เอเอฟพี - ผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) เห็นพ้องวันนี้ (13 ธ.ค.) ให้กำหนดเป้าหมายสร้างยุโรปที่เป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) ภายในปี 2050 โดยมีโปแลนด์เพียงชาติเดียวที่ยังคงปฏิเสธ
ชาร์ลส มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป กล่าวยกย่องข้อตกลงของผู้นำอียูในการประชุมซัมมิตที่กรุงบรัสเซลส์ ซึ่งจะทำให้ยุโรปกลายเป็นผู้นำโลกในการต่อสู้ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
“เราบรรลุข้อตกลงว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มันเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับยุโรปที่จะแสดงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า” มิเชล ระบุ
อย่างไรก็ดี โปแลนด์ซึ่งยังพึ่งพาการใช้ถ่านหินเป็นหลักร้องขอเวลามากกว่านี้เพื่อปรับตัวไปสู่พลังงานสะอาด ซึ่งนักการทูตระบุว่าอาจจะถึงปี 2070 ขณะที่บางประเทศ เช่น สาธารณรัฐเช็ก พยายามผลักดันการใช้พลังงานนิวเคลียร์
“คณะมนตรียุโรปรับรองเป้าหมายในการสร้างอียูที่เป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของข้อตกลงปารีส” ผู้นำอียูระบุในแถลงการณ์ร่วม และเพื่อป้องกันซัมมิตล่มจากคำปฏิเสธของโปแลนด์ ผู้นำอียูจึงได้กำหนดเงื่อนไขทางออกชั่วคราวสำหรับวอร์ซอ
“หนึ่งในรัฐสมาชิกของเรายังไม่อาจให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามเป้าหมายได้ และคณะมนตรียุโรปจะกลับมาพิจารณาประเด็นนี้อีกครั้งในเดือน มิ.ย. ปี 2020”
อูร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปคนใหม่ ได้เปิดตัว “ข้อตกลงยุโรปสีเขียว” (European Green Deal) เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (11) ซึ่งรวมถึงแผนระดมเงินทุน 100,000 ล้านยูโรเพื่อช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน แต่ก็ยังมีเสียงวิจารณ์จากกลุ่มชาติยุโรปตะวันออกว่าวงเงินเท่านี้ไม่เพียงพอ
นายกรัฐมนตรี อันเดรจ บาบิส ผู้นำสาธารณรัฐเช็ก ชี้ว่า แค่ประเทศของเขาเพียงชาติเดียวก็จำเป็นต้องใช้เงินทุนระหว่าง 30,000-40,000 ล้านยูโรเพื่อบรรลุเป้าหมายสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน
ด้านประธานาธิบดี กีตานาส เนาเซดา แห่งลิทัวเนีย ประเมินว่า มาตรการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานจะต้องใช้งบประมาณถึง 2 ใน 3 ของ GDP ทั้งประเทศ
ผู้นำฮังการีและสาธารณรัฐเช็กยังเรียกร้องให้ที่ประชุมซัมมิตอียูระบุในแถลงการณ์ร่วมอย่างชัดเจนว่า พลังงานนิวเคลียร์ “จะมีบทบาทสำคัญในการทำให้ยุโรปบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศ” ทว่าร่างแถลงการณ์ฉบับสุดท้ายกลับไม่มีข้อความดังกล่าว โดยกล่าวแต่เพียงว่าบางประเทศ “ใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพลังงานแบบผสมผสาน”
ประธานาธิบดี เอมมานูแอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศสซึ่งใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้ากว่า 2 ใน 3 ของประเทศ เห็นด้วยกับข้อเสนอของสาธารณรัฐเช็ก และชี้ว่าคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ก็ยอมรับว่าพลังงานนิวเคลียร์ควรมีบทบาทในการช่วยลดโลกร้อน
“สำหรับประเทศที่จำเป็นต้องเลิกใช้ถ่านหิน แน่นอนว่าพวกเขาไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนได้ภายในชั่วข้ามคืน” มาครง กล่าว
ข้อเสนอนี้ยังได้รับเสียงเชียร์จากนายกรัฐมนตรี วิกเตอร์ ออร์บาน แห่งฮังการี ซึ่งย้ำชัดว่า “หากไม่มีพลังงานนิวเคลียร์ ยุโรปก็ไม่อาจสร้างเศรษฐกิจที่เป็นกลางทางคาร์บอนได้”
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ซาเวียร์ เบทเทล แห่งลักเซมเบิร์ก ออกมาค้านแนวคิดดังกล่าว และประกาศจะไม่ยอมให้อียูนำเงินไปสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
“เราเชื่อว่าพลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่พลังงานที่ยั่งยืนและปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเสีย ซึ่งเรายังไม่รู้เลยว่าจะจัดการอย่างไร” เขากล่าว