ก็ได้เดินขบวนเข้าไปในห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง โดยมีการปิดกั้นทางเข้าออก ทุบกระจก และป่าวร้องสโลแกน “ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ”
รัฐบาลปักกิ่งยืนกรานว่ายังคงยึดมั่นในสูตรการปกครอง “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งรับรองอำนาจปกครองตนเองขั้นสูงและเสรีภาพสำหรับชาวฮ่องกงที่มากกว่าพลเมืองจีนโดยทั่วไป
การชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อมานานถึง 7 เดือนส่งผลให้เศรษฐกิจฮ่องกงเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีเมื่อช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ขณะที่ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงก็มีจำนวนผู้โดยสารมาใช้บริการเข้า-ออกลดฮวบหนักที่สุดในรอบกว่า 1 ทศวรรษเมื่อเดือน พ.ย. ตามข้อมูลทางการซึ่งเผยแพร่ในวันอาทิตย์ (15 ธ.ค.)
คณะบริหารของ ลัม ประกาศมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจถึง 25,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 96,000 ล้านบาท) แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่าคงจะช่วยอะไรไม่ได้มากนัก ตราบใดที่การประท้วงยังไม่ยุติ
ด้านสมาคมจัดการค้าปลีกแห่งฮ่องกง (Hong Kong Retail Management Association) ระบุในเดือนนี้ว่า ห้างค้าปลีกจดทะเบียนราว 7,000 แห่งจากทั้งหมด 64,000 แห่งอาจต้องปิดกิจการภายในอีก 6 เดือนข้างหน้า หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น