เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – การประชุมซัมมิตภูมิอากาศครั้งสำคัญของปี 2019 นี้ สรุปปิดฉากลงในกรุงมาดริดวันอาทิตย์ (15 ธ.ค.) ด้วยข้อตกลงประนีประนอมซึ่งแทบไม่มีอะไรที่จะอวดได้เลย ทำให้เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตียเรส รีบออกมาแสดงความเศร้าใจกับ “โอกาสที่สูญเสียไปแล้ว” สำหรับการลงมือจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
เกือบครึ่งเดือนของการประชุมภูมิอากาศภายใต้การอุปถัมภ์ของยูเอ็นคราวนี้ ซึ่งรู้จักเรียกขานกันในชื่อว่า COP25 ปรากฏว่าบีบเค้นออกมาได้เพียงแค่การประนีประนอมจากประเทศต่างๆ ในเรื่องแผนการสู้รบกับภาวะโลกร้อน ซึ่งยังคงห่างไกลไม่เพียงพอกับระดับที่วิทยาศาสตร์ระบุว่าจำเป็นต้องไปให้ถึง หากจะรับมือกับวิกฤตการณ์อันร้ายแรงนี้
“ผมรู้สึกผิดหวังกับผลของการประชุม COP25” กูเตียเรสกล่าว “ประชาคมระหว่างประพเทศได้สูญเสียโอกาสอันสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานซึ่งเพิ่มมากขึ้นแล้วทั้งในเรื่องการบรรเทาความยากลำบาก, การปรับตัว, และการเงิน เพื่อต่อสู้รับมือกับวิกฤตการณ์ภูมิอากาศนี้”
คำประกาศสุดท้ายของการประชุมซัมมิตครั้งนี้ “แสดงออกซึ่งความจำเป็นอย่างเร่งด่วน” ที่จะต้องมีความมุ่งมั่นผูกพันในการตัดลดคาร์บอนครั้งใหม่ เพื่ออุดช่องว่างระหว่างระดับการปล่อยไอเสียในปัจจุบัน กับเป้าหมายที่ตั้งไว้ในสนธิสัญญาปารีส เพื่อที่จะจำกัดให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นในระดับต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส สเปนผู้เป็นประเทศเจ้าภาพระบุ
ขณะที่ คาโรลินา ชมิดต์ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของชิลี และประธานของ COP25 กล่าวในการปิดการประชุมเต็มคณะว่า “วันนี้ พลเมืองของโลกกำลังเรียกร้องให้พวกเราเคลื่อนไปข้างหน้าให้รวดเร็วยิ่งขึ้นและดียิ่งขึ้น”
ทว่า ตินา อีโอเนมโต สเตเจ ผู้แทนด้านภูมิอากาศของหมู่เกาะมาร์แชลล์ ได้กล่าวประณามผลที่ออกมาว่า ยังไม่เหมาะสมเพียงพอสำหรับรับมือกับภัยคุกคามความอยู่รอดของพวกประเทศเกาะ จากระดับน้ำทะเลซึ่งกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
“โชคร้าย เนื้อหาฉบับใหม่ที่เรารับรองกันไปในเช้าวันนี้ ก็ยังไม่ได้สะท้อนอะไรซึ่งใกล้เคียงกับสิ่งที่เราควรจะเรียกร้องต้องการเอาเลย มันอยู่แค่ระดับต่ำสุดเท่านั้นจริงๆ และพวกเราเสียใจที่ประเทศต่างๆ ไม่สามารถตกลงกันในเนื้อหาซึ่งทะเยอทะยานยิ่งกว่านี้” สเตเจ กล่าว
ขณะที่ เกรตา ทุนเบิร์ก เยาวชนนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเพิ่งได้รับเลือกให้เป็นบุคคลแห่งปี 2019 จากนิตยสารไทม์ ได้ขึ้นพูดตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ (13) วิพากษ์วิจารณ์พวกผู้นำโลกอย่างรุนแรงว่า “ยังคงพยายามวิ่งหนีจากความรับผิดชอบของพวกเขา” พร้อมกันนั้นเธอก็เรียกร้องให้เกิด “ปีแห่งการลงมือทำ” ในปี 2020
ภายหลัง 1 ปีแห่งสภาพอากาศสุดโต่งที่คร่าชีวิตผู้คน และการประท้วงรายสัปดาห์โดยเยาวชนจำนวนล้านๆ คณะผู้เจรจาซึ่งมาหารือกันในกรุงมาดริดคราวนี้จึงตกอยู่ใต้แรงบีบคั้นให้ส่งสัญญาณอันชัดเจนออกมาว่า รัฐบาลประเทศต่างๆ กำลังมีความปรารถนาที่จะใช้ความพยายามกันอย่างจริงจังยิ่งขึ้น
แต่แล้วซัมมิตคราวนี้ ซึ่งโยกย้ายเปลี่ยนสถานที่กันในนาทีสุดท้ายจากประเทศชิลีซึ่งเกิดสถานการณ์ความไม่สงบ กลับทำท่าโอนเอนอยู่บนขอบเหวของความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า ขณะที่พวกชาติร่ำรวยที่เป็นผู้ปล่อยมลพิษ, มหาอำนาจที่ก้าวผงาดขึ้นมาใหม่, และบรรดาชาติซึ่งเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เสาะแสวงหาพื้นที่ซึ่งอาจตกลงร่วมกันได้ ท่ามกลางการแก่งแย่งมุ่งรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ
“เมื่อดูจากเนื้อหาที่รับรองกันคราวนี้ มีความหวังอย่างริบหรี่ว่าหัวใจของข้อตกลงปารีสยังคงกำลังเต้นอยู่” โมฮาเหม็ด อาโดว์ ผู้อำนวยการของกลุ่ม “เพาเวอร์ชิฟต์” กล่าว
“ทว่าชีพจรของมันกำลังอ่อนล้าเอามากๆ”
ทั้งนี้คณะผู้เจรจาจากเกือบๆ 200 ประเทศเดินทางมายังเมืองหลวงของสเปนคราวนี้ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะได้บทสรุปสุดท้ายของกฎกติกาสำหรับการปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสปี 2015 ซึ่งชาติต่างๆ ให้คำมั่นเอาไว้ที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส